ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
อาจารย์ประจำคณะการทูตและการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิต
สัปดาห์นี้มีคำถามที่น่าสนใจมาจากทางบ้านว่า ในยุคที่การเมืองโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยควรสงวนท่าทีอย่างไร? วันนี้เรามาคุยประเด็นนี้กันครับ
ก่อนอื่นต้องบอกว่า ประเทศไทยในฐานะประเทศหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำเป็นต้องวางแผนการทูตและสงวนท่าที “อย่างรอบคอบ” เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันอย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพ แต่การวางตัวอย่างรอบคอบนั้น มิได้หมายความถึงการระวังตัวไปซะทุกอย่าง จนกลายเป็นไม่ทำอะไรเลย แต่เป็นการที่ต้องเงียบในบางเรื่อง ส่งเสียงในบางเรื่อง โดยที่ต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบนั่นเอง ซึ่งสามารถสรุปรวมๆได้ดังนี้
1.ส่งเสริมความร่วมมือทางการเมืองและเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค
ประเทศไทยควรมีท่าทีสนับสนุนความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ผ่านสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) เพื่อสร้างความเข้มแข็งในภูมิภาค การสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก ASEAN โดยมีเป้าหมายสำคัญในการช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจภายในภูมิภาคให้เติบโตและลดการพึ่งพาจากประเทศนอกภูมิภาค ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ลดอิทธิพลของมหาอำนาจที่มักมาในรูปแบบทวิภาคีกับประเทศสมาชิก (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ ASEAN ไม่แข็งแรงจริงๆสักที) นอกจากนี้ การสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับประเทศเพื่อนบ้านจะช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมืองให้ทั้งกับประเทศไทยและภูมิภาค
การส่งเสริมการค้ากับประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนจะลดการพึ่งพาตลาดของประเทศมหาอำนาจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่แน่นอน เช่น จีนและสหรัฐอเมริกา และส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดีประเทศไทยควรรอบคอบในการสนับสนุนการร่วมมือกันกับประเทศอาเซียนเพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกว่า “ประเทศไทยเป็นผู้นำการแทรกแซงกิจการภายใน” ของประเทศใดประเทศหนึ่ง
หากอาเซียนแข็งแรงขึ้น เป็นปึกแผ่นได้มากขึ้น (สาธุ) ก็อาจส่งผลดีต่อการโต้คลื่นการแข็งขันของมหาอำนาจของไทยและประเทศสมาชิก และทำให้การวางตัวและการสงวนท่าทีทำได้ง่ายขึ้น
2. วางตัวบนหลักการ Smart Position เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับมหาอำนาจ
หลายคนบอกว่าประเทศไทยควรสงวนท่าทีเป็นกลางในเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะระหว่างมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน เนื่องจากทั้งสองประเทศมีบทบาทที่สำคัญและต่างต้องการอิทธิพลในภูมิภาค แต่ส่วนตัวผู้เขียนมองว่า การ “วางตัวเป็นกลาง” แบบเต็มรูปแบบ อาจไม่ส่งผลประโยชน์ต่อไทยอย่างที่คิดกัน มิหนำซ้ำอาจสร้างความท้าทายและอุปสรรคจากทั้งสองทาง เพราะแน่นอนว่าต่างฝ่ายต่างต้องการเราเป็นพวกในการแข็งขัน ดังนั้น ประเทศไทยต้องวางตัวให้ “Smart” หากจำเป็นต้องเหยียบเรือให้ครบทุกแคมก็ต้องทำ โดยยึดธงหลักคือผลประโยชน์ของชาติ อาจจำเป็นต้องแสดงออกให้ชัดเจนว่า ไทยจะยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก เห็นประเทศเล็กๆแบบนี้แต่ก็มาบีบไม่ได้ง่ายๆนะครับ หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และการตกอยู่ท่ามกลางดราม่าต่างๆ และพร้อมจะร่วมมือกับทุกฝ่ายในด้านสร้างสรรค์ ซึ่งต้องชื่นชมการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศไทยในปัจจุบันที่ก็ดำเนินการเช่นนี้อยู่
อย่างไรก็ดี บางครั้งบางคราว การหลีกเลี่ยงดราม่าต่างๆ ก็อาจเป็นส่วนที่ทำให้เรา “ตกขบวน” ได้เช่นกัน ดังนั้น ต้องยึดหลักการให้มั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง International Norms ต่างๆ ที่ทั่วโลกยากจะปฏิเสธ ในขณะเดียวกันก็ต้องเดินหน้าเชิงรุกทางด้านเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ ความช่วยเหลือต่างๆ เพื่อให้คงความเป็นสมาชิกสังคมโลกที่น่ารัก น่าคบค้าด้วยอยู่เสมอ
3. เสริมสร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเองในภาคเศรษฐกิจและพลังงาน
เพื่อให้ประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันต่อทั้งการแข่งขันของมหาอำนาจและทุนนิยม และสถานการณ์การเมืองโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การพัฒนาและเสริมสร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเองในภาคเศรษฐกิจจะทำให้ประเทศไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การสนับสนุนการผลิตสินค้าในประเทศ เช่น สินค้าเกษตรและอาหารซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย การสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของสินค้าเกษตร รวมถึงการขยายตลาดส่งออกในภูมิภาค เพื่อให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าบนจุดแข็งของตนเอง อันจะเป็นสิ่งที่มั่นคงมากกว่า ทั้งมิติภาครัฐ และระดับบุคคล
ในด้านพลังงานก็เช่นกัน ประเทศไทยควรเร่งพัฒนาศักยภาพพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวมวล ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศและลดผลกระทบจากราคาพลังงานที่ผันผวนในตลาดโลก
สัปดาห์นี้ หมดพื้นที่เท่านี้ครับ สัปดาห์หน้าจะมาเล่าให้ฟังกันต่อครับ
ยังไม่เอวัง