ทวี สุรฤทธิกุล

คนที่มี “สัมผัสไว” ปรับเปลี่ยนตัวเองได้เร็วตามภูมิทัศน์การเมืองที่แปรเปลี่ยน จะเป็นผู้อยู่รอดเสมอ

นายเนวิน ชิดชอบ เป็นเจ้าของวลีดัง “มันจบแล้วนาย” ในเหตุการณ์ที่เขาพา ส.ส.จำนวน 32 คนในพรรคพลังประชาชน ออกมาตั้งเป็นพรรคภูมิใจไทย แล้วสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2551 ซึ่งผู้สื่อข่าวพยายามถามว่าทำไมจึงกล้าทรยศต่อนายทักษิณ ชินวัตร แม้ว่าเขาจะไม่ได้พูดประโยคนี้ออกมาดัง ๆ แต่ก็มีคนได้ยินวลีนี้ออกมาจากปากเขา อันแสดงให้เห็นว่านายเนวินมี “สัมผัสที่ว่องไว” และรีบปรับตัวในตอนนั้น นั่นก็คือสัมผัสรู้ว่ากำลังจะหมดยุคทักษิณแล้ว

ใน พ.ศ. 2552 เป็นปีหนึ่งที่มีการจลาจลรุนแรงขึ้นหลายแห่ง จากการกระทำของคนเสื้อแดงที่สนับสนุนนายทักษิณ ที่โต้ตอบการขึ้นมามีอำนาจของนายอภิสิทธิ์และถอนแค้นให้นายของพวกตน ตอนนั้นก็มีมวลชนอีกกลุ่มหนึ่งขึ้นมาต่อต้านกลุ่มคนเสื้อแดง เรียกกันว่า “กลุ่มเสื้อน้ำเงิน” ที่เชื่อว่านายเนวินเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคนกลุ่มนี้ โดยกลุ่มเสื้อน้ำเงินได้กลายเป็น “ฝ่ายธรรมะ” ขึ้นมาทันที เพราะมาช่วยปราบปรามกลุ่มคนเสื้อแดงที่กลายเป็นฝ่ายอธรรมไปเสียแล้ว จนกระทั่งในปี 2554 ที่มีการเลือกตั้ง พรรคภูมิใจไทยก็ได้จำนวน ส.ส.ถึง 34 คนแต่ไม่ได้ร่วมเป็นรัฐบาล เพราะพรรคที่ชนะเป็นเสียงข้างมากคือพรรคเพื่อไทย ที่ได้ ส.ส.เข้ามาถึง 265 คน ส่งผลให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของนายทักษิณได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็อยู่ได้ไม่ครบเทอม เพราะได้ถูกคณะ กปปส.เดินขบวนต่อต้านกว่าครึ่งปี กระทั่งทหารก็ออกมายึดอำนาจอีกครั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กลุ่มของนายเนวินได้จับขั้วกับทหารอย่างชัดเจน เพราะหลังการเลือกตั้งในปี 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคภูมิใจไทยที่ชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส.มา 51 คน ก็ได้เข้าร่วมรัฐบาลด้วย แต่ในการเลือกตั้งปี 2566 ทหารได้เกิดความแตกแยก พรรคภูมิใจไทยแสดงจุดยืนที่เป็นอิสระออกมาจากทหาร กระนั้นก็ได้ ส.ส.มาถึง 71 คน และเป็นพรรคที่เนื้อหอมที่สุดที่ใคร ๆ ก็อยากได้ไปเป็นแกนจัดตั้งร่วมรัฐบาล โดยพรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุดคือพรรคก้าวไกล จำนวน 151 คน รองลงมาคือพรรคเพื่อไทย 141 คน

แรกเริ่มพรรคก้าวไกลถูกจับตาว่าจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ด้วยกระแสอนุรักษ์นิยมที่ยังคงแข็งแรง โดยเฉพาะในกลุ่มอำมาตย์และชนชั้นกลาง ก็เกิดการต่อต้านพรรคก้าวไกลที่แสดงจุดยืน “ห่างสถาบัน” นายเนวินเองก็คงจะจับกระแสนี้ได้ ดังที่ได้เห็นพรรคภูมิใจไทยได้หันไปจับมือกับพรรคเพื่อไทยแล้วจัดตั้งรัฐบาล โดยให้นายเศรษฐา ทวีสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งหลายคนก็ยังงงว่า แล้วนายทักษิณจะว่าอย่างไร อย่างไรก็ตามที่สุดสังคมก็ได้รู้ว่านายทักษิณนั้นกำลัง “จนตรอก” (ตอนหลังจึงมารู้กันว่านายทักษิณแกล้งจนตรอกเพื่อแลกกับการได้กลับเข้าประเทศไทยและให้ลูกสาวได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสืบแทนนายเศรษฐา) โดยตกลงยอมทำ “ดีลลับ” กับฝ่ายอนุรักษ์ในการที่จะร่วมมือต่อต้านพรรคก้าวไกล กระทั่งมีข่าวว่าความบาดหมางระหว่างนายทักษิณกับนายเนวินนั้นก็ถูก “ปล่อยวาง” ไปแล้วเช่นกัน

เวลานี้มีกระแสว่าเสถียรภาพรัฐบาลที่นำโดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร น่าจะมีปัญหา โดยเฉพาะตัวนางสาวแพทองธารเองที่กำลังมีเรื่องร้องเรียนถอดถอนอยู่หลายเรื่อง โดยบางเรื่องน่าจะมีผลออกมาตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป ขนาดเบา ๆ ก็คือให้นางสาวแพทองธารต้องพักงาน หรือถ้าอย่างหนักก็จะเป็นเหมือนนายเศรษฐา คือพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปเลย ซึ่งก็จะมีผลทำให้คณะรัฐมนตรีต้องจบลงทั้งคณะ ทั้งนี้เมื่อดูท่าทีของพรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะท่าทีของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค(และร่างทรงของนายเนวิน)ก็ไม่ได้แสดงอาการสะทกสะท้านหรือตกใจหวั่นไหวอะไรแต่อย่างใดไม่ แม้กระทั่งที่มีข่าวว่านางสาวแพทองธารอาจจะใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรียุบสภาเสีย เพื่อไม่ให้นายอนุทินได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งที่ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ก็อาจจะสกัดกั้นพรรคภูมิใจไทยไม่ให้ได้ ส.ส.เป็นเสียงข้างมาก รวมทั้งก็ไม่เชื่อด้วยว่าพรรคภูมิใจไทยจะหันไปจับมือกับพรรคก้าวไกล(ต่อมาได้ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ เพราะ “เซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบัน”) ปัจจุบันคือพรรคประชาชน เพราะฝ่ายอนุรักษ์นิยมน่าจะยังต่อต้านพรรคนี้ไม่ให้ขึ้นมามีอำนาจ

ถ้านายเนวินเป็นคนที่จับกระแสสังคมได้แม่นยำจริง ๆ เราก็อาจจะได้เห็น “ปฏิกิริยา” ที่พรรคภูมิใจไทยจะแสดงออกมาในการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงเร็ว ๆ นี้ ที่จะต้องเป็นการเลือกตั้งหลังจากที่นาวสาวแพทองธารประกาศยุบสภานั่นเอง โดยผู้เขียนอยากจะตั้งเป็น “ข้อสังเกต” เพื่อติดตามเฝ้าชมดังนี้

เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งหลังการยุบสภา ที่ตามรัฐธรรมนูญน่าจะไม่มีเวลาให้ ส.ส.ได้ย้ายพรรค ดังนั้น ส.ส.ของแต่ละพรรคน่าจะสมัครในนามของพรรคเดิมของ ส.ส.แต่ละคนที่เคยสังกัดอยู่แล้วนั้นไปก่อน แต่เมื่อชนะเลือกตั้งเข้ามาแล้วก็ค่อยมาเป็น “งูเห่า” เอาภายหลัง ซึ่งเชื่อกันว่าพรรคภูมิใจไทยอาจจะใช้แผนนี้ ดังที่นายเนวินเคยใช้ในปี 2551 หรือแม้แต่ที่นายอนุทินใช้ในปี 2566 นั้นด้วย

ด้วยเหตุนี้ แม้พรรคเพื่อไทยอาจจะได้ ส.ส.เข้ามาเป็นจำนวนมากที่สุด แต่ถ้าถูกกลยุทธ์นี้เข้าไป พรรคเพื่อไทยก็อาจจะไปไม่เป็น เว้นแต่ว่าพรรคเพื่อไทยจะ “ย้อนเกล็ด” คือใช้แผนนี้บ้างเหมือนกัน ซึ่งก็น่าจะได้เปรียบเพราะพรรคภูมิใจไทยน่าจะได้ ส.ส.น้อยกว่า อย่างไรก็ตามด้วยกระแสการเมืองของคนรุ่นใหม่ หลายคนก็เชื่อว่าพรรคประชาชนก็น่าจะได้ ส.ส.เป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน คือน่าจะไม่น้อยกว่าในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ดังนั้นคนตัดสินก็น่าจะยังเป็น “อำมาตย์” ว่าจะเอาใคร แม้ว่าอำมาตย์ในยุคนี้ไม่ได้เป็นปึกแผ่นเหมือนยุคก่อน ๆ แต่การจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคประชาชนเป็นแกนก็คงเป็นไปได้ยาก ในทำนองเดียวกันกับพรรคเพื่อไทยที่อิทธิพลของนายทักษิณเริ่มอ่อนลง โดยอำมาตย์นั่นเองที่จะเข้ามา “ชี้เป็นชี้ตาย” เรื่อง “ป่วยทิพย์” ของนายทักษิณ แล้วที่สุดนายทักษิณก็ต้องหนีออกนอกประเทศเพื่อไม่ต้องรับโทษนั้นอีก จึงเหลือพรรคภูมิใจไทยที่โดดเด่นที่สุด และน่าจะเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลในภายหลังการเลือกตั้งอย่าง “ไม่มีทางหลีกเลี่ยง”

นายเนวินก็น่าจะ “ได้กลิ่น” นี้แล้ว และก็คงคันมือคันเท้าอยากจะ “คืนสนาม” อยู่เหมือนกัน บางทีเราอาจจะมีนายกรัฐมนตรีที่ “ชื่อพม่า หน้าลาว เว้าเขมร” ก็ได้นา อย่าประมาทไป!