ทวี สุรฤทธิกุล

ทักษิณแปลว่าทิศใต้ และพระอาทิต์ไม่เคยตกทางทิศนี้ แต่ตกทางทิศตะวันตกเท่านั้น

พระอาทิตย์ลับโลกหรือตะวันตกดินเป็นสำนวนไทย มีนัยว่าชีวิตมีขึ้นก็มีลง มีเกิดก็มีดับ มีรุ่งเรืองก็มีอับเฉา รวมถึงที่หมายความว่า ไม่ว่าคุณจะยิ่งใหญ่มีพลังมากสักเพียงไหน เหมือนดวงอาทิตย์ที่ว่าร้อนแรงและยิ่งใหญ่ ก็ยังมีวันดับสูญหรือหมดพลังไปได้ ในทำนอง “ไม่มีใครใหญ่ค้ำฟ้า” กระนั้น

ผู้เขียนได้ดูข่าวนายทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปช่วยพรรคเพื่อไทยหาเสียงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่อุดรธานี แล้วก็เกิดความรู้สึกว่าอดีตนักโทษชายคนนี้(ที่จริงไม่เคยรับโทษเลยสักวันเดียว)ที่ยังหลงระเริงว่าตัวเองยิ่งใหญ่ล้นเหลือ น่าจะกำลัง “อับแสง” หรือหมดยุคของเขาแล้ว เหมือนพระอาทิตย์กำลังลับโลกหรือตะวันกำลังตกดินกระนั้น

ไม่นับปัจจัยเกี่ยวกับสุขภาพที่กำลังร่วงโรยและคดีความ(นักโทษทิพย์)ที่ยังยุ่งเหยิง เอาแค่เรื่อง “ภูมิทัศน์การเมือง” ที่เปลี่ยนแปลงไป นายทักษิณก็กำลังถูกปิดล้อมด้วย “ทุปัจจัย” หรือเรื่องร้าย ๆ ในทางการเมืองมากมาย

เรื่องแรก นายทักษิณพยายามพูดอยู่โดยตลอด ล่าสุดนี้ก็ที่อุดรธานีว่าโลกเปลี่ยนไปมาก เราต้องเปลี่ยนตัวเองให้ทัน แต่ที่นายทักษิณแสดงออกมากลับเป็นว่าโลกยังหมุนรอบนายทักษิณ นายทักษิณเองนั่นแหละที่ยังไม่เปลี่ยน และยังงมงายอยู่ว่าตัวเองยิ่งใหญ่ล้นเหลือ (ที่อุดรนั้นยังพูดอีกว่าจะพาพรรคเพื่อไทย “แลนด์สไลด์” ในการเลือกตั้งครั้งหน้า สักครู่ก็เสียงอ่อนลงมาว่า “อย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า 200” เหมือนจะสะอึกความมั่นใจ ที่สะท้อนว่าไม่ได้เชื่อมั่นใน “คำขี้โม้” ของตัวเองเท่าใดนัก) แต่ตั้งแต่ที่แพ้เลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานีเมื่อก่อนนี้แล้ว ก็ดูเสื่อมความมั่นใจไปมาก ดังนั้นคำพูดของนายทักษิณน่าจะ “เชื่อถือและเอาอะไรเป็นจริงไม่ได้”

เรื่องต่อมา สถานะของนายทักษิณในพรรคเพื่อไทยน่าจะ “ตกต่ำ” เช่นกัน โดยวิเคราะห์จากการที่นายทักษิณต้องพยายาม “แบกดัน” ลูกสาวตัวเองให้อยู่ในตำแหน่นายกรัฐมนตรีนี้ให้ได้ต่อไป ดังนั้นนายทักษิณจำใจต้อง “งอนง้อ” สส.พรรคเพื่อไทยจำนวนมาก (การยอมไปช่วยหาเสียงทั้งที่รู้ว่าเสี่ยงต่อการเสียหน้าและหมดราคา ก็คืออาการ “จำใจ” เอาใจคนอื่น ๆ ซึ่งแต่ก่อนนายทักษิณไม่ใช่คนแบบนี้ เพราะเป็นคนเอาแต่ใจตัวเองหรือตัวเองเป็นศูนย์กลางดังกล่าว) ในทางรัฐศาสตร์คือสภาพที่กำลัง “เสื่อมบารมี” โดยที่ในขณะนี้นายทักษิณก็ไม่สามารถใช้ยุทธวิธีเก่า ๆ ในการแสดงพลังอำนาจ เช่น ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีคุมคนทั้งพรรค(และพรรคอื่น ๆ)ให้ยอมสยบ รวมถึงใช้อำนาจทางธุรกิจหรือใช้เงินสร้างบารมีแบบแต่ก่อน เช่น การซื้ออำมาตย์หรือองค์กรอิสระต่าง ๆ ตอนนี้นายทักษิณเหลือ “บารมีสมบัติ” อยู่อย่างเดียวคือลูกสาว ที่ก็อยู่ในสภาพ “ย่ำแย่” พอ ๆ กัน ซึ่งถ้าหากว่านางสาวแพทองธารเกิดมีอันเป็นไป บารมีของนายทักษิณก็ต้องหมดสิ้นไปด้วยเช่นกัน

อีกเรื่องหนึ่ง นักการเมืองไทยมีสภาพแบบที่เรียกว่า “ลูกเสือลูกตะเข้” คือจะเลี้ยงดูดีปานใด ที่สุดสัตว์ร้ายก็ยังเป็นสัตว์ร้ายวันยังค่ำ นายทักษิณก็น่าจะรู้ดีว่าตัวเขาเองก็อยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบนี้มาตลอด (ดูอย่างกรณีนายเนวิน ชิดชอบ ที่เพิ่งเขียนถึงไปในคอลัมน์นี้สองสัปดาห์ติดกัน) แม้ในทุกวันนี้นายทักษิณก็คงยังอยู่ใน “ฝันร้าย” นั้นทุกวันคืน แม้แต่ในพรรคเพื่อไทยปัจจุบัน คนในพรรคจำนวนมากก็ย้ายพรรคกันไปมา “ตัวใหญ่ ๆ” หลายคนก็เคยไปอยู่ขั้วตรงข้ามมาแล้ว แล้วก็พากัน “ขี้หมูไหล” กลับคืนมาพรรคเพื่อไทยอีก ซึ่งก็จะเห็นว่าในการจัดตั้งตำแหน่งต่าง ๆ ในรัฐบาลชุดนี้ ตั้งแต่รัฐมนตรีลงมาถึงตำแหน่งการเมืองในกระทรวงต่าง ๆ มีลักษณะเป็น “กระจายขั้วอำนาจ” ให้เกิดความสมดุลในทุก ๆ พื้นที่ โดยเฉพาะภาคอีสานที่ให้ตำแหน่งแก่ “ลูกหลาน” ของนักการเมืองในฝ่ายนักรบเสื้อแดงค่อนข้างชัดเจน แสดงให้เห็นว่าคนที่มีอำนาจในพรรคเพื่อไทย “แคร์” ต่อกระแสประชาชนในพื้นที่ค่อนข้างมาก หรือถ้าจะมองอีกมุมหนึ่ง การซื้อ สส.หรือประชาชนด้วยเงินแบบในอดีตน่าจะไม่ได้ผลดี จำเป็นจะต้องเปลี่ยนเป็นการให้เกียรติและ “ยกย่อง” ด้วยตำแหน่งต่าง ๆ แบบนี้ เพื่อเลี้ยงดูให้เชื่องไปอีกสักระยะ หรืออย่างน้อยก็ไม่ “แหกคอก” หนีไปในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ผู้เขียนเคยทำงานใกล้ชิด “ผู้มากบารมี” คนหนึ่งคือ ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ใน พ.ศ. 2526 ท่านนำพรรคกิจสังคมชนะเลือกตั้งได้ สส.เข้ามาถึง 99 คน และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลให้กับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แต่ในพรรคของท่านก็มีปัญหามาก เพราะมีสภาพที่ไปเอา “ลูกเสือลูกตะเข้” มาเลี้ยงอยู่เต็มพรรค จนถึงปลายปี 2528 พรรคกิจสังคมแพ้เลือกตั้งซ่อมในเขตบางซื่อ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ขอลาออกจากหัวหน้าพรรค จากนั้นในการเลือกตั้งในปี 2531 พรรคกิจสังคมก็ได้ สส.เข้ามาเพียง 54 คน แล้วก็มีสภาพ “พรรคพัง” หลังรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 กระทั่งใน พ.ศ. 2544 บรรดา “ตัวใหญ่ ๆ” ในพรรคก็ “คลาน” เข้าไปอาศัยอยู่ในพรรคไทยรักไทย ของนายทักษิณคนนี้นี่แหละ

ผู้เขียนเป็นคนพิมพ์จดหมายลาออกของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ แล้วเอาไปส่งให้นายมนตรี พงษ์พานิช เลขาธิการพรรคกิจสังคม ใน พ.ศ. 2528 ข้อความในจดหมายแจ้งเหตุผลที่ท่านต้องลาออกว่า “เมื่อผมไม่มีความสามารถมากพอที่จะบริหารพรรคให้เรียบร้อยได้ต่อไป ผมก็ขอลาออกเสียตั้งแต่บัดนี้” ใจความสำคัญน่าจะอยู่ที่ “บริหารพรรคให้เรียบร้อย” ซึ่งผมก็ตีความแบบคนที่ทำงานใกล้ตัวกับท่านในช่วงนั้นว่า พรรคกิจสังคมมีสภาพที่ “ไม่เรียบร้อย” จนท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เบื่อและต้องลาออก แต่ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ทำงานใกล้ชิดกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มานานมากบอกกับผู้เขียนภายหลังว่า ความจริงที่ท่านลาออกก็เพราะท่าน “ปิ้งปลาประชดแมว” คือในพรรคกิจสังคมมีการแย่งชิงอำนาจกันมาก ท่านเห็นว่าคง “เอาไม่อยู่” ต่อไปอีกแล้ว จึงหาเหตุลาออก “โยนปลาให้แมวกินเสียเลย” เมื่อเลือกตั้งซ่อมแพ้ดังกล่าว

เล่าเรื่องท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ลาออกมานี้ก็เพื่อเป็นข้อเตือนใจให้กับนายทักษิณ(ซึ่งก็เคยเดินเข้าออกบ้านซอยสวนพลูในช่วงที่เป็นนายตำรวจติดตามให้กับรัฐมนตรีของพรรคกิจสังคมท่านหนึ่ง)ว่า เมื่อใดที่ รู้ตัว” ว่ากำลังจะเสื่อมบารมี ก็ควรที่จะ “ลงจากหลังเสือ” นั้นเสีย ส่วนหนึ่งก็เพื่อรักษาชีวิตรอด และอีกส่วนหนึ่งก็เพื่อรักษาตัวลูกสาวและวงศ์ตระกูลของตัวเองนั่นเอง

เว้นแต่ว่าแกจะไม่รู้ตัวและดันทุรัง “บ้าคลั่ง” ต่อไป ก็จงลับฟ้า “จมดิน” อย่าได้ผุดได้เกิดเลยฯ