เสือตัวที่ 6

การต่อสู้ของขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐในห้วงเวลานี้เป็นที่ทราบกันดีว่ามีกลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นกลุ่มแกนนำในการต่อสู้กับรัฐอย่างชัดเจน แม้ว่าในความเป็นจริงกลุ่มคนที่ต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจการปกครองไปจากรัฐตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น จะเป็นกลุ่มคนหลากหลายกลุ่มที่ต่างคนต่างเดินหน้าต่อสู้กับรัฐตามวิธีคิดของแกนนำแต่ละกลุ่ม หากแต่กลุ่มที่ทรงพลังในการนำบรรดากลุ่มขบวนการเหล่านั้นก็คือกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็นอย่างที่เห็น และเป็นที่แน่นอนย้ำชัดว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นได้อ้างตัวว่าเป็นกลุ่มตัวแทนของคนเห็นต่างจากรัฐในพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นผู้ที่เจรจาสันติภาพกับรัฐไทยในเวทีการเจรจาสันติภาพที่สร้างขึ้น ซึ่งนั่นเป็นพื้นที่หลักในการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจการปกครองจากรัฐไปสู่กลุ่มคนในขบวนการร้ายแห่งนี้โดยผ่านกระบวนการต่อสู้ทางความคิดกับตัวแทนของรัฐไทยอย่างแหลมคม ทุกย่างก้าวของการต่อสู้ของพวกเขาทั้งการต่อสู้ด้วยอาวุธโดยการก่อเหตุร้ายและการขับเคลื่อนการแสดงออกผ่านกิจกรรมการศึกษาตลอดจนการเคลื่อนไหวต่างๆ ล้วนสอดประสาน สนับสนุน ส่งเสริม เกื้อกูลกันเพื่อมุ่งส่งพลังเหล่านั้นไปสู่ชัยชนะในพื้นที่ของการต่อสู้ทางความคิดทั้งในพื้นที่เวทีการเจรจาสันติภาพของคณะพูดคุยกับรัฐ และรวมไปถึงชัยชนะในพื้นที่การต่อสู้ทางความคิดในเวทีสาธารณะทั่วไปในแผ่นดินนี้

และกรณีของคดีตากใบที่หมดอายุความลงโดยผู้ต้องหาทั้งหมดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐตั้งแต่ระดับสูงลงไปจนถึงระดับปฏิบัติในขณะนั้น ต่างไม่มาแสดงตัวต่อศาลตามกระบวนการยุติธรรมของรัฐ จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกคนเห็นต่างจากรัฐตลอดจนแนวร่วมขบวนการแห่งนี้ทั้งที่เป็นแนวร่วมโดยตั้งใจและที่เป็นแนวร่วมโดยไม่ได้ตั้งใจ ต่างใช้โอกาสนี้ชี้นำให้ผู้คนปฏิเสธรัฐ ปลุกระดมคนในพื้นที่ปลายด้ามขวานให้ถอยห่างจากรัฐมากขึ้นโดยใช้เหตุผลของการไม่ยุติธรรมของรัฐที่มีต่อคนในพื้นที่ที่ถูกกระทำจากรัฐตลอดมาจนกระทั่งกรณีตากใบที่รัฐไม่คืนความเป็นธรรมซึ่งเป็นการปฏิบัติต่อคนในพื้นที่ที่ไม่ยุติธรรมอย่างชัดเจน ตลอดจนคนระดับนำในพื้นที่ส่วนกลางของประเทศที่ถูกน้อมนำให้เห็นต่างจากรัฐอันจะนำมาซึ่งการให้โอกาสกลุ่มคนในขบวนการร้ายแห่งนี้มีความชอบธรรมมากขึ้นในการให้อิสระในการปกครองกันเอง ซึ่งเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมและสร้างน้ำหนักให้เกิดพลังในการได้มาซึ่งชัยชนะในการต่อสู้ทางความคิด

นักวิชาการสถานศึกษาในพื้นที่ต่างพากันแสดงความคิดเห็นที่เป็นการหนุนเสริมการต่อสู้ทางความคิดในการได้มาซึ่งอำนาจรัฐเพื่ออิสระในการปกครองกันเองของคนในพื้นที่ อาทิ นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ความเห็นว่า เมื่อคดีตากใบหมดอายุความโดยไม่มีจำเลยมาขึ้นศาล จะตอกย้ำวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทย โดยเฉพาะเมื่อจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จะเป็นการตอกย้ำถึงความไม่ยุติธรรมที่คนมุสลิมมลายูในพื้นที่แห่งนี้ได้รับ และนักวิชาการผู้ติดตามปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้และกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ระบุว่า กรณีตากใบถูกฝ่ายขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐใช้เป็นประเด็นในการปลุกระดมบ่มเพาะความคิดเห็นต่างจากรัฐเพื่อชักชวนพี่น้องมุสลิมในพื้นที่เข้าร่วมขบวนการต่อสู้กับรัฐเพื่ออิสรภาพในการปกครองกันเองของพวกเขา จนกระทั่งความเห็นต่างเหล่านั้นถูกคอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีกจนขยายตัวเป็นความเคียดแค้นสุดโต่งและหยั่งลึกในมโนสำนึกของคนเหล่านั้นถึงขั้นร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ด้วยอาวุธในการต่อสู้กับรัฐมาโดยตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งการก้าวย่างของแกนนำขบวนการร้ายแห่งนี้ล้วนกล่าวย้ำถึงความอยุติธรรมของรัฐ ซึ่งกรณีการสูญเสียพี่น้องมุสลิมที่ตากใบก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ถูกใช้เป็นเรื่องเล่าถึงความอยุติธรรมมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งหลัง 25 ต.ค.67 ที่ผ่านมา กรณีตากใบจึงเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวขานความอยุติธรรมร่วมสมัยโดยไม่ใช่เรื่องในอดีตที่ยาวนานอีกต่อไป

นอกจากนั้น ยังมีนักวิชาการจากสถาบันสันติศึกษาและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ(กมธ.) สร้างสันติภาพฯ ได้ให้ความเห็นของการหมดอายุความในคดีตากใบในภาพรวมของการดำเนินการของรัฐว่า ในต่างประเทศมีหลายกรณีที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง สังคมอาจจะไม่สามารถยอมรับให้มีการนิรโทษกรรมได้ การให้อภัยควรวางอยู่บนฐานที่ผู้กระทำผิดยอมรับความผิด และควรมีการเยียวยาในแง่มุมอื่นๆ ที่ครอบคลุมมากไปกว่าการเยียวยาด้วยตัวเงินเท่านั้น ในขณะที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อคดีตากใบที่ได้หมดอายุความลงโดยเฉพาะการอ้างเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงเข้าตอบโต้รัฐของฝ่ายก่อความไม่สงบด้วยความชอบธรรมได้ในวงกว้างมากขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากแนวร่วมที่เข้มแข็งอันจะส่งผลให้ภาพรวมของสถานการณ์ในพื้นที่เลวร้ายลง

หากแต่ในความเป็นจริงนั้น การใช้เงื่อนไขในการปลุกระดมความเครียดแค้นรัฐนั้น ขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐทุกกลุ่มในพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้ ก็ใช้เงื่อนไขความอยุติธรรมของรัฐที่หยิบยื่นให้ผู้คนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเสมอมาอยู่แล้ว โดยเฉพาะกรณีตากใบที่มีการสูญเสียพี่น้องมุสลิมในพื้นที่จำนวนมาก ที่เริ่มจากการสร้างกระแสข่าวลือกันว่าเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมพี่น้องมุสลิม 6 คนโดยไม่เป็นธรรม ก็ถูกใช้เหตุการณ์ตากใบนี้เป็นเงื่อนไขในการปลุกระดมบ่มเพาะความเห็นต่างจากรัฐอย่างได้ผลต่อเนื่องตลอด 20 ปีที่ผ่านมา จนสามารถนำไปเป็นประเด็นการบ่มเพาะความเห็นต่างจากรัฐในกรณีอื่นๆ ขยายผลไปสู่ความเห็นร่วมกันของคนในพื้นที่ที่ต้องการอิสรภาพของหมู่ชนในพื้นที่แห่งนี้จากรัฐที่อ้างว่ากดขี่พี่น้องในพื้นที่อย่างไม่เป็นธรรมตลอดมาจากอดีตถึงปัจจุบัน สร้างกระแสการเข้าร่วมกับขบวนการเพื่อต่อสู้กับรัฐอย่างทรงพลังเพื่อเอกราชการปกครองกันเองของพวกเขาในที่สุด กระทั่งห้วงเวลาปัจจุบันที่หมดอายุความ ก็ยิ่งเป็นประเด็นให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐใช้เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการต่อสู้ไปสู่เอกราชที่เริ่มต้นด้วยชัยชนะในการต่อสู้ทางความคิดกับรัฐอย่างเข้มข้น