คุณผู้อ่านที่เป็นแฟนบทบรรณาธิการสยามรัฐ น่าจะเคยได้ผ่านตามาบ้างเรื่องที่ผู้เขียนเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาสินเชื่อหรือดอกเบี้ยบ้าน ที่เป็นดอกเบี้ยบาน ให้คนไทยแบกกันหลังแอ่น

ในขณะที่ธุรกิจธนาคารรวยขึ้นๆ ไม่ได้จินตนาการไปเอง แต่มีตัวเลขข้อมูลรองรับ จากรายงานการประกาศผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ ที่ 9 เดือนแรกของปี 2567 มีกำไรสุทธิรวม 192,440 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.47% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 184,207 ล้านบาท

ไม่เพียงคนผ่อนบ้านจะแบกดอกเบี้ยหนี้บ้าน คนที่คิดจะซื้อบ้านปัจจุบันเป็นที่ทราบกันอยู่ว่า โครงการบ้านจัดสรรหรือที่พักอาศัยประเภทอื่นๆนั้น มักจะเป็นเป้าหมายของกลุ่มธุรกิจสีเทาข้ามชาติ มาซื้อบ้านหรูเพื่อฟอกเงิน และปั่นให้ราคาบ้านและที่พักอาศัยยิ่งสูงขึ้นไปอีก จนเรียกได้ว่าคนไทยในแผ่นดินไทยแทบจะเอื้อมไม่ถึงกันอยู่แล้ว

กลับมาที่เรื่องการแก้ไขปัญหาดอกเบี้ยบ้าน งานนี้ต้องขอชมรัฐบาลแพทองธาร ที่อย่างน้อยก็ขยับขับเคลื่อนในการไขปัญหานี้ โดยล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

ทั้งนี้ มีรายละเอียดที่กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Banks) ร่วมกันแถลงความร่วมมือผลักดันมาตรการชั่วคราวภายใต้โครงการ "คุณสู้ เราช่วย" 

มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์” เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินหนี้ไม่สูงมาก ให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้ โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและลดภาระดอกเบี้ย โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดเงินต้น

สำหรับการช่วยเหลือมี 2 รูปแบบคือ  (1) ลดค่างวดเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยลูกหนี้ชำระค่างวดขั้นต่ำที่ 50% 70% และ 90% ของค่างวดเดิม ในปีที่ 1 ปีที่ 2 และปีที่ 3 ตามลำดับ ซึ่งค่างวดทั้งหมดจะนำไปตัดเงินต้น

(2) พักดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยดอกเบี้ยที่พักไว้จะได้รับยกเว้นทั้งหมด หากลูกหนี้ปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขได้ตลอดช่วงระยะเวลา 3 ปีที่อยู่ภายใต้มาตรการ