นโยบายเรือธง ของ พรรคเพื่อไทย ยังคงขยับกันต่อไป ส่วนจะ บรรลุเป้าหมาย หรือไม่ ยังเป็นประเด็นที่ต้องรอลุ้น และอดใจรอ !
       

 อายุของรัฐบาล แม้จะยังเหลืออีกราว 2ปีกว่าจึงจะครบเทอม แต่กลับมีเสียงต่อต้านผุดขึ้นมาหลายแนวรบ แม้ผลจากคำวินิจฉัยในสารพัดคดียังไม่ปรากฏออกมาไม่ว่าจะเป็นคำร้องเรื่องใดก็ตาม  แต่วันนี้ แพทองธาร ชินวัตร นายกฯคนที่ 31 กำลังอยู่ในภาวะที่ไม่ต่างจากการบริหารราชการไป ก็ลุ้นระทึกชะตากรรม ของรัฐบาลไปในคราวเดียวกัน 
 

       โครงการแจกเงินคนละ1หมื่นบาท เฟสที่ 1 ให้กับกลุ่มเปราะบาง และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จบลงไปแล้ว แม้อาจจะไม่ตรงปกนัก เพราะแจกเป็นงด และทยอยให้เฉพาะกลุ่มเปราะบาง นำร่องไปก่อน แต่อย่างน้อยที่สุดสามารถลดแรงเสียดทาน กระแสเรียกร้อง เงินหมื่น ที่ เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯคนที่ 30 เคยเผชิญมาก่อนหน้านี้นับแรมปีลงได้ อย่างชัดเจน 
   

     ขณะเดียวกัน ยังพบว่าการขยับของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยพรรคเพื่อไทยในสภาผู้แทนราษฎร เองยังอยู่ในอาการสะดุด ไม่ราบรื่น เพราะจนถึงวันนี้ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยังอยู่ในสภาพที่เรียกว่า ติดหล่ม เสถียรภาพของรัฐบาลผสม ไม่กลมเกลียวกันมากพอที่จะ ขอแรง ให้ร่วมกันผลักดันร่างกฎหมายกลับไม่ใช่เรื่องง่ายดาย
 

ล่าสุด พรรครวมไทยสร้างชาติ ออกมา เบรก พรรคเพื่อไทย กันชนิดตัวโก่ง เมื่อพรรคเพื่อไทย เตรียม เสนอแนวทางเพื่อเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เร็วขึ้น โดยอาจรวมถึงการลดทำประชามติเหลือ 2 ครั้ง โดย  อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์  โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุล่าสุด โดยย้อนความจำว่า  ศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยเอาไว้แล้วว่าจะต้องทำประชามติ 3 ครั้ง โดยหากจะแก้ไขมาตราใด ต้องมีการทำประชามติอีกครั้ง ดังนั้นหลักการของพรรครวมไทยสร้างชาติ คือต้องทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

 วันนี้ มีคำถามอื้ออึงและดูเหมือนว่า พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ก็มองออกว่า การแก้รัฐธรรมนูญ ไม่น่าจะทัน จนกระทั่ง ไม่สำเร็จ ด้วยซ้ำ เช่นเดียวกับการผลักดันการนิรโทษกรรม ที่หลายฝ่ายแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง อาจไม่ไว้ใจว่าจะมีการสอดไส้เรื่อง ม.112 เอาไว้ด้วยหรือไม่เพราะเอื้อประโยชน์ ให้กับนักการเมืองบางส่วน   ดังนั้นโอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะดึงดันเดินหน้า แทบเป็นไปได้ยาก เพราะแรงต้านที่มาจากในรัฐบาลด้วยเอง ดูจะแรงมากกว่า เสียงค้านจากภายนอกด้วยซ้ำ