ข่าวคราวที่น่าสนใจ เกี่ยวกับเรื่องกำหนดอัตราเงินสะสม-เงินสมทบ กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ตามกฎหมายใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้ 1 ตุลาคม 2568 นั้น จากข้อมูลของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบร่างกฎหมาย ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ 3 ฉบับ ประกอบด้วย1. (ร่าง) พระราชกฤษฎีกากำหนดระยะเวลาเริ่มดำเนินการจัดเก็บเงินสะสม และเงินสมทบเพื่อเป็นทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง พ.ศ. …2. (ร่าง) กฎกระทรวงกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสม และเงินสมทบที่จะต้องส่งให้แก่กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง พ.ศ. …และ 3. (ร่าง) กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการสำหรับนายจ้างจัดให้มีการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานหรือตาย พ.ศ. …
ซึ่งมีหลักการเพื่อให้กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจัดเก็บเงินสะสมจากลูกจ้างและเงินสมทบจากนายจ้างเพื่อเป็นทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงาน หรือตาย เพื่อเป็นการเพิ่มหลักประกันทางสังคมและความมั่นคงให้กับลูกจ้าง ส่งเสริมวินัยการออม มีเงินสำรองหรือเงินฉุกเฉินไว้ใช้เมื่อออกจากงาน สำหรับบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกจ้าง กำหนดให้เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 เป็นต้นไป โดยกำหนดอัตราเงินสะสมและเงินสมทบ ดังนี้
1. กำหนดอัตราเงินสะสมและเงินสมทบที่จะต้องนำส่งเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ในอัตราร้อยละ 0.25 ของค่าจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2568 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2573
2. กำหนดอัตราเงินสะสมและเงินสมทบที่จะต้องนำส่งเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ในอัตราร้อยละ 0.5 ของค่าจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2573 เป็นต้นไป
สำหรับสถานประกอบกิจการที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบเพื่อเป็นทุนสงเคราะห์ลูกจ้างตามกฎกระทรวงนั้น จะต้องเป็นสถานประกอบกิจการเอกชนที่มีลูกจ้างภายในสถานประกอบกิจการตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ที่นายจ้างไม่ได้จัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือไม่ได้จัดให้มีกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด
อย่างไรก็ตาม หากนายจ้างไม่นำส่งเงินสะสมและ/หรือเงินสมทบหรือส่งไม่ครบภายในเวลาที่กำหนดพนักงานตรวจแรงงาน อาจมีคำเตือนเป็นหนังสือให้นายจ้างนำเงินที่ค้างมาชำระภายในระยะเวลาที่กำหนด และหากยังไม่นำส่งเงิน พนักงานตรวจแรงงานอาจมีคำสั่งเป็นหนังสือให้ยึดอายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของนายจ้างที่ไม่นำส่งเงินสะสม เงินสมทบ หรือเงินเพิ่ม หรือนำส่งไม่ครบจำนวน ทั้งนี้ เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำหนด