ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
อาจารย์ประจำคณะการทูตและการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิต
ผ่านกันไปสดๆร้อนๆกับการเลือกตั้งสหรัฐที่ทั่วโลกจับตามอง และผลลัพธ์ก็คือการกลับเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่งของ โดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีวัย 78 ปี ผู้ซึ่งเป็นที่กล่าวถึงอย่างมากนับตั้งแต่การเป็นประธานาธิบดีในสมัยแรก
สัปดาห์นี้มาวิเคราะห์โดนัลด์ ทรัมป์ และการขึ้นสู่ตำแหน่งครั้งที่ 2 ของเขากันครับ
ทำไมทรัมป์จึงโดนใจชาวอเมริกันเป็นครั้งที่ 2 ?
คำถามนี้ ต้องตอบว่า...เป็นเพราะหลายปัจจัยรวมกัน ทั้งตัวตนของทรัมป์ สถานการณ์รอบข้าง ตลอดจนนโยบายและยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของทรัมป์
เริ่มจากตัวตนของทรัมป์.... “ทรัมป์เป็นบุคลิกที่ชาวอเมริกันโหยหา” จั่วหัวมาแบบนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า อิหยังหว่า...ใช่ไหมครับ? ใช่ครับ ทรัมป์คือบุคลิกที่ชาวอเมริกันโหยหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพของความเป็น “ผู้นำที่แข็งแกร่ง” เพราะโดยธรรมชาติของชาวอเมริกันมีความภาคภูมิใจต่อความเป็นอเมริกันค่อนข้างสูง และเป็นสังคมที่ให้ราคากับ Competitive Nature หรือการแข่งขันและการเอาชนะ ทำให้การเป็นชาติที่แข็งแกร่งเหนือชาติอื่นเป็นหนึ่งในจุดร่วมกันของชาวอเมริกัน ซึ่งสังเกตได้ไม่ยากจากนโยบายที่มีจุดร่วมกันของทั้งทรัมป์และแฮร์ริสในประเด็นนี้
ซึ่งต้องยอมรับว่า ทรัมป์สื่อสาร “ภาพ” ความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งได้ดีมากมาโดยตลอด นับตั้งแต่การลงสมัครในสมัยแรก ทั้งท่าทาง คำพูดที่ดุดันและตรงไปตรงมา เรียกว่าแทบไม่มีการประดิษฐ์คำใดๆ รวมไปจนถึงการใช้ทวิตเตอร์ที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งส่งผลให้โดนใจชาวอเมริกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอเมริกันผิวขาวที่มีฐานะปานกลางและแรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่ให้การสนับสนุนทรัมป์ นอกจากนี้เมื่อมองถึงสิ่งที่ทรัมป์ทำ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อจีน การดูเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งทัดเทียมกับปูตินของรัสเซีย ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า คนคนนี้คืออเมริกันแท้ๆ ที่แข็งแกร่งพอที่จะปกป้องและนำคนอเมริกันไปสู่ความยิ่งใหญ่ (อีกครั้ง) ดังที่เขาประกาศ
เมื่อพิจารณาร่วมกับสถานการณ์รอบข้าง ที่หลังจากได้ โจ ไบเดน มา อเมริกาประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างมาก กระทบถึงปากท้องของชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อย แถมอายุและสภาพของไบเดนยังเป็นการตอกย้ำกับคนอเมริกันอีกว่า การมีผู้นำที่แข็งแกร่งไม่พอ เป็นสิ่งที่ “ไม่เวิร์ค” ด้วยประการทั้งปวง จนถึงขั้นคนอเมริกันบ่นกันว่า ตอนแรกได้ทรัมป์มาว่าแย่แล้ว พอได้ไบเดนมา กลับรู้สึกว่า “แย่กว่าเดิม” งวดนี้จึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ทรัมป์คว้าชัยชนะได้
ในทางวิชาการ การอยู่ในอำนาจก่อนการเลือกตั้งสามารถมีผลกระทบต่อการเลือกตั้งได้ เรียกว่า Incumbent effect หรือผลกระทบจากการอยู่ในอำนาจ ซึ่งถ้าการอยู่ในอำนาจ ทำผลงานได้ดี ก็จะส่งให้เกิดความได้เปรียบในการเลือกตั้ง แต่หากทำได้ไม่ดี ผลลัพธ์อาจจะกลายเป็นกระแสตีกลับให้คนรู้สึกว่า ไม่เอาแล้ววววว ซึ่งกรณีนี้ถือได้ว่ากระแสด้านลบของการอยู่ในอำนาจของโจ ไบเดน อาจจะเป็นอีกหนึ่งลมที่พัดส่งให้ทรัมป์คว้าชัยชนะก็เป็นได้
ต่อมาเมื่อมองที่นโยบายของทรัมป์ นโยบายของทรัมป์เป็นที่กล่าวขวัญกันเป็นอย่างมากว่าเป็นนโยบายที่สุดโต่งในหลายๆด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจการค้า และ นโยบายการต่างประเทศ อาทิ จุดยืน America First ที่ให้ความสำคัญกับชาติก่อนสิ่งใด การตั้งกำแพงภาษี และการดำเนินนโยบายต่างประเทศประหนึ่งการค้า รวมไปจนถึงวิถีการทำงานที่ให้ความสำคัญกับการทำงานเชิงทวิภาคี (Bilateral) ซึ่งก็คือการเน้นการพูดคุย เจรจา และตกลงกันระหว่างสองประเทศ มากกว่าจะทำร่วมกันเป็นกลุ่มก้อนผ่านความร่วมมือต่างๆ (ซึ่งก็คาดการณ์กันได้ว่าวิถีทวิภาคีน่าจะเป็นของถนัดของทรัมป์ผู้ซึ่งมีภูมิหลังเป็นนักธุรกิจมือฉมัง)
เมื่อถามว่า นโยบายสุดโต่งเหล่านั้น เป็นเพราะทรัมป์เป็นผู้ไม่เต็มเต็งหรือโง่เขลาหรือไม่?
คำตอบคือ...ไม่ใช่ครับ จริงๆต้องบอกว่าเป็นความฉลาดของทรัมป์และทีมงาน ในการวางยุทธศาสตร์การเลือกตั้งเลยทีเดียว เพราะทรัมป์และทีมงานมีการศึกษาว่า “ใคร” ที่เป็นผู้สนับสนุนของเขา ซึ่งผู้สนับสนุนหลักของทรัมป์คือกลุ่มคนอเมริกันที่ค่อนข้างสุดโต่ง ดังนั้น เขาจึงออกแบบนโยบายและการสื่อสารทางการเมืองให้ตรงกับความต้องการของผู้สนับสนุน เน้นประเด็นการดึงผลประโยชน์ของชาติกลับมา ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงการขึ้นเพดานภาษี หรือแม้แต่การจะทำอะไรในเวทีต่างประเทศก็จะต้องได้ผลประโยชน์ที่ชัดเจนกลับมา จนได้รับการเรียกขานว่า Transaction Diplomacy ซึ่งก็คือการเปรียบเปรยกับการค้าขาย ที่จะทำอะไรก็ต้องได้กำไรกลับมา ไม่ใช่การออกไปสร้างบทบาทในเวทีโลกในลักษณะ “ตำรวจโลก” ที่ไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จับต้องไม่ได้ แถมหลายๆครั้งยังเป็นการเอาเงินภาษีของชาวอเมริกันไปละลายดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งนี่คือสิ่งที่อาจจะอยู่ในใจอเมริกันชนจำนวนไม่น้อย
ดังนั้น คำว่า “เราจะไม่ให้ใครมาเอาเปรียบอเมริกาได้อีก” จึงกลายเป็นคำพูดที่โดนใจอเมริกันจำนวนมากและทำให้ทรัมป์กลายเป็น “ตัวเลือกที่ดีกว่า” แม้ว่าอาจจะไม่ได้ “ดีที่สุด” ในสนามการเลือกตั้งครั้งนี้
ส่วนตัวผู้เขียน มองว่าทรัมป์ ไม่ได้โง่ และไม่ได้บ้า ซึ่งนั่นอาจสร้างทั้งโอกาสและความท้าทายให้กับประเทศต่างๆทั่วโลก สัปดาห์หน้ามาวิเคราะห์กันต่อถึงผลกระทบต่อประเทศไทยของเราครับ
ยังไม่เอวัง