เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
ประชาธิปไตยในความหมายดั้งเดิมเมื่อ 2,400 กว่าปีก่อน ตอนที่ก่อเกิดในประเทศกรีกนั้นหมายถึง “ประชาชนปกครองตนเอง” มีสภาที่ “ประชาชน” เข้าไปนั่งประชุมเพื่อกำหนดนโยบายในเรื่องสำคัญต่างๆ
“ประชาชน” ตอนนั้นหมายถึงผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ มีที่ดิน ไม่เป็นทาส ซึ่งมีอยู่ประมาณสามสี่หมื่นคนจากประชากรสองสามแสน เป็นประชาธิปไตยทางตรงยุคแรกที่มีอยู่ในหลายนครรัฐ ที่เป็นต้นแบบคือของนครรัฐเอเธนส์ ศูนย์รวมของนักปรัชญา ซึ่งต่างก็ถกเถียงกันเรื่องสิทธิ เสรีภาพและอำนาจ
ที่โด่งดังน่าจะเป็นเพลโตที่ใช่ว่าจะเห็นด้วยนักกับ “ประชาธิปไตย” ที่ประชาชนปกครองตนเองแบบนี้ เพราะถ้าประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ ไม่มี “ปัญญา” หลงผิด กิเลสมาก ก็จะได้สิ่งเลวร้ายตามมารัฐในอุดมคติหรืออุตมรัฐของเขาต้องปกครองด้วย “ราชาปราชญ์” (Philosopher King) ซึ่งมีผู้วิจารณ์ว่า เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเผด็จการอย่างสตาลิน ฮิตเลอร์ รวมทั้งโคไมนีในศตวรรษที่ 20
ความจริง ความหมายของราชาปราชญ์ของเพลโตนั้นล้ำลึก เพราะไม่ใช่เพียงผู้ที่ได้รับเลือกหรือถูกสถาปนาให้นำ แต่เป็นผู้ที่มี “ปัญญาบารมี” “ผู้รักในปัญญาญาณ” (Wisdom-lover) ปัญญาอันเป็นอีกหน้าของคุณธรรม ซึ่งในความเป็นจริงหาได้ยากยิ่ง ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ส่วนใหญ่ได้อำนาจมาแล้วก็เหลิงอำนาจ เพราะ "อำนาจมีแนวโน้มที่จะทำให้คนเสียคน และอำนาจเด็ดขาดจะทำให้คนเสียคนเด็ดขาดยิ่งขึ้น” อย่างที่ลอร์ด แอคตั่นว่า (สำนวนแปลศ.ดร.ลิขิต ธีระเวคิน)
ความจริง เส้นแบ่งระหว่างอัศวินขี่ม้าขาวกับเผด็จการค่อนข้างจะเลือนลางหรือหลายครั้งแทบมองไม่เห็น แม้ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างอเมริกาก็ยังปรากฎ คนอเมริกันอยากได้ผู้นำที่ทำให้อเมริกา “กลับมายิ่งใหญ่อีก” แม้ผู้คนจำนวนมากในอเมริกาและทั่วโลกอาจเห็นว่านายทรัมป์เป็น “คนบ้า” ก็ตาม เช่นเดียวกับผู้นำหลายประเทศในทุกทวีปทั้งอดีตและปัจจุบัน
ในระบอบประชาธิไตยแบบตัวแทน มีการเลือกผู้แทนของประชาชนเข้าไปนั่งในสภาเพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงานและพัฒนาบ้านเมืองแล้วเลือกนายกรัฐมนตรี หรือว่าประชาชนเลือกผู้นำโดยตรง หลายครั้งเป็นเหมือนการเซ็นเช็คเปล่าให้นักการเมืองไปเขียนตัวเลขเอาเอง ซึ่งเสี่ยงไม่น้อย
ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศจึงพยายามให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนโยบายสำคัญๆ ให้มากที่สุด เปิดช่อง “ประชาธิปไตยทางตรง” ให้กว้างขึ้น อย่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ขึ้นชื่อมากเรื่องการลงประชามติ แม้แต่เรื่องที่ประเทศอื่นๆ อาจถือว่า “เล็กน้อย” ก็ตาม
ประชาธิปไตยเป็นวาทกรรมที่มีการถกเถียงกันมากอันเนื่องมาจากแนวคิด และหลักการของผู้คนแตกต่างกัน เป็นความแตกต่างที่ทำให้เกิดความแตกแยกได้ง่าย การเลือกตั้งแต่ละครั้ง ไม่ว่าระดับเล็กสุดไปหาใหญ่สุด ตั้งแต่ชุมชนหมู่บ้านไปถึงระดับชาติก็มักทำให้เกิดความแตกแยกที่บางครั้งเยียวยาได้ยาก
“ราชาปราชญ์” นั้นหาได้ยาก ก็มีบ้างเป็นกรณียกเว้นเพื่อให้เห็นว่า ไม่ใช่ “ยูโธเปีย” เพ้อฝันแต่เป็นไปได้ถ้าหากมีเงื่อนไขเหมาะสม มีผู้นำที่เก่ง ดี มีคุณธรรม มีปัญญาบารมี และชุมชนก็เข้มแข็งด้วย
คุณสุรกิจ สุวรรณแกม เป็นนายกอบต.ดอนหญ้านาง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยามา 3 สมัย สมัยแรกลงเลือกตั้ง 2 คน ตกลงกันว่า จะไม่หาเสียงแบบนักการเมืองทั่วไป เสนอตัวให้ชาวบ้านเลือก แบ่งที่ปักป้าย ป้ายอีกฝ่ายล้มก็เอาขึ้นให้ ไม่โจมตีกัน
สมัยที่สอง ลงคนเดียวเพราะคนในตำบลต่างก็เห็นว่าเป็นคนดีคนเก่ง มีจิตอาสา ทำงานเพื่อส่วนรวมมาก่อนหลายปี ทำงาน “ชุมชนเข้มแข็ง” กับหลายองค์กร ผู้หลักผู้ใหญ่ในตำบลเห็นด้วยที่สมัครเพียงคนเดียว เพราะชุมชนจะได้ไม่แตกแยก สมัยที่สามลงสมัคร 4 คน แต่ก็หาเสียงแบบสมานฉันท์ ไม่มีปัญหาตามมา
คุณสุรกิจบอกว่า อบต.ของเขาไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่มีฝ่ายนายก ฝ่ายค้าน ไม่ทะเลาะกัน ช่วยกันหาทางออกที่ดีที่สุดให้ชุมชน เป็นประชาธิปไตยที่ไม่แข่งขัน แต่ร่วมมือกันทำเพื่อส่วนรวม
ดอนหญ้านางเป็นที่เรียนรู้ดูงานของนักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าและสถาบันต่างๆ ที่โหยหา “ประชาธิปไตย” ในอุดมคติ ที่ประชาชนปกครองตนเองด้วยรูปแบบการเลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่บริหาร แต่ประชาชนมีส่วนร่วมไม่ใช่เพียงไปหย่อนบัตร แต่ร่วมตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ตรวจสอบให้มีธรรมาภิบาล
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็น “ราชาปราชญ์” โดยแท้ ได้ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หรือพระราชพิธีฉัตรมงคลเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" และ 70 ปีที่ทรงครองราชย์ พระองค์ทรงใช้ “ธรรมเป็นอำนาจ” ไม่ใช่ “อำนาจเป็นธรรม”
พระองค์ทรงใช้ชีวิตตั้งแต่เยาว์วัย ศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนจบมหาวิทยาลัยที่สวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบประชาธิปไตยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง จึงทรงมี “วิญญาณประชาธิปไตย” โดยแท้
ได้ทรงมีพระราชดำรัสเมื่อปี 2512 โดยทรงใช้คำว่า “พอสมควร” ซึ่งเป็นความพอดี ทางสายกลาง ความถูกต้อง ดี งาม ซึ่งจะปรากฏอีกครั้งในปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ไม่กี่ปีหลังจากนั้น
"คำว่าพอสมควรนั้นเป็นหัวใจของประชาธิปไตย เพราะว่าการเลือกตั้งก็ตาม หรือการถกเถียงอะไรทุกสิ่งทุกอย่างก็ตาม ต้องได้ผลพอสมควรทั้งนั้น เพราะทุกคนมีผลประโยชน์ มีความต้องการแตกต่างกัน และก็มีเสรีภาพ ความแตกต่างนั้นอาจทำให้เบียดเบียนกันได้ ก็ต้องมีผลพอสมควร จึงจะมีความเรียบร้อย มีความเงียบสงบ แต่ถ้าแต่ละคนเห็นแก่ตัว มีแต่จะเอาผลเต็มที่สำหรับตัว เชื่อว่าอีกคนหนึ่งเขาก็เดือดร้อน ประชาธิปไตย หรือความเป็นอยู่ของสังคมของชาติ อยู่ที่แต่ละคนมีความสุขพอสมควร จะได้ไม่เบียดเบียนกันอย่างเปิดเผย”