สถาพร ศรีสัจจัง

พัฒนาการของสังคมไทยในช่วงยุคพึ่งพิงธรรมชาติ-เกษตรกรรม เป็นมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่เรื่มมี “เซเปียนส์” (หรือคน อย่างน้อยก็จากหลักฐานทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในปัจจุบัน)เกิดขึ้นและป้วนเปี้ยนเร่ร่อนกันอยู่ในแผ่นพื้น “สุพรรณภูมิ” แห่งนี้ (ไม่ว่าจะอพยพเคลื่อนย้ายมาจากไหนหรือโดยเส้นทางไหน)

จนกระทั่งมีการขยายตัวของ “พลังการผลิต” (Production Power) ในปลายยุค “ชุมชนบุพกาล” (Primitive Commune)ผลักดันให้เกิดรูปแบบ “ความสัมพันธ์ทางการผลิต” (Relation of Production) รูปแบบใหม่ที่เหมาะสมกว่าขึ้น ในยุค “เกษตรกรรม” (Agricultural Era)  ที่เรียกกันว่าระบบสังคมแบบ “ศักดินานิยม” (Feudalism)

ระบบความความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบ “ศักดินานิยม” ในยุคเกษตรกรรมของสังคมไทย(อย่างน้อยก็คือสังคมคนที่เรียกกันว่า “ประเทศไทย” และ พื้นที่บริเวณใกล้เคียงในปัจจุบัน) เคลื่อนตัวพัฒนามาอย่างยาวนาน จากยุคชุมชนนครรัฐก่อนกรุงสุโขทัย(ทวาราวดี ละโว้ ตามพรลิงค์ ศรีวิชัย ฯ) ผ่านยุคสุโขทัย ผ่านยุคอยุธยา กระทั่งลุถึงยุครัตนโกสินทร์(รวมธนบุรี?)โดยมีการพัฒนาและสั่งสม “อัตลักษณ์” ตามแบบจำเพาะของตนเองมาอย่างยาวนาน

ทั้งหมดแห่งพัฒนาการเหล่านั้น ล้วนเกิดจากปมแห่งความสัมพันธ์ของเงื่อนไขภายในของสังคม หรือ “อัตวิสัย” (subjectivity) กับปัจจัยภายนอกหรือ “ภววิสัย” (Objectivity) ของแต่ละห้วงเวลา

ตั้งแต่สังคมไทยเริ่มก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา โลกก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขึ้นกว่าเก่า พลังการผลิตที่ขยายตัวอย่างมากด้วยปัจจัยหลายประการของสังคมตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน พร้อมๆกับการเกิดขึ้นขึ้น “ประเทศพลังใหม่” อย่างสหรัฐอเมริกา ก่อเกิดการ “ปฏิวัติอุตสาหกรรม” ขึ้น แล้วแพร่กระจายส่งผลสะเทือนต่อโลกอย่างรวดเร็ว

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 (The first industrial revolution) เกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษในปี ค.ศ.1784 หรือพ.ศ.2327 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช(เพิ่งตั้งกรุงเทพฯได้ 2 ปี) ขณะที่สังคมโลกแทบทั้งหมดยังอยู่ในระบบเสังคมแบบกษตรกรรม

จากเดิมที่การเกษตรใช้แรงงานคนและสัตว์เป็นหลัก เริ่มเปลี่ยนมาเป็นการใช้เครื่องจักรเป็นตัวทุ่นแรง ที่สำคัญคือการเกิดขึ้นของเครื่องจักรไอน้ำโดยนักประดิษฐ์ชื่อ เจมส์ วัตต์ (James Watt) ที่พัฒนามาจากต้นแบบของนายโทมัส นิวโคเมน (Thomas Newcomen)อีกที

นี่นับเป็นจุดเริ่มต้นของระบบ “อุตสาหกรรมโรงงาน” ที่เริ่มเข้ามาแทนที่ระบบเกษตรกรรมแบบเดิม โดยเฉพาะการบุกเบิกเครื่องทอผ้าในอุตสาหกรรมสิ่งทอ จากนั้นก็เกิดการขยายตัวครั้งใหญ่ของการผลิตด้วยเครื่องจักรในหลากหลายกิจกรรมการผลิต

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2  เกิดขึ้นในประเทศ “พลังใหม่” คือสหรัฐอเมริกา เมื่อประมาณปีค.ศ. 1870 หรือพ.ศ.2413 ซึ่งตรงกับปีที่ 3 ในการขึ้นทรงราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

การปฏิวัติทางเทคนิคในการผลิตที่สำคัญยิ่งครั้งนี้ คือการเปลี่ยนจากพลังงานถ่านหินมาสู่การใช้พลังงานไฟฟ้า ก๊าซ และน้ำมัน รวมไปถึงการเกิดขึ้นของ ระบบสายพาน ที่นำโดยนายเฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) ทำให้สามารถเร่งประสิทธิภาพการผลิตรถยนต์ได้สูงขึ้น ทั้งรวดเร็วและลดต้นทุน จนทำให้แทบทุกอุตสาหกรรมหันมาใช้ตาม เริ่มเกิดยุคการผลิตที่เรียกกันว่า “Mass Production” อย่างที่เรารู้จักกันในระบบการผลิต “สินค้า” ในยุคปัจจุบัน

และในช่วงยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม(การเกษตร)ครั้งที่ 2 นี้เอง ที่ไทยต้องพบกับวิกฤติทางการเมืองสำคัญๆหลายครั้ง เกี่ยวกับการรุกรานของชาติตะวันตก (ที่สำคัญคืออังกฤษและฝรั่งเศส)ที่ต้องการยึด “สยาม” เป็นเมืองขึ้นหรือประเทศอาณานิคม เหมือนที่ทำสำเร็จมาแล้วกับชาติเพื่อนบ้านในเอเซียอาคเนย์ทั้งหมด!

แต่มีนักวิชาการบางฝ่ายวิเคราะห์ว่า ด้วยพระราชวิเทโศบายที่เตรียมการต่อเนื่องมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 3 (ดังได้กล่าวถึงในรายละเอียดมาก่อนบ้างแล้ว) ประกอบกับพระปรีชาสามารถอย่างยิ่งในนโยบายต่างประเทศของ “สมเด็จพระปิยมหาราช” พระองค์นั้น

จึงทำให้ “สยาม” รอดพ้นวิกฤติและสามารถดำรงเอกราชไวัได้อย่างอย่างสง่างาม อันเป็นภาพสะท้อนถึงลักษณะพิเศษ “จำเพาะ” ที่ “แตกต่าง” อย่างชัดเจนประการหนึ่งในเรื่องพัฒนาการและความเป็นมาของ “สถาบันกษัตริย์” ไทย!

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 เกิดขึ้นพร้อมกับการเกิด “นวัตกรรมเปลี่ยนโลก” ชิ้นสำคัญคือ “คอมพิวเตอร์”!

คอมพิวเตอร์เกิดขึ้นครั้งแรกในปีค.ศ. 1946 หรือ พ.ศ. 2489 ตรงกับรัชสมัยล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช(เป็นปีแรกแห่งการขึ้นทรงราชย์และเป็นปีที่ 14 ปีหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองประเทศ ซึ่งในปีนั้นมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีถึง 3 ครั้ง ภายใต้การนำของนายกฯที่ชื่อ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช/นายปรีดี พนมยงค์ และ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ตามลำดับ)

และวงการอุตสาหกรรมเริ่มนำ “คอมพิวเตอร์” มาประยุกต์ใช้ประมาณปีค.ศ.1969 ทำให้เกิดการผลิตแบบอัตโนมัติอย่างกว้างขวาง  สามารถผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนได้ ส่งผลให้กระบวนการผลิตสินค้ายิ่งเพิ่มประสิทธิภาพและมีมาตรฐานมากขึ้น

ขอให้สังเกตให้จงดีว่า “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” นั้น เบื้องแรกเกิดขึ้นเพราะการขยายตัวของพลังในการผลิตในยุคที่มีระบบเศรษฐกิจ การเมืองแบบ “ศักดินานิยม” (Feudalism) สังคมมีลักษณะ “การผลิตเพื่อใช้” เป็นหลัก แล้วค่อยๆพัฒนา “การผลิต” ขึ้นจนเกิด “ระบบตลาด” ที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ ผลผลิตที่เกิดจากแรงงานมนุษย์ และ “เครื่องมือในการผลิต” (คือเทคโนโลยีที่มนุษย์คิดสร้างขึ้นได้) ก็ค่อยๆกลายเป็น “สินค้า” ที่ต้องการ “กำไร” เพิ่มขึ้น จนก่อเกิดรูปแบบ “ความสัมพันธ์ทางการผลิต” แบบใหม่ที่เรียกว่า “ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี-ทุนนิยม” เข้าแทนที่ระบบการผลิตแบบ “ศักดินา” อย่างเต็มรูปในที่สุด

และสิ่งที่เรียกว่ายุค “อุตสาหกรรม” ในระบบการเมือง-เศรษฐกิจแบบ “ทุนนิยมเสรี” นี้เองที่ก่อเกิดผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงในหลายๆด้านต่อมนุษย์(เซเปียนส์)และต่อโลก อย่างรวดเร็วและรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง!