เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phogphit

เบาหวานหายได้แต่คนไข้ไม่คอยรู้ รู้แต่ว่า เป็นเบาหวานรักษาไม่หาย ต้องกินยาตลอดชีวิต คนไข้ไม่รู้ส่วนหนึ่งเพราะไม่ค่อยเป็นข่าว ส่วนหนึ่งเพราะหมอไม่ค่อยบอก แต่ถ้าหาในยูทูบก็จะพบแพทย์ไทยที่พูดเรื่องการ “รักษา” เบาหวานให้หายได้โดยลดยาและเลิกไปในที่สุดด้วยการปรับการกินการอยู่

ความจริง ไม่ใช่แต่ในประเทศไทย แต่ทั่วโลกก็เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเพราะแพทย์จำนวนมากรักษาตามที่เรียนมาโดยไม่ได้พัฒนาตนเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง อีกส่วนหนึ่งเพราะ “แพทย์พาณิชย์” การครอบงำของบริษัทยา ที่ทำมาหากินกับโรคภัยไข้เจ็บ ถ้าคนไข้หายได้ หายเร็ว กำไรก็หายไปด้วย ทุนนิยมไม่ปรานีใคร

นายแพทย์เจสัน เฝิง (Jason Fung) ชาวแคนาดาเชื้อสายจีน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต พบว่า ที่มาของโรคนี้และโรคไม่ติดต่ออื่นๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับ “เบาหวาน”

เขาเขียนหนังสือที่มีชื่อเสียงและขายดี 3 เล่ม คือ The Obesity Code มีแปลเป็นไทยชื่อ “วิทยาศาสตร์ความอ้วน”, รหัสเบาหวาน (Diabetes Code) และรหัสมะเร็ง (The Cancer Code)

คุณหมอเฝิงพูดถึง “ความหวานอันขมขื่น” ที่เป็นสาเหตุของเบาหวานและนำไปสู่โรคร้ายต่างๆ อย่างละเอียดและเข้าใจง่าย ทำให้เมื่อรู้ที่มาสาเหตุก็รู้วิธีการ “ย้อนศร” คือการรักษา เมื่อรู้ว่าเป็นเบาหวานเพราะน้ำตาลมาก ก็ “ลดน้ำตาล” คำตอบที่ดูกำปั้นทุบดิน พูดง่ายทำยาก แต่ก็ทำได้ เขารักษาคนไข้หายมามาก

เขาบอกว่า เมื่อเราทาน “ความหวาน” ที่มาจากน้ำตาล จากอาหารจำพวกแป้ง ร่างกายจะผลิตอินซุลินเพื่อนำเข้าไปเป็นพลังงานในเซลล์ เมื่อเซลล์ “เต็มแล้ว” มันก็เหมือนรถไฟฟ้าเวลาเร่งด่วนที่คนแน่น อัดเข้าไปยังไงก็เข้าไม่ได้ หรือเมื่อคนเต็มลิฟท์มากไป ลิฟท์ก็ไม่ทำงาน มีเสียงเตือน บางคนต้องออกมา

ในร่างกายเราเรียกภาวะนี้ว่า “ดื้ออินซุลิน” (insulin resistance) อินซุลินเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและส่งเสริมการเก็บไขมัน  เมื่อเรารับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง ระดับอินซุลินจะเพิ่มขึ้นเพื่อเก็บพลังงานส่วนเกินไว้ในตับ กล้ามเนื้อ และเซลล์ไขมัน

การกินเกินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาหารหวานและคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการขัดสี ทำให้ระดับอินซุลินในเลือดสูงอยู่ตลอด จนเซลล์ในร่างกายจะตอบสนองต่ออินซุลินลดลง ทำให้ตับอ่อนต้องผลิตอินซุลินมากขึ้น

วงจรนี้นำไปสู่ภาวะอินซุลินในเลือดสูง ซึ่งทำให้เกิดการดื้ออินซุลิน ทำให้เกิดโรคอ้วน เพราะอินซุลินส่วนเกินส่งเสริมการเก็บไขมันและขัดขวางการเผาผลาญไขมัน  เมื่อภาวะดื้อต่ออินซุลินแย่ลง ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้นจนกระทั่งเกิดเบาหวานเมื่อร่างกายไม่สามารถผลิตอินซุลินได้เพียงพอ

ดร.เฝิงบอกว่าต้องจัดการต้นตอของปัญหาด้วยการอดอาหารเป็นช่วง (IF) เพื่อลดระดับอินซุลินและฟื้นฟูภาวะดื้ออินซุลิน การลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตช่วยลดการเพิ่มขึ้นของอินซุลิน ลดจำนวนการกิน ไม่กินวันละมากมื้อ กินจุบกินจิบ ที่ทำให้ระดับอินซุลินสูงอยู่เสมอ การเว้นช่วงระหว่างมื้อจึงสำคัญ

ดร.เฝิง เน้นวิถีชีวิตที่ลดระดับอินซุลินด้วยการปรับเปลี่ยนอาหาร การอดอาหาร และการกินอย่างมีสติ แทนที่จะพึ่งพายาและการนับแคลอรีเพียงอย่างเดียว แนวทางนี้ท้าทายวิธีดั้งเดิมโดยให้ความสำคัญกับการจัดการฮอร์โมนเพื่อรักษาโรคอ้วนและเบาหวาน

เขาอธิบายว่า การรักษาแบบเดิมให้ความสำคัญกับการลดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยยา เช่น อินซุลิน หรือยาลดน้ำตาลชนิดอื่น ๆ แม้ยาจะช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ดี แต่ไม่ได้แก้ปัญหาภาวะดื้อต่ออินซุลินที่เป็นต้นเหตุ

ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ร่างกายมีระดับอินซุลินสูงอยู่แล้วเนื่องจากดื้อต่ออินซุลิน  การเพิ่มอินซุลินเข้าไปอีกด้วยการรักษา ทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ภาวะดื้อต่ออินซุลินแย่ลง  โรคก็จะรุนแรงขึ้น ไม่ใส่ใจเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย

การรักษาเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้น แต่ไม่ได้ช่วยย้อนกลับหรือหยุดการลุกลามของโรค เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยมักต้องเพิ่มปริมาณยา หรือใช้ยาหลายชนิดเพื่อควบคุมระดับน้ำตาล ซึ่งแสดงว่าโรคไม่ได้ดีขึ้น และหลายคนมีโรคอื่นตามมา อย่างโรคไต ต้องฟอกไตวันละหลายครั้ง

วิธีการแบบเดิมมักไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการโรคเบาหวานผ่านอาหารและวิถีชีวิต  อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวสูง และการกินบ่อย ๆ ทำให้ระดับอินซุลินพุ่งสูงและทำให้ภาวะดื้อต่ออินซุลินคงอยู่

องค์การอนามัยโลกบอกว่า ทุกประเทศทั่วโลก คนเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง เพราะเป็นที่มาสาเหตุสำคัญของโรคร้ายอย่างมะเร็ง โรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองตีบตัน อัลไซเมอร์ พาร์คินสัน และอื่นๆ

คนไทยโชคดีที่มีอาหารดีต่อสุขภาพมากมาย ไม่ว่าข้าวกล้อง ข้าวพื้นเมือง ผัก ผลไม้ดีมีคุณค่าอาหารสูง แต่โชคร้ายที่บริโภคนิยมวันนี้รุนแรง โฆษณาบ้าเลือดที่มอมเมาผู้คนให้เสพติดการกิน เสพติดของหวาน จนเป็นเบาหวาน เป็นโรคอ้วนกันถ้วนหน้า

การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจึงเป็นหัวใจของการรักษาเบาหวาน ลดเลิกน้ำตาลและอาหารเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากอย่างน้ำอัดลม เครื่องดื่มต่างๆ  ลดมื้ออาหารจาก 3 มื้อหลักบวก 3 มื้อรอง (เบรค ของว่าง ข้าวต้มรอบดึก)ให้เหลือ 2 มื้อ หรือบางวัน 1 มื้อ ร่างกายจะได้พักและจัดการกับ “ขยะ” ในร่างกายแบบ “กินตัวเอง” (ออโตฟาจี้)

นับเป็นข่าวดีที่บางจังหวัดกำหนดยุทธศาสตร์สู้เบาหวาน โดยรณรงค์ว่า เบาหวานหายได้ถ้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรม วิถีชีวิต มีขั้นตอนและวิธีการดีๆ เพื่อลดการพึ่งยาหาหมอ จะปลอดโรคปลอดภัยในที่สุด

เบาหวานเป็นง่าย หายยาก แต่ถ้าใส่ใจดูแลตัวเอง เปลี่ยนวิธีกิน วิธีคิด ชีวิตก็จะเปลี่ยน โรคก็จะหาย