เอาเข้าจริงเชื่อว่าการเมืองไทยยามนี้ เริ่มปรับตัวและรับมือกับกรณียุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองได้แล้ว จะเห็นได้จากกรณียุบพรรคก้าวไกล ที่พาสส.เข้าไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ภายใน 48 ชั่วโมง และสามารถส่งผู้สมัครสส.ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมสส.พิษณุโลกได้ โดยมีคุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรคใหม่นี้ 90 วันแล้ว เรียกว่ามีการเตรียมทั้งพรรคสำรองและการเผชิญเหตุต่างๆไว้ครบถ้วนแล้ว

แต่ปัญหาใหญ่คือการที่บุคลากรที่ปลุกปั้นมาเพื่อที่จะก้าวเข้าสู่ตำแหน่งบริหารทั้งในพรรคและระดับประเทศนั้น ถูก “ตัดตอน” อาจกระทบต่อทั้งตัวบุคคล ตัวพรรคและคะแนนนิยมของพรรค อย่างที่พรรคประชาชนกำลังประสบอยู่ในเวลานี้ ที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยังต้องตามแห่ไปหาเสียงในการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ไม่นับรวมบรรดาคณะก้าวหน้าที่ก็อวตารมาจากพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบ

แน่นอนว่า “คาริสม่า” ของตัวบุคคลนั้น มันฝึกและสอนกันได้ลำบาก ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างและจังหวะเวลา ในการสร้างเสน่ห์ดึงดูดสำหรับผู้นำ ครั้นจะใช้สูตรเดิมของกระแสด้อมส้มอย่างที่เคยสร้างปรากฏการณ์ “ฟ้ารักพ่อ” หรือ “พ่อส้ม” อย่างที่เป็นสูตรสำเร็จนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับนายพิธาก็อาจจะต้องอาศัยจังหวะเวลาที่เหมาะสม

แต่กระนั้นในทางกลับกันก็มีคำถามย้อนกลับมาที่พรรคการเมืองและนักการเมือง ที่รู้ทั้งรู้ว่ามีกฎหมายข้อนี้ และรู้ดีว่ากระทำการสิ่งใดจะเป็นการล่วงล้ำก้ำเกิน แต่ก็ปักธงด้นดั้นกรณีมาตรา 112 เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของคนทั่วไปต่อกรณียุบพรรคตัดสิทธิทางการเมือง ที่นิด้าโพลไปสำรวจความคิดเห็นมา พบว่า ในข้อถามที่เกี่ยวกับการมีสิทธิของประชาชนในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง หากพบบุคคลใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 81.37 ระบุว่า ประชาชนควรจะมีสิทธิในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง รองลงมา ร้อยละ 16.42 ระบุว่า ประชาชนไม่ควรจะมีสิทธิในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง และร้อยละ 2.21 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับการยุบพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 61.30 ระบุว่า ควรมีการลงโทษด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การยุบพรรค รองลงมา ร้อยละ 36.10 ระบุว่า ควรมีการลงโทษยุบพรรค และร้อยละ 2.60 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

และท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าใช้สิทธิเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 39.54 ระบุว่า ควรลงโทษตัดสิทธิทางการเมือง เฉพาะกับผู้กระทำการเท่านั้น รองลงมา ร้อยละ 31.68 ระบุว่า ควรลงโทษด้วยวิธีอื่นเฉพาะกับผู้กระทำการเท่านั้น ร้อยละ 19.31 ระบุว่า ควรลงโทษตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด ร้อยละ 6.26 ระบุว่า ควรลงโทษด้วยวิธีอื่นกับกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด และร้อยละ 3.21 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

นั่นเป็นความเห็นของประชาชนในกลุ่มตัวอย่าง จากนิด้าโพล อย่างไรก็ตาม ในอดีตผู้ที่ก่อกบกฎนั้น มีโทษถึงประหารชีวิต 7 ชั่วโคตร