อยู่ในความเงียบงันจนน่าประหลาดใจ เมื่อบทบาทและความโดดเด่นของ “พรรคประชาชน” ในฐานะพรรคแกนนำฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร คล้ายกับถูกกลืนกินด้วย ความขัดแย้งระหว่าง ขั้วอำนาจ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ กับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
เมื่อสองขั้วอำนาจใหญ่ เปิดหน้าชน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลพวงที่ตามมาคือแรงกระทบไปตกไปถึง พรรคพลังประชารัฐ ที่วันนี้เป็นเหมือน “ น้ำน้อย” ย่อมแพ้ไฟ อย่างพรรคเพื่อไทย จนถูกเขี่ยออกจากพรรคร่วมรัฐบาล “แพทองธาร1” อย่างที่เห็น ในห้วงเวลานี้กลับไม่สามารถทำให้พรรคประชาชน ในยุคที่มี “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” สส.บัญชีรายชื่อ เป็นหัวหน้าพรรค พลิกเกมกลับมาทวงคืนคะแนนนิยมเป็นกอบเป็นกำได้ เพราะหลังการเปลี่ยน “แม่ทัพ” จาก “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ที่ต้องกลายเป็นอดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล มาสู่ณัฐพงษ์ ก็ดูเหมือนว่าหัวหน้าพรรคคนใหม่ ยังไม่สามารถพาพรรคขึ้นชั้นได้
และเหนืออื่นใด คือการที่พรรคประชาชน กลายเป็นพรรคการเมืองที่อยู่ในท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากทางการเมือง ปัญหาจากนิติสงครามที่ “รัฐบาลใหม่” และ “นายกฯแพทองธาร” ต้องเผชิญ บวกกับความหวังของผู้คนที่รอลุ้น “แจกเงินหมื่น” จนทำให้ ที่ยืนของพรรคฝ่ายค้าน ยิ่งถูกบดบังลงไปทุกขณะ
พรรคประชาชน เหมือนยืนอยู่อย่างโดดเดี่ยว กลางสภาฯ ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน เพราะแม้ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่ถูกแบ่งออกเป็น “สองฝ่าย” แต่ยังคงอยู่ใต้ชายคาในชื่อพรรคเดียวกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าพรรคพลังประชารัฐในปีกของ บิ๊กป้อม จะเล่นฝ่ายค้าน อย่างดุเดือด
สถานการณ์ทางการเมืองทั้งบวกและลบ ล้วนเกี่ยวพันกับขั้วรัฐบาลผสม เป็นหลัก และในห้วงตลอดสองเดือนที่ผ่านมา หลังการเข้ารับตำแหน่ง “นายกฯคนใหม่” ของแพทองธาร แม้ตัวเธอเองไม่ได้โดดเด่นในฐานะผู้นำ ในแบบฉบับของคนรุ่นใหม่ แต่กลับห้อมล้อมไปด้วย “ลูกน้องพ่อ” แต่ขณะเดียวกัน ตัวเล่นหลักของพรรคประชาชน ที่เคยถูกจับมา “เปรียบมวย” อย่าง “ศิริกัญญา ตันสกุล” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ซึ่งเคยถูกวางตัวให้เป็นหัวหน้าพรรค ก่อนที่จะมี “ใบสั่ง” จากเจ้าของพรรคตัวจริง สั่งเปลี่ยนกระทันหันจากศิริกัญญา มาเป็น ณัฐพงษ์
ทว่าปัญหาของพรรคประชาชน ในเวลานี้แม้จะมีศิริกัญญา ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค หากไม่ใช่ณัฐพงษ์ ก็ยังตอบได้ยากว่า จะสามารถกอบกู้ “คะแนนนิยม” เหมือนกับเมื่อครั้ง ที่พิธา เคยทำสถิติเอาไว้ได้อยู่ดี และอย่าลืมว่า ขณะที่ “รัฐบาลผสม” ในปีก อนุรักษ์นิยม กำลังเจอกับนิติสงคราม ก็ใช่ว่าฝั่ง “ประชาธิปไตย” อย่างพรรคประชาชน จะไม่ต้องลุ้นเกมเสี่ยงด้วยเช่นกัน
เพราะยังมี คำร้องขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการเอาผิด “44 อดีตสส.ก้าวไกล” ที่เคยร่วมกันลงชื่อเสนอแก้ไขกฎหมาย อาญา ม.112 ซึ่งความคืบหน้าล่าสุด สำหรับคำร้องดังกล่าว
ล่าสุดเมื่อราวปลายเดือนส.ค.67 ที่ผ่านมา “สาโรจน์ พึงรำพรรณ” รองเลขาธิการป.ป.ช.เปิดเผยว่า อยู่ในระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง 44 ส.ส. และพยานบุคคลมาให้ถ้อยคำ นอกจากนี้ ป.ป.ช.คงไม่รอเวลาตามกรอบกฎหมาย 2ปี ซึ่งอาจจะแล้วเสร็จได้เร็วกว่านั้น ความสุ่มเสี่ยงของพรรคประชาชน หากมีอันต้องถูกยุบรอบที่สาม จะเหลือใครรอดไปถึงวันเปิดสนามเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ และจะยังเหลือ “ที่ยืน” มากน้อยแค่ไหน เมื่อบรรดา “ขั้วใหญ่” เปิดศึกตะลุมบอนกันเอง !