ทุกวันนี้มีปัญหาเกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยและเสรีภาพอยู่หลายอย่าง คติของคนทั่วไปนั้นมักมีอยู่ว่า ประชาธิปไตยกับเสรีภาพนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรืออย่างน้อยก็เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน ณ ที่ใดซึ่งมีประชาธิปไตย ที่นั้นจะต้องมีเสรีภาพอยู่ด้วยเสมอไป เมื่อมีคติเช่นนี้แล้ว คำว่า “เสรีประชาธิปไตย” ก็ฟังแปร่งหู เพราะเมื่อประชาธิปไตยกับเสรีภาพเป็นของคู่กัน แล้วเหตุไฉนจะต้องเติมคำว่า เสรี” ลงไปข้างหน้าคำว่า “ประชาธิปไตย” อีกเล่า
ประเทศไทยมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ก็มักจะมีเหตุการณ์หรือการกระทำบางอย่างเกิดขึ้นบ่อย ๆ ที่เราเห็นเป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพของเราหรือทำให้เสรีภาพของเราถูกจำกัดลงไป สิ่งเหล่านี้จะต้องทำให้เราเกิดความวิตกกังวลบ้างไม่มากก็น้อย
คนทุกวันนี้มักจะยึดถือลัทธิทางการเมืองเอาง่าย ๆ ปราศจากความพิจารณาโดยละเอียด เราปล่อยให้ศัพท์แสงทางการเมืองซึ่งโดยมากมักจะมาจากการโฆษณาชวนเชื่อมาทับท่วมความคิดอันประกอบด้วยเหตุผลของเราเสียสิ้น ปัญหาต่าง ๆ ข้างต้นจึงเป็นสิ่งที่เราตอบไม่ได้ถนัด ทำให้เกิดความสงสัยกินใจและบังเกิดทุกข์ แต่ความทุกข์นั้นไม่มีทางแก้อันใดจะประเสริฐไปกว่าความรู้แจ้งเห็นจริง สิ่งที่เราควรจะเข้าใจเสียในเบื้องแรกก็คือ ประชาธิปไตยกับเสรีภาพนั้นมิใช่ของอย่างเดียวกัน ทั้งนี้มิได้หมายความว่าประชาธิปไตยกับเสรีภาพนั้นขัดกัน หรือไปด้วยกันไม่ได้ สิ่งที่ควรเข้าใจนั้น คือประชาธิปไตยกับเสรีภาพเป็นของคนละอย่าง และไม่จำเป็นจะต้องมีอยู่พร้อมกันเสมอไปเท่านั้นเอง เมื่อเรายอมรับความจริงข้อนี้เสียแล้ว ปัญหาของศัพท์ “เสรีประชาธิปไตย” ก็พอจะเข้าใจได้ และปัญหาของความยิ่งหย่อนแห่งเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยก็พอจะเข้าใจได้ และเมื่อเข้าใจแล้วก็พอจะหาทางแก้ไขได้
ที่ว่าประชาธิปไตยกับเสรีภาพเป็นของคนละอย่างนั้น ก็เพราะระบอบประชาธิปไตยนั้นเกี่ยวกับ “การกำหนดว่าใครจะเป็นผู้ปกครองแผ่นดินและถือเอาว่าประชาชนจะต้องปกครองแผ่นดิน โดยอาศัยความเห็นชอบของคนหมู่มากเป็นเกณฑ์” ส่วนระบอบเสรีนิยมนั้นเกี่ยวกับปัญหาว่า “ผู้ที่ปกครองแผ่นดินนั้น ควรจะปกครองอย่างไรจึงจะเป็นธรรม” และธรรมะของ
ระบอบเสรีนิยมนั้นก็คือการเคารพสิทธิของชนส่วนน้อย เสรีภาพในการพูด การเขียนแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการนับถือศาสนาอื่น ๆ เท่าที่พูดมานี้พอจะเห็นได้ว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องของ “ใคร” ในการปกครอง ส่วนเสรีนิยมเป็นเรื่องของ “อย่างไร” หรือวิธีไรในการปกครอง
รัฐหลาย รัฐในโลกที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยก็ยังยึดถือคติเช่นนี้ และนักการเมืองเป็นอันมากที่อ้างว่าตนเป็นเสรีประชาธิปไตย ก็ยังอาศัยอำนาจที่ได้มาจากประชาชนนั้นส่งเสริมอำนาจส่วนตัวของตนไม่มีที่สิ้นสุด ข้อสำคัญที่ควรระลึกไว้ก็คือ ประชาธิปไตยอันไม่ประกอบด้วยเสรีนิยมนั้น เกี่ยวกับปัญหาว่าใครจะเป็นผู้มีอำนาจปกครองแผ่นดินเท่านั้นเอง เมื่อได้กำหนดลงไปแล้วว่าใครเป็นผู้ปกครองแผ่นดิน ผู้นั้นก็มีอำนาจเป็นล้นพ้น และประชาธิปไตยในฐานะเช่นนี้อาจขาดเสรีภาพในหลายทางหรือทุกทางก็ได้ ในทางปฏิบัตินั้น การปกครองตนเองโดยประชาชน มิได้แปลว่าประชาชนต่างคนต่างมีสิทธิ์ปกครองตนเอง แต่แปลว่าเอกชนแต่ละคนอยู่ใต้ความปกครองของปวงชน ตามหลักนี้เสียงข้างมาก คือร้อยละ 51 ของปวงชน ก็อาจตั้งระบอบเผด็จการขึ้นทำลายชนส่วนน้อย และกระทำการอุกอาจต่าง ๆ ได้อีกมาก