ธรรมเนียมเมื่อถึงวาระปีใหม่ เป็นโอกาสที่จะได้ส่งความปรารถนาดี อำนวยอวยพรกัน โดยเฉพาะคุณผู้อ่านสยามรัฐ ขอให้ประสบแต่ความโชคดี มีความมั่นคงทางกายและทางใจ  สมบูรณ์พูนสุข จึงจะขอหยิบยกเอาคติธรรม จากพระธรรมเทศนาพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) มาถ่ายทอดให้คุณผู้อ่าน ในช่วงวาระปีใหม่ นำเสนอเป็นตอนๆ ดังนี้

“ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษปรารภเหตุ เนื่องด้วยการที่วันนี้เป็นวันที่สมมติกำหนดเป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังที่ท่านทั้งหลายได้ทราบกันอยู่เป็นอย่างดีทุกคนแล้ว ธรรมเทศนาในโอกาสเช่นนี้จึงไม่มีอะไรเหมาะสมดีไปกว่า การที่จะตักเตือนซึ่งกันและกันให้ระลึก ให้ระลึกนึกถึงความหมายอันสำคัญของคำว่าปีใหม่หรือคำว่าของใหม่นั่นเอง และก็เป็นการตักเตือนกันเพื่อความไม่ประมาทยิ่งยิ่งขึ้นไปนั่นเอง               

สำหรับคำว่าปีใหม่หรือของใหม่หรือความใหม่หรืออะไรทำนองนี้นั่นก็เป็นคำพูดที่มนุษย์พูดๆ กันอยู่ และตามธรรมดาคำพูดของมนุษย์ก็ย่อมจะมีความหมายเป็นสองชั้นเสมอไป อย่างที่เราเคยวินิจฉัยกันมามากแล้วว่า พูดอย่างภาษาคนก็มี พูดอย่างภาษาธรรมก็มี โดยใช้คำๆ เดียวกันนี้แต่มีความหมายเป็นสองชั้นอยู่ ถ้าใครเข้าใจแต่เพียงภาษาคนหรือภาษาธรรมดาที่ใช้พูดจากันตามธรรมดา ก็เรียกว่าคนนั้นยังรู้จักสิ่งนั้นๆ น้อยหรือจะไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำไป แต่ถ้าผู้ใดเข้าใจความหมายในทางภาษาธรรมของคำนั้นๆ แล้ว ก็เรียกว่าเข้าใจสิ่งนั้นครบถ้วนทั้งสองสถานคือเข้าใจทั้งความหมายในภาษาคนและความหมายในภาษาธรรมก็เป็นอันว่าคนนั้นเข้าใจสิ่งนั้นๆ ถูกต้อง ความแปลกประหลาดในเรื่องนี้ก็มีอยู่หน่อยหนึ่ง ก็อยากแนะให้สังเกตว่าความหมายในภาษาคนนั้นมันง่อนแง่น คลอนแคลน และมีความหมายตื้นๆ กระจัดกระจายกัน มากเรื่องมากราย หลายอย่างต่างระดับกันตามความชอบใจของคนผู้กล่าว จึงเรียกว่ามันมีมากมันเป็นเรื่องสมมุติมันจึงมีได้มาก ส่วนความหมายในทางภาษาธรรมนั้นแทบจะกล่าวได้ว่ามีเรื่องเดียวเพราะเป็นเรื่องจริงไม่ใช่เรื่องสมมุติไปตามความรู้สึกของคนที่ยังไม่รู้อะไร เรื่องที่เป็นของจริงมันจึงมีเรื่องเดียวเสมอไปดังนี้

ทีนี้เราจะได้วินิจฉัยกันดูถึงคำว่า ปีใหม่ หรือของใหม่ หรือความใหม่ หรืออะไรที่เรียกกันว่าใหม่ใหม่ โดยความหมายทั้งสองอย่างดังที่กล่าวแล้ว ความใหม่ในทางภาษาคนก็เป็นอย่างหนึ่งความใหม่ในทางภาษาธรรมก็เป็นอย่างหนึ่ง ความใหม่ในทางภาษาคนนั้น คนพูดกันไปตามความรู้สึกของคนตามธรรมดา ถ้าคนธรรมดาเป็นปุถุชนเป็นคนยังไม่รู้ คำพูดนั้นๆ มันก็เป็นคำพูดที่ไม่จริงหรือจริงน้อย  คำว่าใหม่ตามความรู้สึกของคน ก็รู้สึกเกี่ยวเนื่องกันอยู่กับเวลาคือ คนรู้สึกแบ่งแยกเวลาให้เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต และคนเหล่านั้นก็รู้จักแต่สิ่งที่แบ่งแยกเป็น อดีต ปัจจุบัน และอนาคต เขาจึงพูดไปตามความรู้สึกอย่างนั้น  คำพูดทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องภาษาคนเกี่ยวกับความใหม่ พอว่าอดีตล่วงไปของใหม่ก็เข้ามา และของใหม่นั้นก็กลายเป็นของเก่าแล้วก็ล่วงไปแล้วของใหม่ก็เข้ามา แล้วไม่เท่าไหร่ของใหม่นั้นก็กลายเป็นของเก่าเป็นอดีตตกล่วงไปแล้วของใหม่ก็เข้ามา วกวนซ้ำซากกันอยู่อย่างนี้เห็นได้ว่าเป็นเรื่องโง่เขลาอยู่ในตัวมันเองแล้วคือไม่มีอะไรใหม่ คือไม่มีอะไรใหม่แท้จริง ใหม่ชั่วประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็กลายเป็นของเก่า ถ้าใครไปถือว่าเป็นของใหม่คนนั้นจะโง่หรือจะฉลาดก็ลองคิดดู มิหนำซ้ำยังไปกลับความหมายอะไรบางอย่างกันให้ยุ่งยาก” (ยังมีต่อ)

(https://www.pagoda.or.th/buddhadasa)