เซียนการเมืองระดับ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะ แกนนำพรรคเพื่อไทย บอกกับสื่อชัดถ้อยชัดคำว่าไม่ได้สนใจผลการสำรวจจากนิด้าโพล ที่สะท้อนความเห็นของประชาชนว่าไม่เชื่อมั่นรัฐบาลจะอยู่ครบเทอม แถมสมศักดิ์ ยังระบุด้วยว่า รัฐบาลนี้จะอยู่อีกยาว!


  ไม่น่าจะไปสนใจอะไรประเด็นนี้ บางครั้งเวลาเลือกตั้ง โพล 85 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังไม่ใช่ สุดท้ายก็แพ้ เอาแน่เอานอนบางเรื่องบางราวไม่ได้ 
 แต่เอาเป็นข้อมูล ให้ไว้วิพากษ์วิจารณ์กัน เป็นความสนุกสนาน ส่วนจะมีปัจจัยอะไรนั้น มองว่าเรื่องนี้ยังไม่ต้องวิเคราะห์ เพราะว่ายังอีกนาน ยังไม่มีอะไร (29 ต.ค.67) 
 การแสดงความมั่นใจของสมศักดิ์ ที่มีต่ออายุรัฐบาล แม้จะสวนทางกับ กระแส การเมืองอีกฟากหนึ่ง ส่งสัญญาณถึงโอกาสและความเป็นไปได้ว่า แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อาจจะเลือกวิธี ยุบสภา ก่อนที่ พรรค จะถูกยุบ 


  เพื่อไม่ทำให้เกิดความเสียหายที่จะตามมาอย่างรุนแรง นั่นคือการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตามมา เพราะแพทองธาร ยังมีอีกหนึ่งสถานะ นั่นคือ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย จะต้องถูกดำเนินการตามพ.ร.ป.พรรคการเมืองตามมา อีกหนึ่งช็อต 


 เมื่อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ อันมีส่วนเกี่ยวข้องกับ คำร้อง  ที่จะนำไปสู่การยุบพรรค ทั้งพรรคเพื่อไทยและ อีก 6พรรคร่วมรัฐบาลเดิม เริ่มขยับ ! สืบเนื่องจากกรณีที่เข้าไปหารือจัดตั้งรัฐบาล แพทองธาร 1 กันที่ บ้านจันทร์ส่องหล้า ของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เมื่อวันที่ 14 ส.ค.67 ในวันเดียวกันกับที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้ เศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกฯคนที่ 30

 
 ความมั่นใจของพรรคเพื่อไทย ที่สะท้อนออกจากปากแกนนำระดับสมศักดิ์ ที่แม้เจ้าตัวจะไม่มีกลุ่มก๊วน แต่ขึ้นตรงกับ ทักษิณ  สาเหตุหนึ่งอาจมาจาก ห้วงเวลา  การพิจารณาคดียุบพรรคเพื่อไทยและอีก 6พรรคร่วมฯเดิม ใช่ว่าจะเกิดขึ้นวันนี้ หรือพรุ่งนี้ 


 ผลการสำรวจจากนิด้าโพล ที่กลายเป็นประเด็นทั้งบวกและลบต่อตัวรัฐบาล ว่าแม้เสียงส่วนใหญ่ที่ร้อยละ 41.68 เชื่อว่าจะไปต่อได้จนครบเทอมในปี 2570 แต่ขณะเดียวกันยังพบว่า ในฟากที่ไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะอยู่จนครบเทอม ถูกแยกย่อย ออกเป็น ร้อยละ 19.08 เชื่อว่าจะไปต่อได้อีกประมาณ 2 ปี (2569) ร้อยละ 16.87 เชื่อว่าจะไปต่อได้อีกประมาณ 1 ปี (2568) ร้อยละ 11.99 เชื่อว่าจะไปต่อได้จนเกือบๆ ครบเทอมในปี 2570 ร้อยละ 9.77 เชื่อว่าจะไปต่อได้ไม่เกินสิ้นปี 2567


 แต่สิ่งต่างๆเหล่านี้ สำหรับเกมการเมืองแล้ว ยังมี ปัจจัยอื่น ที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และสามารถผันแปรไปตามสภาวะการณ์ที่มองเห็นและที่อยู่เบื้องหลัง เพราะอย่างน้อยที่สุดลึกๆแล้ว สำหรับพรรคเพื่อไทยเอง ยังคงเชื่อมั่นว่าด้วยฐานะ ผู้นำ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมใหม่ ที่ถูกเซ็ตอัพให้ขึ้นมาสู้กับ พรรคสีส้ม อย่าง พรรคก้าวไกล จนมาถึงพรรคประชาชน นั้นน่าจะยังพอมี ผลงาน ที่เข้าตา อยู่บ้าง


  และหากเปลี่ยนเอา แพทองธาร ออกจากตำแหน่งนายกฯ แล้วจะเท่ากับเป็นการเปิดประตูไปสู่ความวุ่นวายและความขัดแย้งทางการเมืองระลอกใหม่ขึ้นมาหรือไม่ !?