เสรี พงศ์พิศ

 Fb Seri Phogphit

เมื่อเกิดโควิด 4 ปีก่อน นักท่องเที่ยวที่เคยมาประมาณ 40 ล้านคนหายไปเกือบหมด บทเรียนคือ การหวังพึ่งการท่องเที่ยวอย่างที่เคยทำเป็นการเสี่ยงอย่างยิ่ง

วันนี้เราตื่นเต้นกันที่ดูเหมือนทุกอย่างกำลังกลับมา โดยอาจลืมไปว่า ถ้าไม่มีโรคระบาด มีสงครามใหญ่ หรือเหตุร้ายอื่นเราจะอยู่กันอย่างไร หรือแม้แต่ไม่มีปัญหาใหญ่ แต่เราอาจจะ “โลภ” จนทำลายตัวเอง

สถานการณ์วันนี้อาจเหมือนคนที่หิวโซมานาน เห็นอาหารเต็มโต๊ะก็กินเต็มที่ แบบ “เสียดายของท้องแตกไม่ว่า” ขอให้ไทยเราได้บทเรียนอีกด้านหนึ่งของการท่องเที่ยวที่กำลังเกิดขึ้นหลายเมืองหลายประเทศทั่ว

โลก ที่การท่องเที่ยวกำลังมี “ผลลบ” ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น จนมีการประท้วงต่อต้าน

การท่องเที่ยวทำให้เกิดรายได้ เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้นก็จริง แต่อีกด้านก็กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ สร้างปัญหาให้คนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องธุรกิจที่ได้อานิสงส์จากการท่องเที่ยวโดยตรง

เมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ หลายแห่งเริ่มมีมาตรการ “จำกัด” นักท่องเที่ยว เพื่อลดผลกระทบ อย่างที่ เวนิส, บาร์เซโลนา, เตเนรีฟ หมู่เกาะคานาเรียสของสเปน, อัมสเตอร์ดัม, ฮัลชตัต (ออสเตรีย), ดูบรอฟนิค (โครเอเชีย), ซานโตรีนี (กรีซ), มาชู ปีชู (เปรู), เรชาวิค (ไอซ์แลนด์), ภูฐาน, เกียวโต, บาหลี, นครวัด เป็นต้น

การท่องเที่ยวส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐาน ที่พักอาศัยถูกทำให้เป็นโฮมสเตย์ คนท้องถิ่นไม่มีที่อยู่ ค่าเช่าแพงขึ้นหรือขาดแคลนในเมือง ต้องไปอยู่นอกเมือง สิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบ มลภาวะ น้ำ พลังงานขาดแคลน การขนส่ง บริการสาธารณะต่างๆ

กระทบต่อวิถีชีวิต การจราจร เสียงดัง ค่าครองชีพที่สูง อุณหภูมิที่สูงขึ้นพร้อมมลพิษ รถ เรือ เครืองบิน  การทำลายอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่กลายเป็นสินค้า ทำลายคุณค่าดั้งเดิม โบราณสถาน สิ่งก่อสร้างเก่าแก่ มรดกทางวัฒนธรรม  น้ำเน่าน้ำเสีย

เมืองที่ยกมาต่างก็มีมาตรการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบทางลบของการท่องเที่ยว เช่น การจำกัดจำนวนโดยขึ้นค่าเข้าชม กำหนดโควตา การจองล่วงหน้า ภาษีเพื่อกองทุนในการอนุรักษ์สถานที่ท่องเที่ยว เสนอทางเลือกหลากหลายให้นักท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวนอกฤดูท่องเที่ยวทางเลือก เพื่อสิ่งแวดล้อม ท่องเที่ยวชุมชน เกษตร สุขภาพ เป็นต้น

บาร์เซโลนา กำหนดกฎเกณฑ์เข้มงวดสำหรับการเช่าระยะสั้น Airbnb กำหนดจำนวนเรือสำราญที่เข้าเทียบท่า ส่งเสริมสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในบาร์เซโลนาเอง ทางเลือกที่ไม่ไกลนัก

อัมสเตอร์ดัมมีปัญหาคนแน่นเกินไปในบางสถานที่ทางประวัติศาสตร์ กระทบโครงสร้างพื้นฐาน ปัญหาพฤติกรรมไม่เหมาะสมของนักท่องเที่ยว  จึงจำกัดร้านค้าเพื่อนักท่องเที่ยวในเมือง ขึ้นภาษีท่องเที่ยวสำหรับที่พัก  จำกัดการท่องเที่ยวแบบมีไกด์ในย่านเริงรมย์  ส่งเสริมที่ท่องเที่ยวนอกเมือง

เวนิสห้ามเรือสำราญใหญ่เข้าไปในย่านประวัติศาสตร์  เก็บค่าเข้าเมืองปีนี้ประมาณ 200 บาทถ้าจ่ายล่วงหน้า ถ้าไปจ่ายก่อนเข้าจะเสีย 400 บาท เวนิสส่งเสริมการไปท่องเที่ยวที่มีคนไปน้อยตามเกาะต่างๆ

บาหลีได้รับผลกระทบ สิ่งแวดล้อมเสีย มลพิษ และการพัฒนาที่เกินขนาด จึงจะเก็บภาษีท่องเที่ยว 350 บาทเริ่มปี 2025 เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์  แบนการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง ปิดชายหาดบางแห่งเพื่อฟื้นฟู

ฮัลชตัต ออสเตรีย หมู่บ้านสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีทะเลสาบ ภูเขา มีนักท่องเที่ยวมากเกินไป จึงจำกัดจำนวนรถบัสที่เข้าเมืองในแต่ละวัน และส่งเสริมการท่องเที่ยวลองสเตย์มากกว่าไปเที่ยวรายวัน

เมืองเหล่านี้พยายามสร้างความสมดุลระหว่างผลได้ทางเศรษฐกิจของการท่องเที่ยวกับการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และคุณภาพชีวิตของคนท้องถิ่น

บ้านเรามีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงมาก แต่ก็ต้องแลกกับหลายอย่าง โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวอย่างกรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา สมุย ความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ มลภาวะ การทำลายป่า ปะการัง ขยะที่ล้นเมือง โดยเฉพาะพลาสติก ปัญหาอาชญากรรมที่แฝงมากับการท่องเที่ยว

ยังมีผลกระทบทางวัฒนธรรม  ศาสนพาณิชย์ ใช้สถานที่ทางศาสนาและพิธีรรมงานฉลองต่างๆ เป็นการค้ามากเกินไป ทำลายอัตลักษณ์และคุณค่าดั้งเดิมของวัฒนธรรม ทำให้ประเพณีกลายเป็นเพียงมหรสพให้คนชม

การหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวอาจเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น เพราะเห็นคุณค่าของนักท่องเที่ยวมากกว่าคนท้องถิ่น นักท่องเที่ยวกลายเป็น “เป้าหมาย” คนท้องถิ่นและวัฒนธรรมกลายเป็น “เครื่องมือ” เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม  การท่องเที่ยวรวมศูนย์ในเมืองหลัก ขณะที่ชนบท เมืองรองถูกละเลย

เราอาจจะตื่นเต้นกับตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวและจำนวนรายได้ แต่ทั้งสองอย่างเป็นการกระจุกอยู่ในเมืองและแหล่งท่องเที่ยวหลัก และธุรกิจการท่องเที่ยวโดยตรง แม้จะมีการส่งส่งเสริมการท่องเที่ยวหลากหลาย มีการเสนอทางเลือกต่างๆ ในภูมิภาคและเมืองรอง แต่ก็ยังเห็นปรากฏการณ์ “รวยกระจุกจนกระจาย”

บ้านเรามีศักยภาพที่รอการพัฒนาอีกมาก เช่นการท่องเที่ยวสีเขียว ท่องเที่ยวชุมชน โฮมสเตย์ เพื่อกระจายรายใด้ให้ท้องถิ่น ให้นักท่องเที่ยวมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน วิถีชีวิตวัฒนธรรม ทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนและการประกอบการในท้องถิ่นให้มากที่สุด

งานประเพณีอย่างปีใหม่ สงกรานต์ เข้าพรรษา ออกพรรษา ลอยกระทงและอื่นๆ ส่งเสริมนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กไปร่วมพิธีในชุมชนหมู่บ้าน อำเภอหรือเมืองรอง ไม่ใช่แบบผู้ชม แต่ไปร่วมพิธีจริงๆ

เป็นโอกาสให้ไปท่องเที่ยวสุขภาพ ฝึกสมาธิ โยคะ สปา นวด ท่องเทียวผจญภัย ท่องเที่ยวอาหาร การจัดกีฬาต่างๆ มวย มาราธอน ไตรกีฬา จักรยาน ตลอดจนการศึกษา ให้คนต่างชาติมาศึกษาแลกเปลี่ยน  การทำงานดิจิทัลทางไกล  การพักลองสเตย์ โดยเฉพาะหลังเกษียณ บ้านหลังที่สองของคนสูงวัยนานาชาติ

การท่องเที่ยวที่ดีและยั่งยืน คือ ความสมดุลระหว่างความสุขของผู้มาเยือนและคุณภาพชีวิตของเจ้าบ้าน