สถาพร ศรีสัจจัง

กล่าวโดยสรุป “เส้นทาง” พัฒนาการของสปีชีส์ “เซเปียนส์” (Sapiens) สู่ความเป็น “มนุษย์” (Human being) อันหมายถึง “สิ่งมีชีวิต” ที่แตกต่างจากสปีชีส์อื่นๆอย่างสิ้นเชิงด้วยความสามารถของ “สมอง” ที่พัฒนาสั่งสม จนสามารถ “สร้างสรรค์” สิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรม” (Culture)ขึ้นได้

โดยเฉพาะวัฒนธรรมด้านจิตใจ ที่เรียกกันในยุคปัจจุบันว่า “จริยธรรม” (Ethic) เพราะด้วยสิ่งที่มนุษย์เรียกว่า “จริยธรรม” นี้เอง ที่ทำให้พวกเขามี “เครื่องป้องกัน” ให้(บางส่วนของ)เผ่าพันธุ์สามารถหลุดพ้นจาก “สัญชาตญาณสัตว์”(สิ่งมีชีวิตสปีชี่ส์อื่นๆที่ไม่ใช่ “มนุษย์”) อย่างแทบจะสิ้นเชิงมาได้                                               

จากยุคแรกที่ “เซเปียนส์” รวมกลุ่มเร่ร่อนอยู่ในแผ่นดินโลก(Earth/Planet)ในแต่ละส่วน เพื่อเสาะหาพื้นที่เหมาะสม มีความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่สามารถเก็บเกี่ยว และ “ล่า” มาเป็นอาหารในการยังชีวิตรอดตาม “สัญชาตญาณ” (Instinct) และ ปลอดภัยจากสิ่งมีชีวิตอื่นที่เป็น “ตัวห้ำ” (Predator)

จนกระทั่งมีพัฒนาการในการเรียนรู้(Learning) ที่จะ “เพาะปลูก” (Cultivation) และ “เพาะเลี้ยงสัตว์”(Animal husbandry)เพื่อใช้เป็นอาหารแทนการเร่ร่อนหาแหล่งเก็บเกี่ยวและล่านั้น ก็กินเวลานับหลายพันปี

นักวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ค้นพบและสรุปได้ประมาณว่า การเกษตรกรรมถูก “คิดค้น” ขึ้นเมื่อประมาณ 12,000 ปีก่อน ในพื้นที่แหล่งอารยธรรมของมนุษย์ยุคแรกๆแถบลุ่มน้ำเมโสโปเตเมีย ย่าน อิรัก เลแวนต์ บางส่วนของตุรเคียและอิหร่าน และพบด้วยว่า การเกษตรกรรมได้รับการพัฒนาในช่วงเวลาที่แตกต่างกันมากในแต่ละสถานที่ และบางสถานที่แทบจะไม่มีการพัฒนาเลย เช่น ย่านอาร์กติก เป็นต้น

ระบบความสัมพันธ์ทางการผลิต(Relations of Production)แบบสังคมเกษตรกรรมเติบโตขึ้นทุกพื้นที่ในโลก พัฒนาควบคู่มากับระบบการเมืองแบบ “ศักดินานิยม” (Feudalism) ในรายละเอียดเกี่ยวกับ “อัตลักษณ์” ที่แตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของแต่ละพื้นที่ อย่างน้อยก็ในรอบหลายพันปี

อย่างกรณีสังคมไทย(พื้นที่หนึ่งของ “สุวรรณภูมิ” ในอดีตหรือ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ในปัจจุบัน) หลักฐานพัฒนาการเกี่ยวกับสังคมเกษตรกรรมกับระบบการเมืองก็ควบคู่มาด้วยกันตลอดเช่นกัน มีหลักฐานที่อ้างอิงได้ของ 2 ระบบ อย่างน้อยนี้มาตั้งแต่ยุคสุโขทัย จนถึงถึงยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น

หลักฐานยุคพ่อขุนรามรามคำแหงมหาราช(โปรดสังเกตคำเรียกตำแหน่งพระมหากษัตริย์ไทยช่วงนี้ มีคำว่า “พ่อ”นำหน้า) บอกเราว่าพระองค์ทรงส่งเสริมการเกษตรอย่างกว้างขวาง ให้สิทธิการถือครองที่ดินในการทำสวนทำนาเป็นมรดกตกทอดจากพ่อแม่ถึงลูกหลาน ส่งเสริมให้มีระบบการชลประทาน และใหเสรีในการค้า ฯลฯบ้านเมืองจึงเกิดอาการ “ไพร่ฟ้าหน้าใส”และ “ใครใคร่ค้าช้างค้าค้าม้าค้า” ดังมีหลักฐานปรากฏชัดในศิลาจารึกหลักที่ 1 ของสุโขทัย

จากเอกสารคำบรรยายเรื่อง “การเกษตรยั่งยืน” ของ คุณอำพล  เสนาณรงค์ อดีตเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ คนสำคัญ มีรายละเอียดในเรื่องพัฒนาการทางการเกษตร(พืชและสัตว์)มาก ที่สำคัญๆเช่นบอกว่า

การเกษตรของอยุธยาก้าวหน้ากว่ายุคสุโขทัยมาก เกิดระบอบศักดินาแบบ “จตุสดมภ์” มีหน่วยงานควบคุมดูแลการทำนาโดยเฉพาะของรัฐเกิดขึ้น เรียกว่าสดมภ์ “นา” จากหลักฐานพบว่าในสมัยอยุธยา เมืองนี้มั่งคั่งมาก เฉพาะการค้าข้าวกับต่างชาติ ปีหนึ่งมีถึง 300-800 ตัน เมื่อถึงยุคธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราชก็ยิ่งเร่งส่งเสริมให้ราษฎรทำนา เปิดพื้นที่ใหม่ๆเพื่อเพิ่มผลิตผลสำหรับเป็นอาหารหลักภายในประเทศและเพื่อการส่งออก

พอเข้าสู่ยุคกรุงรัตนโกสินทร์(เริ่มต้นเมื่อพ.ศ.2325)ก็มีพัฒนาการและการเพิ่มพื้นที่การเกษตร(โดยเฉพาะการปลูกข้าว)มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะช่วงหลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง (พ.ศ.2398 –สมัยรัชกาลที่ 4) ก็ยิ่งเพิ่มการปลูกข้าวเพื่อ “การพานิชย์” มากขึ้น เชื่อมต่อมาจนถึงรัชกาลที่ 5 ที่มีการ “เปิดทุ่ง” เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการปลูกข้าว เช่น ทุ่งเสียมเรียบ ทุ่งระโนด ทุ่งระโนด(สงขลา) และทุ่งรังสิต เป็นต้น

ช่วงต้นยุครัตนโกสินทร์นี่เองที่ชาติตะวันตก(โดยเฉพาะอังกฤษและสหรัฐอเมริกา)เริ่มมีการ “ปฏิวัติอุตสาหกรรม”(Industrial Revolution) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง “เทคนิคในการผลิต” อย่างรวดเร็ว เพื่อสนองตอบต่อระบอบเศรษฐกิจที่เริ่ม “เสรีนิยม” ตามแนวคิดของนายอดัม สมิธ นักปรัชญาและเศรษฐศาสตร์ชาวสกอต (เจ้าของหนังสือ “the Wealth of Nation” ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปีค.ศ.1776(พ.ศ.2319)มากยิ่งขึ้น

การปฏิวัติอุตสากรรมในยุโรปและอเมริกาที่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษ 18-19 นั้น ส่งผลต่อระบบการเกษตรและระบบการปกครองแบบ “ศักดินาไทย” ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์โดยตรง(อย่างน้อยจนถึงรัชกาลที่ 5) เรื่องนี้จะได้ลงในรายละเอียดกันอีกครั้งภายหลัง

ที่น่าสังเกตความเป็นพิเศษของ “ระบบศักดินาไทย” ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ก็คือ ช่วงนั้นนอกจากเป็นช่วงของเริ่มการปฏิวัติอุตสาหกรรม(หลังยุครุ่งเรืองในการเดินเรือ)แล้ว ก็เป็นยุคที่จักรวรรดินิยมตะวันตกทั้งหลาย “ล่าอาณานิคม” อย่างหนัก(เพื่อแสวงหาวัตถุดิบและแหล่งระบายสินค้า)

ประเทศในเอเชียใหญ่ๆที่เคยเป็น “มหาอำนาจ” อย่างจีนและอินเดียต้องตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ  เฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(ทั้งบนพื้นทวีปและหมู่เกาะในแปซิฟิก)ล้วนแล้วแต่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของ “เจ้าอาณานิคม” ทั้งสิ้น

แต่ทำไม “ระบบศักดินาสยาม” จึงสามารถนำพาประเทศรอดพ้นทั้งจากปากเหยี่ยวและปากกาที่ตะกละหฤโหด จนสามารถดำรงความเป็น “เอกราช” เอาไว้ได้?