ทวี สุรฤทธิกุล

สิ้นปีนี้แล้วขึ้นปีใหม่ ขอเสนียดจัญไรจงสูญสิ้น

ฟื้นฟูชูคุณธรรมแผ่นดิน ระบอบทักษิณจงพินาศปลาศเทอญฯ

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยมีความหวังว่า นโยบายเงินผันจะสามารถสร้าง “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” ให้เกิดขึ้นได้ในประเทศไทย ด้วยโครงการนี้เริ่มต้นจากให้คนในชุมชนท้องถิ่นร่วมกันคิดร่วมกันทำ ตลอดจนร่วมกันบริหารงบประมาณที่รัฐบาลจัดส่งไปให้โดยตรง ไม่ผ่านข้าราชการหรือคนกลาง ชาวบ้านตรวจสอบและควบคุมกันเอง ด้วยการปรึกษาหารือของสภาตำบล อันเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นที่รัฐบาลใน พ.ศ. 2518 ฟื้นฟูขึ้น เพื่อการเริ่มต้น “ฝึกฝน” กระบวนการของประชาธิปไตย แม้จะมีหลายคนโจมตีว่ามีการทุจริตคอรัปชั่นมากมาย  ถึงขั้นมีคนเรียกโครงการนี้ว่า “เงินผลาญ” แต่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ย้อนตอบว่า นี่คือครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่คนไทยได้ “โกงกิน” เงินของพวกเขาเอง เปรียบได้กับน้ำที่รั่วไหลอยู่ในเรือกสวนไร่นาของพวกเขา มันก็เปียกรดชุ่มฉ่ำข้าวกล้าพืชผัก อยู่บนผืนดินที่พวกเขาเป็นเจ้าของนั้น

ใน พ.ศ. 2544 นายทักษิณ ชินวัตร นำพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งได้เสียงข้างมากและได้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศนโยบายเรื่องหนึ่งคือ “กองทุนหมู่บ้าน” โดยโยนเงินก้อนใหญ่ลงไปในแต่ละชุมชน ให้คนในพื้นที่บริหารกันเอง โดยรัฐบาลออกกฎระเบียบให้การใช้จ่ายมีความรัดกุมและเป็นระบบ แล้วพอปีต่อ ๆ ไปก็เพิ่มเงินเข้าไปในกองทุนของแต่ละชุมชน เป็นโครงการที่ประชาชนชื่นชอบมาก (ความจริงนโยบายที่ผู้คนชื่นชอบมากกว่าและส่งผลต่อความนิยมแก่พรรคไทยรักไทยอย่างสูงสุด ก็คือนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค แต่มีผลต่อการสร้างจิตสำนึกแบบประชาธิปไตยไม่มาก) โดยได้ส่งผลให้การเลือกตั้งใน พ.ศ. 2548 พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ที่ว่ากันว่าทำให้ “ระบอบทักษิณ” ฝังรากขึ้นในสังคมไทยตั้งแต่ตอนนั้น

อาจารย์อเนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นคนหนึ่งที่ติดตามนโยบายต่าง ๆ ของพรรคไทยรักไทย รวมถึงการต่อสู้ทางการเมืองของพรรคการเมืองและนักการเมืองทั้งหลายในช่วงเวลานั้น ท่านได้สังเคราะห์เป็นชุดแนวความคิดที่โด่งดังขึ้นชุดหนึ่ง ในหนังสือที่ท่านเขียนชื่อ “สองนคราประชาธิปไตย” ที่อธิบายการเมืองไทยในยุคใหม่นี้ว่า คนไทยในชนบทคือพลังที่สำคัญในการเลือกสรรรัฐบาลผ่านกระบวนการเลือกตั้ง แต่คนไทยในเมืองกลับเป็นพลังหลักในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลผ่านการประท้วงขับไล่ อันเป็นที่มาของคำว่า “สองนครา” คือคนไทยในพื้นที่ที่มีความเจริญต่างกัน ๒ กลุ่ม คือคนในเมืองกับคนในชนบท แต่มีพฤติกรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน

ในฐานะที่ผู้เขียนก็เป็นนักรัฐศาสตร์ด้วยเช่นกัน ก็มองว่านี่แหละคือ “เงินผันเอฟเฟกต์” ต่อเนื่องมาถึง “ทักษิณซีนโดรม” โดยเคยได้ยินท่านอาจารย์คึกฤทธิ์พูดว่า เงินผันนี้แหละจะเป็นพลังมหาศาลในการขับเคลื่อนประชาธิปไตย คนในชนบทและคนยากจนจะมีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งมากขึ้น เพราะรัฐบาลจะต้องมาเอาใจใส่พวกเขามากขึ้นแบบที่เรียกว่า “เห็นหัวประชาชน” ซึ่งคนไทยในอดีตไม่เคยได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพนับถือแบบนี้มาก่อน ดังนั้นเมื่อนายทักษิณมาเอาใจคนในชนบทและคนยากจนด้วยนโยบายประชานิยมทั้งหลาย คนไทยเหล่านี้ก็ “มีหน้ามีตา” ได้รับการยอมรับ หรือ “เห็นหัว” ขึ้นมาทันที

คะแนนเสียงในการเลือกตั้งที่คนในชนบทและคนระดับล่างมอบให้กับพรรคไทยรักไทย ต่อเนื่องมาจนถึงพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน อย่างมากมายมหาศาล โดยไม่มีทีท่าว่าจะลดจำนวนลง รวมถึง “ความลุ่มหลง” ของผู้คนเหล่านี้ต่อนายทักษิณและพรรคการเมืองของเขา อย่างไม่ลืมหูลืมตา จนกระทั่งเกิดเป็น “กระบวนการคนเสื้อแดง” และ “ด้อมทักษิณ” ย่อมบ่งชี้ว่า คนไทยจำนวนมากยังสนใจแต่เรื่องปากท้องและ “ให้ความสำคัญกับตัวเอง” โดยไม่ได้คำนึงว่าผู้นำที่เอาเงินมาให้พวกเขาจะชั่วช้าเลวทราม หรือเอาเงินจำนวนมากมาให้พวกเขาได้อย่างไร แม้จะโกงกินหรือทุจริตหาเอามาก็ตาม

นี่ก็คือ “โรคร้าย” ที่เรียกว่า “ทักษิณซีนโดรม” อันเป็นที่มาของ “ระบอบชั่ว - ระบอบทักษิณ”

คนที่ติดตามการเมืองไทยมาอย่างเข้มข้น อาจจะพอมองเห็นว่าในยุคก่อน ผู้คนจะนิยมหรือเลือกนักการเมืองแบบที่เรียกว่า “ดี - เด่น - ดัง” เราจึงเห็นคนที่อยากเป็นนักการเมืองหรือเมื่อมาเป็นนักการเมืองแล้ว ก็ต้องพยายามทำตัวให้ “ดี เด่น และดัง” นั้นอยู่เสมอ โดยไม่เลือกว่าจะต้อง ดี เด่น ดัง ด้วยวิธีใด แต่พอมาถึงยุคที่การเมืองไทยปกครองด้วยระบอบทักษิณ คนไทยจำนวนหนึ่งก็ปรับเปลี่ยนทัศนคติในการมองนักการเมืองไปเป็นว่า ที่สุดของนักการเมืองแล้วจะต้องเป็นแบบนายทักษิณ คือ “เก่ง - กร่าง – กักข..” แบบที่ว่าเก่งอย่างเดียวไม่พอ จะต้องใหญ่ “คับฟ้า” และแสดงสันดานดิบต่าง ๆ ได้อย่างไม่รู้สึกอับอายอะไร อย่างที่นายทักษิณได้แสดงออกต่อสาธารณะอยู่บ่อยครั้ง

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกทัศนคติหนึ่งที่กำลังจะกลายเป็นกระแสสำนึกที่น่ากลัวไม่น้อยกว่า “กระแสคลั่งทักษิณ” นั่นก็คือ “กระแสส้ม” ที่ตอนแรกเกิดขึ้นเมื่อเพื่อต่อต้านระบอบทหารโดยตรง ดังจะเห็นได้จากการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยกลุ่มเยาวชนและนักเคลื่อนไหวหลากหลายกลุ่ม รวมถึงการโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2562 ก็ได้กลายเป็นพรรคอนาคตใหม่ สืบเนื่องมาถึงปี 2566 ก็มาเป็นพรรคก้าวไกล และเมื่อถูกยุบก็มาเป็นพรรคประชาชนอยู่ในขณะนี้

ผู้เขียนเคยวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่พวกนี้ไว้ว่า ในอนาคตพวกเขาจะขึ้นมาเป็น “คนส่วนใหญ่” ซึ่งนั่นก็หมายถึงผู้เลือกตั้งที่จะทำให้ได้มาซึ่ง “เสียงข้างมาก” ในการปกครองประเทศ ดังนี้ ถ้าคนรุ่นปัจจุบันที่กำลังมีอำนาจอยู่ในสถาบันต่าง ๆ ในทุกวันนี้ คิดแต่จะต่อสู้กับคนรุ่นใหม่เหล่านี้ก็คงจะลำบาก เพราะถ้าเอาจำนวนมาสู้กัน ในอนาคตคนรุ่นปัจจุบันก็จะลดจำนวนลงเรื่อย ๆ ในขณะที่คนรุ่นใหม่(ที่กำลังถูกหล่อหลอมด้วย “สำนึกใหม่”)ก็มีแต่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น ๆ หรือถ้าคิดแต่จะเปลี่ยนทัศนคติ หรือสร้างสำนึกของคนรุ่นใหม่ให้เป็นเหมือนกับตนเอง(ซึ่งคนรุ่นใหม่รังเกียจ) ก็ไม่น่าจะสำเร็จได้ด้วยดีเช่นกัน

ทางรอดของประเทศไทยจึงไม่ใช่เพียงแค่ “สร้างสำนึกใหม่” แต่ยังต้อง “ปรับสำนึกเก่า” นั้นเข้าหากัน ซึ่งในความเป็นจริงที่เป็นมาในประวัติศาสตร์ทางการเมืองการปกครองของประเทศไทย เราก็เคยทำสำเร็จมาแล้วหลายครั้ง แต่จะเอาไว้ว่ากันในตอนต่อ ๆ ไป เพื่อฉลองปีใหม่ 2568 ให้มีความสุข ทุกท่านจะได้มีความหวังที่จะอาศัยอยู่ในประเทศนี้ได้อย่างมีความสุขต่อไป

ปราชญ์ท่านหนึ่งกล่าวไว้น่าคิดนัก “เรามิอาจปรับแก้โลกข้างนอกให้เข้ากับตัวเราได้ทุกเรื่อง แต่เราอาจปรับแก้ตัวเราให้เข้ากับโลกข้างนอกนั้นได้โดยง่าย”