สถาพร ศรีสัจจัง
อาจกล่าวได้ว่า “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” (Industrial Revolution)ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 นั้น เกิดในช่วงที่เป็น “ข้อต่อ” ระหว่างยุค “ราชาธิปไตย” (Abslute Monarchy)กับยุค “ทุน” (Capital Era) ซึ่งก็คือช่วงเปลี่ยนผ่านของระบบเศรษฐกิจโลกแบบ “ศักดินานิยม” (Fuedalism) สู่ระบบ “ทุนนิยม” (Capitalism) นั่นเอง
นักเศรษฐศาสตร์สาย “เศรษฐศาสตร์-การเมือง” โดยเฉพาะกลุ่มที่สมาทานแนวความคิดของคาร์ล มาร์กซ์ ชาวเยอรมัน (ที่อยู่เยอรมันไม่ได้เหมือนนายอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์)เป็นสรณะ อธิบายว่า เป็นเพราะ สังคมในระบบ “ศักดินานิยม” ในช่วงยามนั้นไม่สามารถรองรับการขยายตัวของ “พลังการผลิต” ทางสังคม ที่เติบโตขึ้นทุกทีๆได้
จึงเรียกหารูปแบบระบบ “ความสัมพันธ์ทางการผลิต” (Relation of Production)ชนิดใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของ “สังคมมนุษย์” ที่เปลี่ยนแปลงไป(ก็สังคมของพวกสปีชีส์เซเปียนส์ดั้งเดิมนั่นแหละ!)
และ “รูปแบบใหม่” ที่ว่าก็คือสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์สำนัก “ว่าด้วยความขัดแย้ง” เรียกว่า “ระบบทุนนิยม”(Capitalism)นั่นเอง ส่วนพวกที่นิยมระบบนี้เรียกระบบใหม่ที่เข้าแทนที่ระบบเศรษฐกิจแบบศักดินาว่า ระบบเศรษฐกิจแบบ “เสรีนิยม” (Liberalism)
จะจริงแท้แน่นอนหรือจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้างนั้น คงต้องข้ามๆกันไปก่อน ใครที่สนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ อยากรู้ลึกลงไปถึงรายละเอียดในเรื่องการเกิดและพัฒนาการ ก็ย่อมสามารถไปหาอ่านหาศึกษากันเอาเองได้โดยน่าไม่ยากเย็นเท่าใดนัก
และอย่างที่คนส่วนใหญ่พอจะรู้ๆกันอยู่ทั่วไปแล้วนั่นแหละ ว่าสิ่งที่เรียก “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” นั้นเกิดขึ้นใน “บริเตนใหญ่” (Great Britain) หรือ “สหราชอาณาจักร” หรือ ประเทศ “อังกฤษ” ขณะยังเป็นระบบราชาธิปไตยก่อน แล้วลามขยายไปสู่ยุโรปหลายประเทศ (ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็น “ราชาธิปไตย”)
จากนั้นจึงข้ามทวีปไปเติบโตขึ้นที่ “สหรัฐอเมริกา” ( United States of America)ซึ่งเป็นประเทศเกิดใหม่(บนรากของอังกฤษและชาติยุโรปนั่นแหละ)อย่างรวดเร็ว
ที่ว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเกิดใหม่ก็เพราะประเทศนี้เพิ่งได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นประเทศอย่างเป็นทางการจริงๆ ก็เมื่อมีการ “ประกาศอิสรภาพ” (จากอังกฤษ) ในปี พ.ศ.2319 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชของสยาม(ทรงครองราชย์ 6 พฤศจิกายน 2310-6 เมษายน 2325)เท่านั้นเอง!
ถ้าจะนับให้จำง่ายขึ้นก็คือ เกิดไม่ห่างจากปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแห่งกรุงสยามทรงสร้าง “กรุงรัตนโกสินทร์” ขึ้นมากนัก เพราะประวัติศาสตร์ไทยระบุไว้ว่า “…ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงประกอบพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10ค่ำ ย่ำรุ่งแล้ว 9 บาท (54นาที) ปีขาล จ.ศ.1144 จัตวาศก ตรงกับวันที่ 21 เมษายน 2325 เวลา 06.54 นาฬิกา”
สรุปก็คือห่างกันเพียง 6 ปี!
การขยายตัวทางเศรษฐกิจในอังกฤษและฝรั่งเศสที่เกิดจาก “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” ส่งผลโดยตรงต่อการล่าอาณานิคมที่ “ดุเดือดเลือดพล่าน” มากยิ่งขึ้น อังกฤษและฝรั่งเศสเริ่มกลายเป็น “จักรวรรดิ” แทนนักล่าอาณานิคมรุ่นเก่าก่อนหน้านั้น ซึ่งที่สำคัญได้แก่สเปน โปรตุเกส และฮอลันดาหรือเนเธอร์แลนด์ (ที่ติดต่อกับ “สยาม” มาตั้งแต่ยุคอยุธยา)
ถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่19 อังกฤษและฝรั่งเศสก็ยึดครองประเทศแถบเอเซียใต้และเอเซียอาคเนย์เป็นอาณานิคมแทบจะหมดสิ้น อังกฤษยึดได้ อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา พม่า และมลายู(ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ปัจจุบัน) ส่วนฝรั่งเศสยึดได้ เวียดนาม ลาว และกัมพูชา
แล้วประเทศ “สยาม” (หรือ “Thailand” ในปัจจุบัน)เล่า ทำไมชื่อจึงไม่เข้าไปรวมกลุ่มอยู่กับประเทศเพื่อนบ้านในฐานะ “ประเทศที่สูญเสียเอกราช” เหล่านั้น “สยาม” หายไปอยู่ไหน?
เรื่องนี้ช่างน่าสนใจ เห็นท่าต้องให้ความสำคัญและน่าจะคุยกันในรายละเอียดกันเสียสักหน่อยก็น่าจะดี เพราะอาจจะเป็นกลายเป็นเหมือนบทเรียนเรื่อง “ราก” แก่อนุชนคนไทยขั้นหลังให้ได้รับรู้กันบ้างไม่มากก็น้อยกระมัง?
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า “สยาม” นั้นติดต่อค้าขายกับบรรดาประเทศจักรวรรดินิยมตะวันตกมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่ยุคอยุธยา จนแม้กระทั่งถึงยุคธนบุรีและช่วงเริ่มตั้งกรุงรัตนโกสินทร์(รัชกาลที่ 1-2) ที่บ้านเมืองยังเพิ่ง “ตั้งหลักใหม่” ก็มีความพยายามที่จะเชื่อมโยงกับประเทศ “ทรงอำนาจสมัยใหม่” เหล่านั้นมาโดยตลอด
ภาพการติดต่อสัมพันธ์อย่างเป็นรูปธรรม(คือความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทั้งด้านการค้าและการเมือง)กับชาติมหาอำนาจตะวันตกเริ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงรัชสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว)
สองประเทศที่สำคัญยิ่ง เพราะเกิดความสัมพันธ์ในระดับการลงนามทำ “สัญญา” และ “สนธิสัญญา” ทั้งด้านการเมืองและการค้ากันทีเดียว คืออังกฤษและสหรัฐอเมริกา ความสัมพันธ์อย่างเป็นรูปธรรมชิดใกล้เชิงผลประโยชน์กับชาติตะวันตกเช่นนี้เอง ที่น่าจะมีส่วนทำให้ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 3 ทรงเกิดทรรศนะและได้ข้อสรุปในความบางเรื่อง
ดังปรากฏเป็น “ปากคำประวัติศาสตร์” ที่สำคัญลือลั่นยิ่งสืบมาวาทกรรมหนึ่ง นั่นคือ พระราชดำรัสของพระองค์ต่อบรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ (ขณะที่พระองค์กำลังประชวรหนักก่อนสิ้นพระชนม์)ที่ว่า :
“การต่อไปภายหน้า…การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่ดีควรจะเรียนร่ำเอาไว้ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว…”!!