ทุกวันนี้ เมื่อพูดกันถึงปัญหาของชาติบ้านเมือง ผู้คนมักนึกถึงเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเมืองก่อน แต่เมื่อวิเคราะห์กันลึก ๆ แล้วจะพบว่า ปัญหาเศรษฐกิจการเมืองมีรากเหง้าต้นตอเริ่มจากเรื่อง “วัฒนธรรม”
การเมืองไทยเป็นอย่างนี้ ก็เพราะคนไทยเราเป็นอย่างนี้
ด่าการเมืองไป ก็เท่ากับด่าตนเองนั่นแหละ
วิถีชีวิต รูปแบบการทำมาหากิน ฯ คือพื้นฐานในการก่อตัวของวัฒนธรรม สมัยก่อนคนไทยทำนาทำไร่พึ่งตนเอง ก่อขึ้นเป็นวัฒนธรรมสังคมเกษตรกรรมเลี้ยงตัวเอง ปัจจุบันรูปแบบการทำมาหากินของทุกคนถูกกำหนดโดยระบอบเศรษฐกิจทุนนิยม วัฒนธรรมของสังคมไทยจึงกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง
การเปลี่ยนแปลงจุดนี้ คือต้นตอของปัญหาเกือบทุกด้านในสังคมไทย รวมไปถึงปัญหาทางการเมืองด้วย
เรื่องวัฒนธรรมกำลังเกี่ยวพันกับปัญหาทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมไทยอย่างแนบแน่น นั่นคือประเทศไทยจะพัฒนาเศรษฐกิจไปในทิศทางเป็นทาสของลัทธิบริโภคนิยม-ทุนนิยม ที่แน่นอนว่าคนไทยจะตกอยู่ใต้อำนาจของ “ทุนสากล” ตลอดไป หรือจะพัฒนาไปในแนวทาง “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ที่คนไทยยังคงเป็นไทย ไม่เป็นทาสของระบบทุน
ขอยกตัวอย่างเพียงจุดเดียว คือการรุกเข้าควบคุมการผลิตทางการเกษตรของทุน
การรุกเข้าไปในชุมชนเป็นไปในหลายรูปแบบ ถ้าเปรียบกับธุรกิจ นายทุนใช้ทั้งไม้แข็งไม้นวม ใช้การครอบงำแบบซื้อตัว ซื้อที่ ซื้อความรู้ความสามารถของชาวบ้านผู้นำชุมชนที่เป็นอุปสรรคต่อการ “ฮุบ” ที่ดิน การผูกขาดพันธุกรรม ทำลายความหลากหลาย ทำลายพันธุ์พืชพื้นบ้าน โดยการซื้อที่ดินที่ปลูกพืชเหล่านี้ก็มี
แล้วให้เจ้าของที่ดินมาทำงานด้วยค่าแรงที่ไม่อาจปฏิเสธได้
นายทุนเหล่านี้รู้ดีว่า อาวุธอย่างเดียวที่เหลืออยู่ของชุมชนคือ “วัฒนธรรม” เป้าหมายการทำลายอาวุธนี้จึงเกิดขึ้นหลายลักษณะ ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องประเพณีวัฒนธรรมภายนอก แต่หมายถึงความหลากหลายทางพันธุกรรมอันเป็นมรดกของบรรพบุรุษของแต่ละท้องถิ่น”
“วัฒนธรรมภายนอก” กับรากลึกที่เป็นมรดกอันล้ำค่าซึ่งบรรพชนสร้างไว้ให้เรา
“วัฒนธรรมภายนอก” นั้นเราเข้าใจง่าย ๆ ว่าคือรูปแบบจารีตประเพณี ก็คืองานที่กระทรวงวัฒนธรรมคิดว่าคืองานของกระทรวง
ส่วน “วัฒนธรรมเบื้องลึก” นั้นอยู่ในจิตวิญญาณของชาวบ้าน เป็นมรดกในสายเลือด มองเห็นเป็นรูปธรรมยาก เช่น เรื่องความหลากหลายทางพันธุกรรม ชาวนาไทยในอดีตได้สนร้างมรดกพันธุ์ข้าวพื้นเมืองไว้มากถึง 17,000 กว่าชนิด
ทุกวันนี้เกษตรกรทั่วโลกเกือบจะถูกผูกขาด “พันธุกรรม” แล้ว เรื่องนี้มีผลกระทบร้ายแรงทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม
“วัฒนธรรมเบื้องลึก” คืออาวุธที่เหลืออยู่อย่างเดียวของภาคประชาชน
ขอให้ชุมชนหันมาใส่ใจศึกษาปัญหานี้ให้มากขึ้น