ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
อาจารย์ประจำคณะการทูตและการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิต
ในยุคที่โลกเผชิญกับวิกฤติสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ได้กลายเป็นแนวทางที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้นอย่างมากครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งตัวเศรษฐกิจสีเขียวไม่เพียงแค่ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ผ่านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) อีกด้วย สัปดาห์นี้ เราจะไปมองเศรษฐกิจสีเขียวและบทบาทของเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักในยุคปัจจุบันกันครับ
เศรษฐกิจสีเขียวคืออะไร และเหตุใดจึงสำคัญ?
ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็ต้องบอกว่า “เศรษฐกิจสีเขียวเป็นแนวทางที่มุ่งเน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม” ครับ ในอดีตเราอาจจะคิดว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นย่อมนำมาซึ่งการเสียสละด้านผลกระทบ อาทิ การก่อให้เกิด pollution หรือการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ ใช่ไหมครับ แต่เศรษฐกิจสีเขียว คือการคิดแนวใหม่ครับ ว่าจริงๆแล้วมันไม่จำเป็นต้องเสียสิ่งใดเพื่อให้ได้สิ่งใดมา แต่เราสามารถสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้
แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวจึงมีเป้าหมายหลายประการ เช่น การลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ลดการปล่อยมลพิษ และส่งเสริมพลังงานสะอาด รวมถึงการสร้างโอกาสในภาคส่วนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานหมุนเวียน เกษตรกรรมยั่งยืน และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ด้วยเช่นกัน
ดังนั้น เศรษฐกิจสีเขียวจึงมีความสำคัญในฐานะกรอบความคิดและการปฏิบัติในยุคใหม่ ที่มุ่งแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ รวมไปจนถึง เป็นโอกาสใหม่ๆทางเศรษฐกิจ นั่นเอง
บทบาทของเทคโนโลยีใหม่ในเศรษฐกิจสีเขียว?
เทคโนโลยีใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว ได้แก่
พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานน้ำ ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น แบตเตอรี่เก็บพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงและแผงโซลาร์เซลล์รุ่นใหม่ที่ลดต้นทุนการผลิต จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีต้นทุนที่ต่ำลง และอาจนำไปสู่ความแพร่หลายมากขึ้นอีกระดับในอนาคต
เทคโนโลยีการจัดการทรัพยากร (Resource Management) ในปัจจุบันต้องบอกว่า เราเชื่อได้ไม่ยากว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Internet of Things (IoT) จะสามารถช่วยมนุษย์ในการจัดการทรัพยากรน้ำ พลังงาน หรือขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าในอดีตอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ในสิงคโปร์ ที่ใช้ระบบจัดการน้ำอัจฉริยะที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและควบคุมการใช้น้ำได้แบบเรียลไทม์ เป็นต้น
การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) เมืองอัจฉริยะ เป็นหนึ่งในคอนเซปต์ที่หลายประเทศทั่วโลกผลักดันมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ในปัจจุบันจะเป็นตัวช่วยในการสร้างเมืองอัจฉริยะได้อย่างดียิ่ง เช่น การสร้างเมืองอัจฉริยะที่ใช้ระบบพลังงานสะอาด การจัดการจราจรด้วย AI และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดการปล่อยมลพิษในเขตเมือง ดังตัวอย่างของ โครงการ Smart City ของประเทศฟินแลนด์ ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนในการจ่ายไฟทั้งเมือง และใช้ระบบขนส่งมวลชนที่ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยเท่านั้น ด้วยพื้นที่ของเราจำกัดครับ
ท่านผู้อ่านครับ...แม้เศรษฐกิจสีเขียวและเทคโนโลยีใหม่จะมีศักยภาพสูง และมีโอกาสมากมาย แต่เราก็ยังคงหนีไม่พ้นความสำคัญของนโยบายของรัฐครับ เพราะนโยบายของรัฐจะเปรียบเสมือนใบเบิกทางในภาคส่วนต่างๆเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว หากภาครัฐมีนโยบายในการสนับสนุนอย่างเต็มที่ เช่น การสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวอย่างเป็นรูปธรรม ก็เชื่อได้ว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น น่าจะถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้นด้วยเช่นกัน
ดังนั้น วันนี้เราก็ต้องมองไปในอนาคตข้างหน้าครับว่า เศรษฐกิจสีเขียวมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศ ทั้งในมิติของสิ่งแวดล้อม และการคว้าโอกาสใหม่ๆ แต่การดำเนินการนั้นต้องไปด้วยกันทั้งระบบ
สำหรับประเทศไทยของเรา ก็หวังว่าทั้งระบบจะเดินไปข้างหน้าพร้อมๆกันในเร็ววันนี้ครับ
“Green Economy is not just an option; it is a necessity for a sustainable future.”
เอวัง