ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำคณะการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

และแล้วเราก็เดินทางมาถึงสัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นปีแล้วนะครับ และวันนี้ก็ตรงกับวันคริสต์มาสพอดิบพอดี วันนี้มองโลกเหลียวไทยเราเลยจะขอพักเรื่องร้อนๆ มาพูดคุยกันเรื่องสบายๆให้เหมาะกับห้วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองกันดีกว่า วันนี้เราจะไปเรียนรู้เรื่องของ “วันคริสต์มาส” ด้วยกันครับ

วันคริสต์มาส (Christmas) เป็นวันสำคัญในศาสนาคริสต์ ที่ระลึกถึงการประสูติของพระเยซูคริสต์ ที่ถือเป็นพระบุตรของพระเจ้า ซึ่งตรงกับวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปีครับ ซึ่งวันคริสต์มาสไม่ได้มีเพียงมิติทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังสืบทอดและสะท้อนวัฒนธรรมและความเชื่อของหลายชนชาติผ่านประวัติศาสตร์ของมนุษย์ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา

สำหรับต้นกำเนิดของวันคริสต์มาสนั้น มีการพูดถึงความเชื่อมโยงกับหลายสิ่งครับ โดยเฉพาะช่วงก่อนศาสนาคริสต์ อาทิ ความเกี่ยวข้องกับวันเหมายัน หรือวันที่กลางคืนยาวนานที่สุดของปีในช่วงปลายเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวยุโรปโบราณนิยมทำกัน รวมไปถึงการบูชาเทพเจ้าแซทเทิร์น (Saturn) และ การฉลองการกลับมาของแสงแดดที่ชาวนอร์สในยุโรปเหนือนิยมทำกันในเทศกาล “Yule” เป็นต้น

ภายหลังการเกิดขึ้นของศาสนาคริสต์ แม้ว่าคัมภีร์ไบเบิลจะไม่ได้ระบุวันที่แน่นอนของการประสูติของพระเยซู แต่ในศตวรรษที่ 4 โบสถ์คริสต์ก็ได้กำหนดวันที่ 25 ธันวาคมให้เป็นการเฉลิมฉลองการประสูติของพระเยซู ซึ่งก็อาจกล่าวได้ว่า วันดังกล่าวอาจถูกเลือกเพื่อให้แทนที่เทศกาลเหมายันที่มีอยู่ก่อนหน้านั้นก็เป็นได้

ความหมายที่ซ่อนอยู่ในวันคริสต์มาส

วันคริสต์มาสนอกจากจะเป็นวันสำคัญทางศาสนาคริสต์แล้ว ก็ยังมีความหมายที่น่าสนใจสอดแทรกอยู่ด้วยเช่นกัน อาทิ 1) การเป็นรากฐานที่สำคัญทางศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะการระลึกถึงพระเยซูผู้เป็นผู้ไถ่ของมนุษยชาติ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความรัก ความเมตตา และความหวัง สำหรับโลก วันคริสต์มาสถือเป็นเครื่องเตือนใจให้มนุษย์ตระหนักถึงความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ความเสียสละ และการให้อภัยซึ่งกันและกัน

2) การให้และการแบ่งปัน ก็เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญของวันคริสต์มาส ซึ่งมาจากการที่ 3 โหราจารย์ (The Three Wise Men) นำของขวัญไปถวายพระเยซูในคืนที่พระองค์ประสูติ ซึ่งในบริบทปัจจุบัน สิ่งนี้แปรเปลี่ยนมาเป็นการให้ของขวัญซึ่งกันและกัน แต่ความหมายที่แท้จริงของการให้ของขวัญนั้นไม่ใช่เรื่องทางวัตถุครับ แต่มันคือ การแบ่งกัน ความเมตตา และการช่วยเหลือผู้ที่ต้องการนั่นเองครับ

3) ความหวังและการเริ่มต้นใหม่ ในช่วงปลายปีเช่นนี้ คริสต์มาสก็เป็นอีกหมุดหมายสำคัญให้คนหลายๆคนได้ตระหนักและตรวจสอบชีวิตช่วงที่ผ่านมาในปีนั้นๆ การเฉลิมฉลองนี้ ก็ยังเป็นอุบายที่รวบรวมผู้คนเข้าด้วยกัน ทั้งระดับครอบครัว ชุมชน ไปถึงระดับชาติ และแน่นอนว่าเป็นช่วงเวลาที่จะได้ทบทวน เรียนรู้ และชาร์จพลังเพื่อเริ่มต้นปีใหม่นั่นเอง

สำหรับองค์ประกอบที่สำคัญของวันคริสต์มาสในปัจจุบันก็เห็นจะได้แก่ ต้นคริสต์มาส ซานตาคลอส ของขวัญและเพลงคริสต์มาส ใช่ไหมครับ ซึ่งก็ล้วนแล้วมีที่มาจากประวัติศาสตร์ในอดีตทั้งสิ้น แต่อาจผ่านการปรับปรุง เพิ่มเติม และวิวัฒนาการตามธรรมชาติของมนุษย์เรา จนมีหน้าตาที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนั่นเองครับ

ว่าแต่...ทุกท่านเคยสงสัยกันไหมครับว่า ทำไมต้นคริสต์มาสต้องเป็น “ต้นสน” ?

ผมลองค้นดูพอสังเขป ก็พบว่า คนในสมัยโบราณเชื่อและนับถือต้นไม้ที่เขียวชอุ่มตลอดทั้งปี หรือที่เรียกว่า Evergreen ครับ เพราะมันเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแรง ความทนทาน ความอุดมสมบูรณ์ และชีวิตอันเป็นนิรันดร์ เพราะไม่ว่าสภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลงหรือเลวร้ายขนาดไหน ต้นไม้ประเภทนี้ก็จะยังคงเขียวชอุ่มอยู่ได้นั่นเอง และต้นสน...ก็เป็นหนึ่งใน evergreen ที่หาได้ง่ายในพื้นที่แถบยุโรปนั่นเอง

นอกจากนี้ รูปทรงสามเหลี่ยมของต้นสนยังถูกนำไปเชื่อมโยงกับความหมายของ ตรีเอกานุภาพ หรือ Holy Trinity ของศาสนาคริสต์ ที่หมายถึงลักษณะของพระเจ้าที่เป็นหนึ่งเดียว แต่มีสามบุคคล ได้แก่ พระบิดา (God the Father) พระบุตร (God the Son) และพระวิญญาณบริสุทธ์ (God the Holy Spirit)

ความเชื่อเรื่องชีวิตนิรันดร์ แนวคิดในศาสนาคริสต์ และความเป็นพืชท้องถิ่น จึงน่าจะเป็นสามปัจจัยที่ทำให้ต้นสนกลายเป็นต้นไม้สำหรับเทศการศริสต์มาสจวบจนถึงปัจจุบัน แต่ว่าลำพังแค่ต้นสนโล้นๆ ก็คงจะเรียกว่าต้นคริสต์มาสไม่ได้จริงไหมครับ เรามาดูกันว่าการตกแต่งนั้นมีความหมายยังไง

การตกแต่งต้นคริสต์มาสนั้นเริ่มต้นในศตวรรษที่ 16 โดยใช้เทียนก่อนในช่วงแรกครับ โดยเชื่อว่าเทียนเป็นสัญลักษณ์ของแสงสว่างจากพระเยชูที่จะนำทางมนุษย์ในความมืดมิด และยังเป็นเครื่องเตือนใจถึงความหวังและความเมตตาต่อผู้อื่น สำหรับของตกแต่งนั้น ในสมัยโบราณผู้คนนิยมตกแต่งด้วยผลไม้ เช่น แอปเปิล เพื่อแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ เมื่อเวลาผ่านไป ของตกแต่งเหล่านี้จึงได้วิวัฒนาการไปตามลำดับ จนกลายเป็นของตกแต่งที่เราๆเห็นกันในปัจจุบัน สำหรับดาวบนยอดต้นคริสต์มาสนั้น เป็นสัญลักษณ์ของ “ดาวแห่งเบธเลเฮม” ซึ่งนำทางโหราจารย์ไปยังสถานที่ประสูติของพระเยซูนั่นเอง ดาวนี้จึงมีความหมายถึง การนำทาง และความศรัทธาในพระเจ้า นั่นเอง

ต้นคริสต์มาสที่ทำจากต้นสนผ่านการตกแต่งจึงเป็นสัญลักษณ์ของวันคริสต์มาส ในฐานะของชีวิตนิรันดร์และความแข็งแกร่ง ความสว่าง ความหวัง ความอุดมสมบูรณ์ และความศรัทธาตลอดจนการนำทางของพระเจ้า นั่นเองครับ

สำหรับวันคริสต์มาสในประเทศไทย ก็คาดว่าน่าจะเข้ามายังประเทศไทยพร้อมๆกับมิชชันนารีตะวันตกที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์นับตั้งแต่สมัยอยุธยาครับ แต่สมัยนั้นอาจจะไม่ได้เฉลิมฉลองกันเหมือนในปัจจุบัน แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของศาสนาคริสต์ในประเทศไทย และวิวัฒนาการการเฉลิมฉลองคริสต์มาสในประเทศไทยมาจนถึงทุกวันนี้

แล้วพบกันใหม่ปีหน้าครับ

Merry Chirstmas and Happy New Year ผู้อ่านทุกท่านครับ