รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต

การสะท้อนเสียงประชาชนในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงแต่ต้องการความแม่นยำในการสำรวจ แต่ยังต้องการความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกและผลกระทบต่อสังคมไทย การมาถึงของปี 2025 สวนดุสิตโพลอาจจำเป็นต้องปรับตัวก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับแนวโน้มโลกและผลกระทบต่อสังคมไทยในหลายมิติ การกำหนดประเด็นสำรวจความคิดเห็นที่ครอบคลุมทั้งในมิติเศรษฐกิจดิจิทัล การทำงาน สังคมและคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาอุดมศึกษาโดยเฉพาะในบริบทของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตอาจกลายเป็นความท้าทายใหม่ของสวนดุสิตโพล

ในมิติด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและการทำงาน สวนดุสิตโพลควรให้ความสำคัญกับการศึกษาความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบเศรษฐกิจดิจิทัลและสกุลเงินดิจิทัลของไทย ซึ่งกำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากในวงการการเงินและการลงทุน นอกจากนี้ ควรมุ่งศึกษาการปรับตัวของแรงงานไทยในยุคที่เทคโนโลยี AI และระบบอัตโนมัติเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำงาน รวมถึงทัศนคติต่อการทำงานแบบ Hybrid Work และ Digital Nomad ที่กำลังเป็นรูปแบบการทำงานที่ได้รับความนิยมมากขึ้น นอกจากนี้ การสำรวจควรครอบคลุมถึงการเตรียมตัวของธุรกิจ SME ในการแข่งขันในตลาด ASEAN และความต้องการด้านทักษะใหม่ ๆ ในตลาดแรงงานยุคดิจิทัล

ด้านสังคมและคุณภาพชีวิต การสำรวจความคิดเห็นสาธารณะควรเน้นศึกษาความพร้อมของผู้สูงอายุไทยในการใช้ชีวิตในสังคมดิจิทัล ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญเนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ขณะเดียวกันก็ควรให้ความสำคัญกับทัศนคติต่อการศึกษาทางเลือกและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ความต้องการด้านที่อยู่อาศัยของคน Gen Z และ Millennials ตลอดจนความคิดเห็นต่อระบบประกันสุขภาพและสวัสดิการสังคม รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านการเงินสำหรับวัยเกษียณของคนวัยทำงาน

ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนก็นับเป็นอีกหนึ่งหัวข้อสำคัญ ซึ่งสวนดุสิตโพลอาจสำรวจพฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยในยุค Sustainable Tourism ความคิดเห็นต่อนโยบายการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมในเมืองใหญ่ การเตรียมความพร้อมของครอบครัวไทยในการรับมือกับภาวะโลกร้อน ทัศนคติต่อการใช้พลังงานทางเลือก และพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม สวนดุสิตโพลควรศึกษาพฤติกรรมการใช้บริการสุขภาพทางไกล (Telehealth) ของคนไทย ความเชื่อมั่นต่อระบบการตรวจสอบข่าวปลอมและ Deep Fake การยอมรับเทคโนโลยี Metaverse ในการทำงานและการศึกษา ความพึงพอใจต่อระบบขนส่งมวลชนและ Smart City รวมถึงทัศนคติต่อการใช้ AI ในการตัดสินใจทางกฎหมายและการปกครอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของเทคโนโลยีต่อการดำเนินชีวิตในมิติต่าง ๆ

สำหรับประเด็นด้านอุดมศึกษาโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต อาจจะสำรวจความคาดหวังของผู้ใช้บัณฑิตต่อสมรรถนะของบัณฑิตในด้านอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นด้าน Hospitality, Culinary Arts and Services, Early Childhood Education และ Nursing นอกจากนี้ ควรศึกษาการยอมรับของสถานประกอบการต่อสมรรถนะด้านภาษาและดิจิทัลของนักศึกษา ความ
พึงพอใจของชุมชนและสังคมต่อบทบาทการพัฒนาท้องถิ่น การติดตามภาวะการมีงานทำและการประกอบอาชีพอิสระของบัณฑิต รวมถึงแนวโน้มความต้องการหลักสูตรระยะสั้นและการเรียนรู้ตลอดชีวิต

การกำหนดประเด็นสำรวจข้างต้นมีเป้าหมายเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ โดยข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษา เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนและกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมไทย นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของสวนดุสิตโพลในฐานะ “คลังสมอง” ที่ชวนกระตุก
“ไอเดีย” หรือพลังความคิดใหม่ ๆ ที่มุ่งสร้างความเข้าใจประเด็นสำคัญของสังคมไทย

ดังนั้น ความท้าทายของบุคลากรสวนดุสิตโพลต่อการดำเนินงานปี 2025 ย่อมต้องมี อาทิ ประการแรก การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลและการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงเพื่อรองรับการทำงานในยุค AI ประการที่สอง การปรับตัวให้ทันกับประเด็นระดับโลกที่มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประการที่สาม การรักษาความน่าเชื่อถือและความเป็นกลางท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิดในสังคม

ประการที่สี่ การพัฒนาวิธีการนำเสนอผลสำรวจในรูปแบบที่น่าสนใจและเข้าถึงง่ายสำหรับคนทุกกลุ่ม และประการสุดท้าย การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศเพื่อยกระดับมาตรฐานการสำรวจสู่ระดับสากล

นี่คือ “มวลสาร” ความท้าทายในปี 2025 ที่กำลังจะมาถึงที่ทีมงานสวนดุสิตโพลควรเตรียมพร้อม พร้อมเผชิญ และพร้อมที่จะก้าวข้ามไปด้วยกันครับ!!