ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มเห็นปฏิกิริยาของฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคประชาชน และแนวร่วมอย่างคณะก้าวหน้า ในการออกมาแสดงความคิดเห็น และตั้งคำถาม กรณีร่างกฎหมายนิรโทษกรรมหลังจากที่สภาฯ ไม่รับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับมาตรา 110 และมาตรา 112 โดยมีปัจจัยที่สส.ของพรรคเพื่อไทย 115 เสียงโหวตไม่เห็นด้วย และต่อมาพรรคเพื่อไทยได้ประกาศจะเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในนามของพรรคเพื่อไทยเอง ซึ่งจะไม่มีประเด็นเรื่องของมาตรา 110 และมาตรา 112

โดยที่ผู้สังเกตการณ์ทางการเมือง จับตาว่า สถานการณ์ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชน จะมีความเขม็งเกรียวขึ้นหรือไม่ ความกริ่งเกรงใจที่พรรคเพื่อไทยที่คนภายนอกมองเข้าไปจะลดลงหรือไม่

ระหว่างทางที่พรรคประชาชนวางไทม์ไลน์ที่จะเปิดอภิปรายทั่วไป หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ในราวต้นปีหน้า ทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อบทบาทของพรรคประชาชนในฐานะฝ่ายค้านอย่างสำคัญ

ล่าสุด ในผลผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนของสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เรื่อง “ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนตุลาคม 2567” พบว่า กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนภาพรวมดัชนีการเมืองไทยประจำเดือนตุลาคม 2567 เฉลี่ย 5.01 คะแนน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2567 ที่ได้ 4.80 คะแนนตัวชี้วัดที่ได้คะแนนสูงสุด คือ ผลงานของฝ่ายค้าน เฉลี่ย 5.34 คะแนน (ลดลงจากเดือนกันยายน) ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนต่ำสุด คือ การแก้ปัญหายาเสพติดและผู้มีอิทธิพล เฉลี่ย 4.58 คะแนน นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน คือ แพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 52.81 รองลงมาคือ อนุทิน ชาญวีรกูล ร้อยละ 26.40 ด้านนักการเมืองฝ่ายค้านที่มีบทบาท โดดเด่นประจำเดือน คือ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ร้อยละ 37.80 รองลงมา คือ ศิริกัญญา ตันสกุล ร้อยละ 34.36 ผลงานฝ่ายรัฐบาลที่ชื่นชอบประจำเดือน คือ มาตรการช่วยน้ำท่วม ร้อยละ 40.15 ผลงานฝ่ายค้านที่ชื่นชอบประจำเดือน คือ ติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ร้อยละ 49.76

“ส่วนบทบาทของผู้นำฝ่ายค้านก็ยังคงไม่ได้มีความโดดเด่นมากนัก เนื่องจากยังไม่ได้มีการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มข้นจริงจัง เพราะเป็นรัฐบาลชุดใหม่ที่พึ่งเข้ามา โดยในเดือนนี้สถานการณ์การเมืองได้รับผลกระทบจากคดีใหญ่ที่เป็นกระแสสังคมก็คือ “คดีดิไอคอน” ซึ่งมีการอ้างว่ามีผู้มีอิทธิพลทั้งข้าราชการผู้ใหญ่ และนักการเมืองได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI ก็ได้รับเรื่องนี้ไว้พิจารณาแล้ว เพราะมองว่าน่าจะเป็น “คดีแชร์ลูกโซ่” ประชาชนคนไทยทุกคนคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ผลสุดท้ายแล้วคดีนี้จะจบลงอย่างไร”  นายวัลลภ ห่างไธสง อาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง ระบุ

นัยว่า แม้สถานการณ์ของรัฐบาลแพทองธาร จะน่าเป็นห่วงจากนิติสงคราม แต่กลับมีเรตติ้งจากผลงาน ในขณะที่ที่ฝ่ายค้านไม่ได้อยู่ในสถานะที่ได้เปรียบ