ศึกแรกนั้นจบลงไปแล้ว เมื่อการเลือกตั้ง เดือนพ.ค.2566 ผ่านพ้นไปจน มาถึงการตั้งรัฐบาลใหม่ จาก “เศรษฐา 1” มาสู่ “แพทองธาร 1” แต่ไม่ได้หมายความว่า “สงคราม” จะยุติลงไปด้วย !


เซียนการเมืองแทบทุกพรรคต่างรับรู้กันดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแค่ “ฉากหนึ่ง” เท่านั้น เมื่อ “ฝ่ายอนุรักษ์นิยม” มอบหมายให้ “พรรคเพื่อไทย” รับธง ทำหน้าที่ “ผู้เล่นใหม่” พลิกจาก “ฝ่ายค้าน” มาเป็น “รัฐบาล”ในรอบการเมืองกว่า 8ปี 


 แต่ดูเหมือนว่า รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ยังใช้เวลาในการบริหารจัดการผลักดัน “นโยบาย” ที่ใช้หาเสียงของพรรคตัวเอง ยังไม่เข้าน้ำเข้าเนื้อ เพราะจนวันนี้ทั้งการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการนิรโทษกรรม เพียงแค่เริ่มนับหนึ่ง แต่ยังไปต่อไม่ได้ 


 ขณะเดียวกันปฏิบัติการ ลดโทน “พรรคส้ม” ด้วยการพลิกกลับมากุม “คะแนนนิยม” สำหรับพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรครัฐบาลเอง ยังไม่เข้าเป้า จนเป็นที่มาว่าของการตั้งข้อสังเกตว่า แม้สถานการณ์ของพรรคเพื่อไทย อยู่ในสภาพ “ไม่สู้ดี” แต่จะให้ตัดสินใจ “ยุบสภาฯ”  เพื่อล้างไพ่แล้วเลือกตั้งกันใหม่ ก็ยังเป็นเรื่องยากเย็น 
 เมื่อวันนี้พรรคเพื่อไทย มีเพียงผลงานเด่นอยู่ที่การ “แจกเงินหมื่น” ให้กับกลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตามดาต้าฐานข้อมูลจากสมัยรัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  องคมนตรี และอดีตนายกฯเท่านั้น


 ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเก่า อาจเฝ้ามอง “ผลงาน” ของพรรคเพื่อไทย ที่ผ่านไปกว่า 1ปีเศษ นั้นว่ายังไม่สามารถตอบโจทย์ได้จริง มิหนำซ้ำล่าสุด พรรคเพื่อไทยยังกลายเป็นฝ่ายตกอยู่ในสมรภูมิรบเสียเอง เมื่อทั้งปมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “เกาะกูด” กรณีพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชา คือเผือกร้อนเรื่องใหม่ ที่พรรคเพื่อไทยยังหวังว่า จะ “จุดไม่ติด” 
 ยังปรากฎว่า มีแนวรบใหม่ เมื่อเปิดหน้า ตั้งป้อม “ค้านสุดตัว” นั่นคือแนวรบจากฝั่ง “นักเศรษฐศาสตร์” พร้อมชน กับ “คนเพื่อไทย” ที่ตั้งธง เข้ามาวุ่นวายกับ “แบงก์ชาติ” ล่าสุด 227 นักวิชาการ และกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ออกแถลงการณ์ห่วงใยธนาคารแห่งประเทศไทย ถูกแทรกแซงจากกลุ่มการเมือง เพื่อผลประโยชน์ระยะสั้น ทำลายเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของประเทศในระยะยาว


 สืบเนื่องจาก ในวันที่ 4 พ.ย.นี้ จะมีการประชุมเพื่อคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 รายในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย แน่นอนว่า ชื่อของ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ถูกส่งเข้ามาจ่อตำแหน่งประธานบอร์ด ตั้งแต่เดือนที่ผ่านมา พร้อมๆกับแรงต้านที่ปะทุรอท่า จากบรรดา นักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีอดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ร่วมอยู่ด้วย 
 แนวรบด้านนี้ อาจแตกต่างไปจาก “ฝ่ายการเมือง” แต่เชื่อเถอะว่าคนที่อยู่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า”  เองก็รู้ดีว่า หากปล่อยให้เรื่องราวยืดเยื้อ รังแต่จะทำให้ทั้งพรรคและ “แพทองธาร ชินวัตร” อดีตนายกฯ อยู่ยากมากยิ่งขึ้น !