ภาคเอกชน เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลางหรือขนาดเล็ก ล้วนสร้างงานและสร้างรายได้ ให้กับประเทศ ภายใต้สโลแกน “มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิศรี” ของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ที่ต้องผ่ากับดักวิกฤติเศรษฐกิจ นอกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อัดฉีดเม็ดเงิน 10,000 บาท ผ่านกลุ่มเป้าหมายต่างๆไปในระบบแล้ว พวกเขาต้องทำอะไรเพิ่มเติมบ้าง

ข้อมูลจากสมุดปกขาวของหอการค้าไทย ปี 2567 ที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการ มีข้อเสนอ 3 ข้อหลัก เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน มีเนื้อหาที่น่าสนใจ ในกรอบความคิดและมุมมองของภาคเอกชน ดังนี้

1. การสร้างความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ โดยขอให้รัฐบาลออกมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชนและต้นทุนของผู้ประกอบการ ทั้งการควบคุมราคาสินค้าพื้นฐานและบริการที่จำเป็น การตรึงราคาค่าไฟฟ้า น้ำมันดีเซลรวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เป็นไปตามกลไกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) การผลักดันให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาพลังงาน (กรอ.พลังงาน) กระจายงบประมาณไปยังภูมิภาคอย่างทั่วถึง และเร่งใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไปยังกลุ่มเปราะบาง การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการคูณสองเพื่อช่วยเพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ มาตรการดึงการจับจ่ายใช้สอย เช่น มาตรการ Easy e-Receipt และมาตรการทางภาษีอื่น ๆนอกจากนั้น ยังขอให้รัฐบาลสานต่อการขับเคลื่อนการยกระดับเมือง และกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน (10 จังหวัดนำร่อง)

2. การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน SMEs การเร่งสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ เพื่อให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศได้ สนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อผ่านมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ และกองทุนต่าง ๆ ทั้ง สสว. บสย. และธนาคารแห่งประเทศไทย มาตรการส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการสู่ Smart SMEs การจัด Event แสดงสินค้าไทยในต่างประเทศ การสนับสุนเงินทุนสำหรับการขอรับรองด้านสิ่งแวดล้อมแก่ SME การจัดทำระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลสำหรับนิติบุคคล (Corporate digital ID) สำหรับแก้ปัญหาบัญชีม้า

3. การวางยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อการเติบโตในอนาคตอย่างยั่งยืน ได้แก่ เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ให้แล้วเสร็จตามแผนงาน EEC การจัดทำสิทธิประโยชน์เพื่อจงใจและดึงดูดการลงทุน และเสนอให้เพิ่มจังหวัดปราจีนบุรีเป็นอีก 1 จังหวัดที่รวมอยู่ในพื้นที่ EEC การอำนวยความสะดวกด้านการถ่ายลำทางเรือในระบบคอนเทนเนอร์ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง การเจรจากับเพื่อนบ้านเพื่อยกระดับจุดผ่านแดนทางการค้า การบริหารจัดการน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมและน้ำแล้งซ้ำซาก และการปรับปรุงนโยบายด้านแรงงาน