เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phogphit

ในโลกที่มีการแข่งขันสูง จำเป็นต้องปรับตัวตลอดเวลา การที่ขนาด “เศรษฐกิจ” เวียดนามและฟิลิปปินส์กำล้งจะแซงไทยในไม่กี่ปีข้างหน้า เราคงต้องมาทบทวนกันจริงจังว่า เกิดอะไรขึ้น และควรทำอย่างไร

คงไม่ต้องไปถามนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลปีนี้ (เพราะรู้กันอยู่) ว่า ทำไมไทยจึง “ไม่พัฒนา” อย่างที่ควรเป็น ทั้งๆ ที่ถูกคาดว่าจะเป็นเสือตัวที่ห้าตั้งกว่า 30 ปีแล้ว สาเหตุสำคัญเพราะความอ่อนแอของสถาบันทางสังคม เศรษฐกิจและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมือง

ความอ่อนแอของ “ระบอบการเมืองการปกครอง” ขาดธรรมาภิบาล มีการคอร์รัปชั่น ไม่กระจายอำนาจ ผูกขาดอำนาจ ไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน กระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหา

เวียดนามเป็นประเทศสังคมนิยม แต่ใช้ระบบ “เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม” คลายกับจีน และแสดงว่าได้ผลดี ทำให้ประเทศพัฒนาก้าวหน้าแซงไทยไปในหลายด้าน เพราะฐานการเมืองที่ใช้อำนาจเด็ดขาดในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น การเมืองการปกครอง ซึ่งไทยทำไม่ได้

เวียดนามและฟิลิปปินส์ปฏิรูปการศึกษาเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล ยุคเอไอได้ดีกว่าไทย มีกำลังคนทักษะสูงพร้อมรับการลงทุนอุตสาหกรรมอย่าง “เอไอ” ซึ่งไทยมีน้อยกว่ามาก เพราะไม่มีการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง

ฟิลิปปินส์เคยเป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย” นานหลายปี โดยเฉพาะยุคเผด็จการมาร์กอส แต่ก็เปลี่ยนผ่านมาสู่ประชาธิปไตยโดย “การปฏิวัติของประชาชน” ที่ขบวนการประชาสังคมมีความเข้มแข็ง คานอำนาจฉ้อฉลทางการเมืองต่อๆ มาได้ไม่น้อย แม้ว่าจะต้องต่อสู้อย่างหนักหน่วง

คนฟิลิปปินส์เคยไปทำงานต่างประเทศหลายล้านคน วันนี้พวกเขากลับบ้านเพื่อพัฒนาบ้านเมือง มีงานทำ เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในปี 2024 (6.3) คาดว่าโตกว่าไทย (2.7) กว่าสองเท่า ไล่เลี่ยกับเวียดนาม (6.9)

ความต่างสำคัญของสองประเทศนี้เทียบกับไทย คือ การศึกษา คนเวียดนามนั้นเรียกว่าเป็น “นักเรียนรู้” ที่จริงจังมาก เรียนกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพราะพวกเขารู้ว่า การศึกษาจะพัฒนาชีวิต จะเปิดโอกาสให้มีงานทำที่ดี ในภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม ความรู้จะช่วยให้พัฒนาการเกษตร งานฝีมือ งานหัตถกรรมในท้องถิ่น

คนเวียดนามมีทุนจากคนเวียดนามที่อพยพไปอยู่อเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย การลงทุนจากต่างประเทศที่สูงกว่าไทยหลายเท่า  เวียดนามพัฒนาเทคโนโลยีอย่างทันโลก ว่ากันว่าตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีในฝรั่งเศสร้อยละ 20 เป็นคนเชื้อสายเวียดนาม  พวกเขาประสานเรื่องเศรษฐกิจ การลงทุน การส่งออก การศึกษา

จึงไม่น่าแปลกใจถ้าหากรัฐมนตรีเวียดนามจะประกาศในที่ประชุมผู้นำเศรษฐกิจโลกที่สวิตเซอร์แลนด์และที่จีนปีนี้ว่า มีแรงงานทักษะพร้อมรับกับอุตสาหกรรมไอทีและเอไอยุคใหม่ 500,000 คน

ประเทศฟิลิปปินส์มักถูกดูถูกว่ามีระบบการศึกษาโดยเฉพาะอุดมศึกษาที่ด้อยคุณภาพ แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นโอกาสให้ชาวฟิลิปปินส์เกือบร้อยละ 30 ได้เรียนระดับวิทยาลัย มหาวิทยาลัย ทุกปีมีนักศึกษาใหม่ 3 ล้านคนในระดับอุดมศึกษา แม้ใบปริญญาอาจไม่สำคัญ แต่อุดมศึกษาก็ช่วยให้รู้เท่าทันโลก ปรับตัวได้เร็วกว่าคนอื่น

มีนักศึกษาเวียดนามในอเมริกากว่า 50,000 คน ชาวฟิลิปปินส์นั้นมีญาติพี่น้องอยู่ในอเมริกา เรียนที่นั่น นักศึกษาของสองชาตินี้ล้วนเป็น “มันสมอง” ของชาติ ส่วนใหญ่กลับไปพัฒนาบ้านกิด

อีกอย่าง สองประเทศนี้มีประชากรมากกว่าไทย  เวียดนามมี 100 ล้าน ฟิลิปปินส์ 120 ล้าน คนหนุ่มสาว และคนวัยแรงงานมากกว่าไทยที่กลายเป็นสังคมสูงวัยไปแล้ว อัตราการเกิดก็สูงกว่าไทย ที่ประชากรลดลง

บ้านเราเป็นประเทศ “กำลังพัฒนา” “รายได้ปานกลาง” และคงอยู่ระดับนี้ไปอีกนาน ขณะที่ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีเป้าหมายเป็นประเทศ “พัฒนาแล้ว” ในอีกไม่กี่ปี

ส่วนสิงคโปร์เป็นประเทศพัฒนาแล้ว และอยู่อันดับต้นๆ ของโลกในด้านการศึกษา ธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ความสามารถในการแข่งขัน สวัสดิการและรายได้ประชากรอยู่ในระดับสูงต้นๆ ของโลก

ถ้าเรียนรู้จากประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ คงสรุปได้ไม่ยากหากไทยต้องการพัฒนาไปได้ดีกว่านี้ ต้องทำอย่างไร เราติดหล่มมานาน กลายเป็นประเทศ “ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา” “ปกครองแต่ไม่คุ้มครอง” ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนอยู่อันดับต้นๆ ของโลก

เรามีต้นทุนที่เป็นข้อได้แปรียบมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่ตั้ง ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ ทุนทางปัญญา ทุนทางสังคม แต่ความด้อยพัฒนาของสถาบันทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม แทนที่จะเกื้อหนุนกลับเป็นอุปสรรคให้มีการพัฒนาต้นทุนเหล่านี้

เมื่อปี 2547 ผมไปเป็นเพื่อนลุงประยงค์ รณรงค์ รับรางวัลแมกไซไซที่มะนิลา วันหนึ่ง ลุงประยงค์ได้รับเชิญไปพูดที่ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ประธานกล่าวต้อนรับว่า “ยินดีที่จะได้ฟังเรื่องราวของชุมชนของท่าน ที่เราได้ฟังจากซีเอ็นเอ็นว่า ถ้าทั่วโลกทำได้อย่างชุมชนของท่านก็จะพัฒนาและแก้ปัญหาได้”

ที่เขายกย่องให้ “ไม้เรียง” เป็นชุมชนต้นแบบของโลก แสดงให้เห็นศักยภาพของชุมชนไทยที่แทบไม่ได้อาศัยความช่วยเหลือจากรัฐก็ยังพึ่งพาตนเองได้ เพียงแต่ชุมชนที่มีความสามารถและศักยภาพระดับนี้มีไม่มาก ถ้าหากชุมชนทั้งหลายได้รับการส่งเสริมสนับสนุนอย่างเหมาะสม ก็จะพัฒนาไปสู่การพึ่งตนเองได้เช่นกัน

สังคมไทยจะเปลี่ยนได้ต้องเปลี่ยนทั้งจาก “ข้างบน” และจาก “ข้างล่าง” เวียดนามเน้นใช้วิธีจากข้างบน ฟิลิปปินส์จากข้างล่าง แต่ที่สุด ทั้งสองข้างก็ประสานพลังกัน จึงทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงและพัฒนา

สังคมไทยปฏิรูปคงไม่พอ ต้องมีการปฏิวัติ คือเปลี่ยนแบบ “ดิสรัป” คือ แบบหักโค่น ถึงรากถึงโคนทางการเมือง การศึกษา การเกษตร สิ่งแวดล้อมและพลังงาน บ้านเมืองจึงจะรอดและเป็น “ประเทศพัฒนาแล้ว” ไม่คลานอยู่อย่างนี้ ปล่อยให้เพื่อนบ้านแซงไปหมด