สถาพร ศรีสัจจัง

“…การต่อไปภายหน้า…การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่ดีควรจะเรียนร่ำเอาไว้ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว…”

พระราชดำรัสสำคัญยิ่งของรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นรัชสมัยสำคัญในการเริ่มเปิดความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก เช่น เปิดความสัมพันธ์กับอังกฤษ ฝรั่งเศส และ ทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศโดยตรงกับสหรัฐอเมริกา(เป็นชาติแรกของเซีย) ที่ทรง “เตือนสติ” เหล่าอำมาตย์ราชบริพารก่อนจะเสด็จสวรรคาลัยดังกล่าวนี้

น่าจะเป็น “วาทกรรม” สำคัญยิ่ง ที่เป็นแรงผลักดันให้พระมหากษัตริย์ผู้นำ “ระบบศักดินา” แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้สืบพระราชอำนาจในการปกครองประเทศสืบต่อจากพระองค์ ทรงตระหนักถึง “ภัยจากชาติตะวันตก” ดังกล่าว

โดยเฉพาะล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 4 และ ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5

คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็น “พระปิยมหาราช”(มหาราชอันเป็นที่รัก) ของเหล่าพสกนิกรชาวสยาม!

เหมือนจะทรงรู้ถึง “ความจำเป็น” เพื่อเตรียมการในตั้งรับ “การรุกเข้ามา” ของ “ชาติตะวันตก” ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 4  แต่ครั้งเมื่อยังทรงเป็น “พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ” ก็ทรงตื่นตัวในการเรียนเพื่อที่จะ “รู้เขา” (คือรู้ถึงเรื่องราวต่างๆของบรรดาประเทศจักรวรรดินิยมตะวันตกที่กำลังรุกเข้ามาล่าอาณานิคมอยู่ในทวีปเอเซีย)

เริ่มต้นจากการตั้งใจจะ “เรียนภาษาอังกฤษ” กับเจ้าของภาษา ซึ่งก็คือบรรดามิชชันนารีหรือหมอสอนศาสนา(คริสต์)ที่เข้าปักหลักมั่นลงแล้วในสยามต้้งแต่รัชกาลที่ 3

“หมอปลัดเลย์” (แดน บีช แบรดลีย์) นายแพทย์และหมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน(ที่เข้ามาตั้งรกรากในสยามตั้งแต่รัชกาลที่ 3) เป็นคนสำคัญคนหนึ่งที่บันทึกหลักฐานเรื่องการเรียนภาษาอังกฤษของร.4 เมื่อยังดำรงพระยศเป็น “ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ” เอาไว้

คือระบุว่า กษัตริย์พระองค์นี้ ทรงจัดให้มีห้องเรียนภาษาอังกฤษขึ้น ในช่วงฤดูร้อน พ.ศ. 2388 ณ ห้องแห่งหนึ่งริมวัดบวรนิเวศ โดยมีผู้สอนคือ ศาสนาจารย์ชาวอเมริกันชื่อ “เจสสี แคสเวลล์” และมีผู้เรียนนอกจาก “ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ” แล้วก็ยังมี “คนหนุ่ม” อีก 10 คน และ “พระภิกษุ” (วัดบวรฯ)อีก 2-3 รูปเข้าร่วมห้องเรียนด้วย

ใครสนใจรายละเอียดเรื่องนี้แบบอยากลงลึก ขอให้ติดตามอ่านได้จากข้อเขียนของ “สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงศ์” ในศิลปวัฒนธรรมออนไลน์ ประจำวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567

เมื่อขึ้นทรงราชย์แล้ว นอกจากตัวพระองค์เองจะทรงเชี่ยวชาญแตกฉานการใช้ภาษาอังกฤษแล้ว ยังทรงส่งเสริมให้เจ้าจอม(บางพระองค์)และบรรดาพระราชธิดาทรงเรียนภาษาอังกฤษด้วย

อย่างที่รู้ๆกันว่าทรงจ้าง “แหม่มแอนนา” หรือ นางแอนนา เลียวโนเวนส์ มาทรงสอนนั่นไง!

ครั้นถึงรัชสมัยล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงให้ความสำคัญเรื่องการเรียนภาษาอังกฤษถึงขั้นเปิด “คลาส” เพื่อสอนโดยตรงกันทีเดียว

เรื่องนี้มีรายละเอียดว่า เริ่มขึ้นเมื่อพ.ศ.2415 มีนายหรานซิส จอร์ช แพทเทอร์สัน ครูชาวอังกฤษเป็นผู้สอน และมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ที่ทรงทันเรียนภาษาอังกฤษกับ “แหม่มแอนนา” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำหน้าที่เป็นล่าม

นี่คือความตระหนักรู้ในเรื่องวิเทโศบายในการ “เตรียมรับการรุกรานของฝรั่ง” ที่สำคัญยิ่ง เพราะการสร้างคนที่ “รู้ภาษาอังกฤษ” นอกจากจะเป็นการสร้าง “เทคโนแครต” อย่างสำคัญแล้ว คนเหล่านั้นย่อมสามารถเปิดวิสัยทัศน์ตนและผู้เกี่ยวข้องให้ “มีความรู้แบบฝรั่ง” อย่างกว้างขวางขึ้นอย่างรวดเร็ว

“ความตระหนักรู้” และ “เตรียมการตั้งรับ” ชาติตะวันตก ที่เริ่มมาแต่รัชกาลที่ 3 พัฒนาเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆจนลุถึงรัชกาลที่5 นั้น ส่งผลอย่างสำคัญยิ่ง เพราะช่วยสร้างความสามารถในการวาง “พระราชวิเทโศบาย” ได้อย่างทันการและอย่างชาญฉลาด

จนสามารถแก้ปัญหาการรุกรานประเทศ “สยาม” เพื่อเอาเป็น “เมืองขึ้น” ของบรรดาประเทศจักรวรรดินิยมตะวันตกสำคัญๆในยุคนั้น อย่างอังกฤษและฝรั่งเศส

โดยเฉพาะในห้วงรัชสมัยของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 นั้น อาจกล่าวได้ว่า ทั้งจักรวรรดิอังกฤษและฝรั่งเศส ได้ก่อการข่มขู่คุกคาม “สยาม” ด้วยศักยภาพทางการทหารที่เหลือกว่าโดยตรงมากขึ้น พระองค์ทรงใช้ “พระราชวิเทโศบาย” ในการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างชาญฉลาดจนสามารถหลุดพ้นจาก “ปากเหยี่ยวปากกา” ไม่ต้องเสียเอกราชของชาติ กลายเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งอั้งม้อ เหมือนบรรดาประเทศเพื่อนบ้านในเอเซียอาคเนย์ทั้งหลายไปได้อย่างสง่างาม

พระราชวิเทโศบายสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าวปรากฏขัดอยู่ในพระราชหัตเลขาที่ทรงมีถึงสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า “…การจะรักษามิให้มีอันตรายทั้งภายในถายนอกได้ มีอยู่ 3 ประการ คือ พูดจากันทางไมตรีอย่างหนึ่ง มีกำลังพอจะรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้อย่างหนึ่ง การปกครองให้เสมอกันอย่างหนึ่ง…”

รายละเอียดเกี่ยวกับ “การแปลนโยบายเป็นภาคปฏิบัติ” ของ “ผู้นำระบบศักดินาสยาม” ในยุคเศรษฐกิจแบบเกษตรกรรมพระองค์นี้ จะเป็นไปอย่างจริงจัง กว้างขวาง และทันการอย่างไรบ้างนั้น มีผู้ทำการวิจัยศึกษาและตีพิมพ์เผยแพร่ไว้มากแล้ว ใครที่สนใจจะลงลึกในรายละเอียดย่อมสามารถเสาะหาแหล่งข้อมูลเพื่อศึกษาเรียนรู้ได้โดยไม่ยากนัก

ถ้าอ่านงานวิจัยแล้วยากไป ก็แนะนำให้ลองไปหาข้อเขียนเชิง “บทความวิชาการ”

เรื่อง “พระราชวิเทโศบายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว : การรักษาเอกราชจากจักรวรรดินิยมตะวันตก” ของ ศันสนีย์ วรศิลป์ชัย ที่ตีพิมพ์อยู่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2555

บางทีอาจจะข่วยทำให้ “ตาแจ้ง” ขึ้นบ้าง !!