พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความมายของคำว่า “กบฏ” หมายถึง ประทุษร้ายต่อทางอาณาจักร, ทรยศ, ขบถ

เมื่อเร็วๆนี้ คำๆนี้ น่าจะเป็นอุทาหรณ์สำหรับนักการเมือง กองทัพและข้าราชการทั่วโลก รวมถึงไทย

ด้วยวิกฤติการเมืองในเกาหลีใต้ หลัง ยุน ซอก-ยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ถูกปฏิบัติการระงับยับยั้งการประกาศกฎอัยการศึกจากการรวมตัวกันลงมติของสมาชิกรัฐสภา ทำให้ไม่สามารถยึดอำนาจรัฐสภาได้ นำไปสู่การถอนกำลังทหารออกจากการควบคุมรัฐสภาและการลุกฮือขึ้นมาขับไล่เขาออกจากตำแหน่งของมวลชน

มีคำถามที่ว่า ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้กลายเป็น “กบฏ”ไปแล้วหรือไม่อย่างไร

ทว่าการประกาศกฎอัยการศึกเพียง 6 ชั่วโมง มีเพียงการออกแถลงการณ์ขอโทษประชาชนจากประธานาธิบดี และประกาศยอมรับกระบวนการตรวจสอบ หรือการถอดถอนจากรัฐสภาตามมา และการลาออกจากตำแหน่งของ คิม ยง-ฮยอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

กระบวนการยื่นถอดถอนประธานาธิบดีเกาหลีใต้มีอันต้องล้มไม่เป็นท่า  หลังจากส.ส.พรรครัฐบาลพร้อมใจคว่ำบาตรการลงคะแนนเสียง ทำให้กระบวนการไม่สามารถเกิดขึ้น เพราะเสียงสนับสนุนไม่ถึงสองในสามของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด

ระหว่างนั้น เริ่มมีการจับกุมผู้เกี่ยวข้อง เช่น นายคิม ยง-ฮยอน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการกบฏ

อย่างไรก็ตาม มีนักการเมืองไทยออกมาแสดงความเห็นชื่นชมนักการเมืองและประชาชนชาวเกาหลีใต้ในปฏิบัติการต่อต้านการยึดอำนาจของประธานาธิบดี โดยเทียบเคียงและยึดโยงให้เป็นบทเรียนในการสกัดกั้นรัฐประหาร

หากแต่สำหรับการเมืองไทย ภายใต้โครงสร้างอำนาจที่ซับซ้อน และมวลชนที่มากหลาย แต่ไม่หลากหลาย กระทั่งในอดีตมวลชนบางส่วน กลับเป็น “บันได” หรือ “ใบเบิกทาง” ให้กับรัฐประหาร

ความคาดหวัง หรือความคาดหมายให้ ปรากฏการณ์ในเกาหลีใต้สะท้อนมาถึงไทยนั้น อาจเป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย