เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phogphit

“ความยั่งยืน” คำที่หลายคนฟังแล้วส่ายหน้า ได้ยินมานานจนไม่รู้แปลว่าอะไร ยิ่งระยะ 10 ปีมานี้ยิ่งถี่ขึ้น เพราะ “เป้าหมายการพัฒนายั่งยืน” (SDG 2015-2030) ของสหประชาชาติ และสโลแกนรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ว่า “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

แต่เรื่องจริงที่เรามิอาจปฏิเสธ มองข้ามหรือละเลยได้ คือ ความยั่งยืนที่ผูกเข้ากับเศรษฐศาสตร์การเมืองและภูมิรัฐศาสตร์โลก คือการลดอุณหภูมิโลกร้อน ที่ถูกนำไปเกี่ยวกับการเกษตร อุตสาหกรรม การผลิต การค้าระหว่างประเทศ

เช่น ถ้าการปลูกข้าว การเกษตรบ้านเราไม่ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจนเป็นศูนย์ (แปลว่า ที่ปล่อยออกและที่ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อลดลงเท่ากัน) ปี 2030 พืชผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่ใช้วัตถุดิบจากภาคเกษตรที่ “ไม่สีเขียว” ที่แปลว่า “ไม่ยั่งยืน” ก็จะถูกบอยคอตจากประเทศที่นำเข้าสินค้าเหล่านี้

เราเคยประสบเหตุการณ์เช่นนี้หลายปีก่อนในเรื่องประมง เรื่องการบิน ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก  อันนั้นยังนับว่าอยู่ในแวดวงจำกัด แต่อีก 5 ปี เราจะเผชิญกับ “ไฟไหม้” ที่รุนแรงกว่าอีก ถ้าไม่เตรียมตัวรับมือหรือป้องกันตั้งแต่วันนี้ เราจะเจอหายนะอย่างแน่นอน

วันนี้มี GRI (Global Reporting Initiative) องค์รกรอิสระระหว่างประเทศที่ช่วยให้องค์กรต่างๆ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ เอกชนหรือของรัฐ สามารถทำความเข้าใจและรายงานผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และผู้คนได้ในลักษณะที่เทียบเคียงได้และน่าเชื่อถือ โดยมีกรอบ เกณฑ์ ตัวชี้วัดที่ชัดเจน

เรื่องการลดโลกร้อนจึงเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน ทุกองค์กร ทุกครัวเรือน ทุกคน อยู่ที่ว่า จะทำกันจริงจังแค่ไหน โดยไม่รอให้ “ไฟไหม้” แล้วค่อยไปหาน้ำมาดับ ซึ่งอาจจะสายเกินไป

ภาคธุรกิจมี ESG เป็นกรอบสำคัญ (สิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล) ที่ต้องผ่านเกณฑ์ประเมิน ยิ่งกำลังตื่นเต้นกันกับการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมหาศาลระหว่างนี้ ก็ยิ่งต้องมาดูว่า ESG ผ่านหรือไม่ ที่น่าเป็นห่วงก็ “พลังงานสะอาด” ที่อาจตกม้าตายก็เป็นได้ ถ้าไม่เลิกการ “ผูกขาด” ไฟฟ้า ไปส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน

เมื่อกว่า 30 ปีก่อนได้สังเคราะห์ประสบการณ์การทำงานกับชุมชน และได้พัฒนา “ทฤษฎี 3S” (Survived, Sufficient, Sustainable) “รอด พอเพียง ยั่งยืน”

ตัวอย่างความหมายของ “รอด” ที่ชุมชนคิดเอง ได้คัดลอกจากฝาบ้านพ่อเขียน ศรีมุกดา อดีตผู้นำอินแปงที่สกลนคร เขาเขียนไว้ด้วยภาษาง่ายๆ ว่า รอด 7 คือ  “รอดจากสารพิษ รอดจาการมีหนี้สิน รอดจากความเจ็บป่วย รอดจากการถูกเอาเปรียบ รอดจากความไม่เพียงพอ รอดจากกระแสพัดพาไป รอดจากความเหงา”

“อินแปง” เป็นตัวอย่างของชุมชนที่ “รอด พอเพียง ยั่งยืน” โดยมีแผนงาน โครงการ กิจกรรมที่ทำให้พวกเขา “พึ่งตนเองและมีความสุข” ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

คนอินแปงคือกลุ่มชาวบ้านที่ศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน และได้พบว่า ทำตามนโยบายส่งเสริมของรัฐบาลทำให้เป็นหนี้ จึงคิดหาแนวทางพัฒนาตนเอง จากที่ไปเก็บของป่ามาขายจนหมดป่าก็ยังแก้ปัญหาหนี้สินไม่ได้ จึงพากันไป “ยกป่ามาไว้บ้าน ยกภูพานมาไว้สวน” ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก

ตั้งแต่ปี 2530 ที่เกิด “อินแปง” สมาชิกที่ภูพานไปเก็บเมล็ดหวายจากป่ามาเพาะกล้าได้กว่า  70 ล้านต้น เฉลี่ยปีละ 2 ล้านต้น มีกิน มีใช้ มีขาย หวายที่หายไปในป่าก็เกิดใหม่เต็มป่าและปลูกกันเต็มบ้านเต็มสวน

เคยนำพระราชดำรัส “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ตรัสว่า “พึ่งตนเองไม่ต้องทั้งหมด เอาแค่เศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ” ไป “ประเมิน” อินแปง ปรากฏว่า พวกเขา “พึ่งตนเอง” ได้มากกว่าร้อยละ 25

ในหนังสือ “วิถีสู่ชุมชนพอเพียง” (2552) ได้เล่าเรื่องชุมชนต้นแบบ 7 แห่ง และได้วิเคราะห์ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่า ชุมชนเหล่านี้ “พึ่งตนเองและมีความสุข” ตามกรอบ เกณฑ์ ตัวชี้วัด ของ “พอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน” อย่างไร

ในหนังสือ “เศรษฐกิจพอเพียงเกิดได้ถ้าใจปรารถนา” (2550) ในภาคผนวก ได้สรุปการศึกษาชุมชน 25 แห่งทั่วประเทศ และเครื่องมือที่ได้นำไปใช้พร้อมกับกรอบ เกณฑ์ ตัวชี้วัดเศรษฐกิจพอเพียงอย่างละเอียด

เมื่อปี 2550 ได้นำ “รอด พอเพียง ยั่งยืน” ให้อบต. เทศบาล 300 แห่ง ทั่วประเทศประเมินตนเอง พร้อมด้วยกรอบ เกณฑ์ ตัวชี้วัด พบว่าเกือบร้อยละ 40 รอด ร้อยละ 20 พอเพียง ร้อยละ 2 ยั่งยืน ส่วนที่เหลือประมาณร้อยละ 40 ไม่รอด เหมือนคนยังลอยคออยู่กลางทะเล ไม่รู้จะรอดหรือจมน้ำตาย รอความช่วยเหลือ

ที่ยกตัวอย่างเรื่องชุมชนเพื่อบอกว่า ทุกภาคส่วน ทุกองค์กร หน่วยงาน ต้องมี “ยุทธศาสตร์เพื่อความยั่งยืน” ของตนเอง ต้องมีวิสัยทัศน์ มีเป้าหมาย มีแผนงาน โครงการ กิจกรรม

ที่สำคัญไม่ใช่เพียงหลักคิดหลักการ แต่ความต่อเนื่อง อย่างหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับชุมชนมักทำเพียงเอาชาวบ้านมาอบรมเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” เรื่อง “ความยั่งยืน” เพื่อรายงาน โดยไม่ดูว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงที่วัดได้หรือไม่ “การเปลี่ยนแปลง” ที่สำคัญ คือ “การลดโลกร้อน” ที่ทำได้ 108 วิธีตามบริบทของตนเอง

ทั้งนี้เพื่อจะได้พิสูจน์ว่า งานในทุกภาคส่วนมีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดการพัฒนายั่งยืน ที่ยูเอ็นให้นิยามมานานแล้วว่า “หมายถึงการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของปัจจุบัน โดยไม่ทำให้ผู้คนในอนาคตเดือดร้อน”  แปลว่าทำอะไรก็ให้คิดถึงลูกหลานในอนาคตด้วย ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ความยั่งยืนที่ได้เรียนรู้จากชุมชน คือ ทำอย่างไรจึงจะ “พึ่งตนเองและมีความสุข” ทำอย่างไรจึงจะ “อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีกินตลอดชีวิต” และมีไว้ให้ลูกหลานรุ่นต่อๆ ไปด้วย

เป้าหมายของไทยคงไม่ใช่แค่ปี 2030 จะได้ “รอด”  แต่ต้องทำให้เป็นจริงตั้งแต่วันนี้ เพราะ “ขอบฟ้ามิได้อยู่ที่สุดสายตา แต่อยู่ทุกย่างก้าวที่เราเดิน” (ปัสกาล)