ทวี สุรฤทธิกุล

วันข้างหน้าแม้โลกนี้จะใช้เงินดิจิทัลไปทั้งหมด แต่ระบบการควบคุมด้วยธนาคารกลางก็ต้องมีอยู่ตลอดไป

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนกับเพื่อนผู้เกษียณจากราชการกลุ่มเล็ก ๆ ได้ใช้เวลาว่างที่มีค่อนข้างมาก ไป “เรียนรู้” เรื่องราวของการบริหาร “ธนบัตรไทย” ตั้งแต่การพิมพ์ การออกใช้ และการทำลาย โดยสายออกบัตรธนาคาร (หรือที่น่าจะเรียกให้ชัด ๆ ว่า โรงพิมพ์ธนบัตร จะสื่อกับชาวบ้านได้ง่ายกว่า)  ที่ตั้งอยู่บนถนนบรมราชชนนี ในอำเภอนครชัยศรี (ตั้งอยู่ใกล้กันและฝั่งเดียวกันกับพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย) นอกจากจะได้ความรู้ “อย่างลึกซึ้ง” กับความละเอียดอ่อนของการดูแลธนบัตรแล้ว ในส่วนตัวของผู้เขียนที่เป็นนักรัฐศาสตร์ ก็อดไม่ได้ที่จะเชื่อมโยงเรื่องการทำงานด้านนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย เข้ากับกิจกรรมด้านการเมืองการปกครองที่มีปัญหาบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องธนาคารแห่งประเทศไทยนี้ด้วย

ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2485 ช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งตอนนั้นญี่ปุ่นยังยึดครองประเทศไทยอยู่ ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลการพิมพ์ธนบัตรในยุคนั้น บอกว่าญี่ปุ่นมาคุมการพิมพ์แบงก์อย่างเข้มงวด ธนบัตรไทยที่เคยพิมพ์มาจากอังกฤษก็ขาดแคลน ญี่ปุ่นบังคับให้ไทยใช้ธนบัตรของญี่ปุ่น โดยประทับคำว่า “1 บาท” ลงไปบนเงินเยนของญี่ปุ่น จึงจะเป็นเงินที่ใช้ได้ ดังนั้นการก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีเหตุผลอย่างหนึ่งเพื่อแสดง “อิสรภาพ” ทางการเงิน อันเป็นเรื่องของความมั่นคงแห่งประเทศอย่างหนึ่ง แต่กระนั้นในระยะแรกก็ยังต้องไปจ้างโรงพิมพ์ที่อังกฤษนั้นพิมพ์มาโดยตลอด (ที่เป็นเจ้าประจำคือ Thomas de la Rue ของอังกฤษ) จนถึงปี 2512 รัฐบาลไทยจึงเริ่มพิมพ์ธนบัตรเอง และใน พ.ศ. 2550 จึงได้มาก่อสร้างโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งใหม่ที่บนถนนบรมราชชนนีนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทยมีฐานะเป็นองค์กรหลักในการดูแลเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ เช่น เรื่องค่าเงินบาท อัตราแลกเปลี่ยน และดอกเบี้ยธนาคาร บ่อยครั้งก็เกิดการ “คัดง้าง” กับรัฐบาล ด้วยความที่กฎหมายได้ให้ความเป็นอิสระแก่ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเกิดกรณี “มีความเห็นต่าง” อยู่เสมอ ๆ อย่างล่าสุดก็เรื่องการลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25 % ที่รัฐบาลตั้งแต่สมัยนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีพยายามร้องขอ แต่ก็เพิ่งมาลดได้เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา จนสังคมบางระดับมองว่านั่นเกิดจากความร้าวฉานส่วนบุคคลของนักเศรษฐศาสตร์ในรัฐบาลกับในธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ แต่ถ้ามองในมุมบวก เราก็อาจจะมองเห็นว่า นี่คือการถ่วงดุลหรือ “ห้ามล้อทางเศรษฐกิจ” ที่จะต้องคอยชะลอความทุรนทุรายของรัฐบาล ผู้มาจากฝ่ายการเมืองและสังคมมองว่าเต็มไปด้วยผลประโยชน์ต่าง ๆ ดังนั้นเมื่อเกิดความขัดแย้งเกิดขึ้น ผู้คนก็เชื่อถือหรือมองธนาคารแห่งประเทศไทยในแง่ดีมากกว่า แต่สุดท้ายธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต้องดำเนินการตามกลไกเศรษฐกิจ โดยแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ตัดสินใจอะไรเพื่อตามใจนักการเมือง ที่สำคัญก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก นั่นคือ “เสถียรภาพและความมั่นคง” ในระบบเงินตราของประเทศ

เรื่องธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีเรื่องที่ควรจะต้อง “ขบคิด” อีกมาก โดยเฉพาะในอนาคตที่โลกเรากำลังจะใช้เงินดิจิทัลเป็นหลัก ดังนั้นเมื่อคณะของผู้เขียนได้ไปชมกระบวนการพิมพ์และบริหารการใช้ธนบัตร ในช่วงที่มีการให้ถามคำถาม ผู้เขียนจึงถามว่าระบบเงินดิจิทัลจะกระทบต่ออนาคตของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งวิทยากรที่นำชมก็ตอบได้ระดับหนึ่งว่า คงไม่กระทบเพราะธนาคารแห่งประเทศไทยก็พร้อมรับและปรับตัวไปตามสภาวะที่กำลังเปลี่ยนแปลงนี้อยู่แล้ว

จากนั้นก็มีอาจารย์อีกท่านหนึ่งถามว่า กรณีเงินในระบบแชร์ลูกโซ่ที่เป็นข่าวอยู่นี้ เงินที่หายไปหรือมีการโอนออกไปเป็นเงินดิจิทัล จะมีผลเสียหายแก่ระบบการเงินของประเทศหรือไม่ ซึ่งวิทยากรก็ตอบอย่างฉับไวว่า ไม่กระทบอะไรเลย เพราะที่เห็นเป็นจำนวนเงินเป็นร้อย ๆ พัน ๆ ล้านนั้น ก็เป็น “แค่ตัวเลข” ไม่ได้เป็นก้อนเงินหรือแผ่นธนบัตรจริง ๆ ที่เป็นส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องดูแล พอมาถึงตรงนี้ผู้เขียนก็เลยนึกคำถามขึ้นมาได้อีก โดยได้ถามไปว่า ถ้าอย่างนั้นกรณีที่คนโบราณชอบเอาเงินไปฝังซุกซ่อนข้าศึก เช่น ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ก็คงจะไม่ดีใช่ไหม ซึ่งวิทยากรก็ตอบอย่างสุภาพว่า ไม่ควรกระทำ เพราะนั่นจะทำให้ธนบัตรชำรุด เสียหาย (ฮา)

เรื่องธนบัตรชำรุดเสียหายนี้เป็นเรื่องใหญ่ในหน้าที่อีกอย่างหนึ่งของสายออกบัตรธนาคาร คือต้องคอยรับแลกธนบัตรที่ชำรุดให้กับลูกค้า คือธนาคารกับประชาชนทั่วไปนั้นด้วย โดยมีอัตราหรือข้อกำหนดในการจ่ายคืนตามขนาดของความเสียหาย โดยปีหนึ่ง ๆ มีธนบัตรชำรุดเสียหายเป็นจำนวน “หลาย ๆ ตัน” ไม่นับรวมธนบัตรปลอม ที่ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ที่มาบรรยายบอกว่า “มีไม่มาก” อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ละเอียดซับซ้อน และมีป้องกันการปลอมแปลงหลายชั้น แต่ที่ยังเจออยู่บ้างก็เพราะคนใช้เงินโดยเฉพาะแม่ค้าที่รับเงินมาไม่ได้ใช้การสังเกตในเบื้องต้น พอการซื้อขายเกิดขึ้นแล้วจึงมาทราบภายหลัง โดยเฉพาะเมื่อเอาเงินไปฝากธนาคาร ซึ่งเจ้าหน้าที่ของธนาคารจะมีความเชี่ยวชาญและต้องสังเกตอยู่เสมอ ทั้งนี้ถ้าประชาชนคนใดพบเห็นหรือไปได้ธนบัตรปลอมมาก็ให้รีบเอาไปแจ้งความ เพราะถ้าขืนเอาไปใช้อาจจะมีความผิดถึงขั้นถึงคุก สูงสุดคือ 10 ปี ส่วนคนผลิตจะมีโทษถึงจำคุกตลอดชีวิต

ส่วนธนบัตรชำรุด วิทยากรบอกว่าเกิดจากคนทำเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในหน้าเทศกาลต่าง ๆ อย่างตอนนี้เป็นหน้ากฐิน คนก็ชอบเอาธนบัตรไปเย็บไปเป็นไทยทานและพานประดับขบวน ซึ่งการที่เอาลวดเย็บกระดาษไปติดจะทำให้ธนบัตรเสียหาย แม้จะเป็นรูเล็ก ๆ ก็เกิดความเสียหายแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นการพับธนบัตรก็ยิ่งจะทำให้ธนบัตรเปลี่ยนรูป แม้ว่าธนบัตรจะผลิตจากวัสดุที่ทนทานและยืดหยุ่นสูง การ “แปรรูป” ธนบัตรแม้ว่าจะเห็นเป็นความสวยงาม แต่ก็เป็นการทำลายธนบัตรได้อย่างไม่รู้ตัวอีกวิธีหนึ่ง

วันนี้การเมืองก็ยังยุ่งเหยิง แต่ก็ยังไม่อยากกล่าวถึงตอนนี้ เพราะเขาว่าประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ เรื่องที่มีการร้องเรียนตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลบางเรื่องอาจจะมีผลปรากฏขึ้น แม้จะเป็นแค่การรับเรื่องไว้พิจารณายังไม่ตัดสิน ก็อาจจะทำให้ตัวนายกรัฐมนตรีต้องพักงาน นั่นก็คือรัฐบาลนี้ต้องหมดสภาพไปด้วย ซึ่งกูรูบางคนบอกว่านายกรัฐมนตรีอาจจะชิงยุบสภาหนีคดีเหล่านั้นเสียก่อน

การเมืองจะไม่มั่นคงอย่างไร ก็ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนี้ยังคงทนไม่เป็นอะไรไปด้วย สาธุ!