ศาลรัฐธรรมนูญ มีหนังสือให้อัยการสูงสุด ชี้แจงคำร้อง ภายใน15 วัน จากกรณีที่ “ธีรยุทธ์ สุวรรณเกสร” ทนายความอิสระ ได้เคยยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 24 ก.ย.67 ขอให้อัยการสูงสุดร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่1 คือ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯคนที่ 23 และผู้ถูกร้องที่ 2 คือ “พรรคเพื่อไทย” เลิกกระทำการ แต่ครั้งนั้นอัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการภายใน15 วัน ต่อมาธีรยุทธ จึงมาร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ 


 การขยับของ ศาลรัฐธรรมนูญ ต่อคำร้องของทนายธีรยุทธ กรณีที่ชี้ว่าทั้งพรรคเพื่อไทยและทักษิณ ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นั้น กำลังทำให้ “ทีมกฎหมาย” ของพรรคเพื่อไทย ต้องหามุมมาต่อสู้ 


 แต่ขณะเดียวกัน ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญ ต้องถือว่า เมื่อเริ่มนับ 1 ในคำร้องดังกล่าว ของทนายธีรยุทธ ซึ่งถูกมองว่านี่อาจกลายเป็น “จุดล่มสลาย” ของพรรคเพื่อไทยตามที่ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ได้เคยออกมาชี้เป้าเอาไว้ก่อนหน้านี้  เท่ากับว่า เวลาของพรรคเพื่อไทย และโดยเฉพาะ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯคนปัจจุบัน ที่ตัวเองก็กำลังเผชิญกับสารพัดคำร้องที่พุ่งเป้ามา  จะเตรียมการรับมืออย่างไร 


 “ ไพศาล พืชมงคล”  นักกฎหมาย โพสต์ข้อความอธิบายให้ความชัดเจนว่าเหตุใดศาลรัฐธรรมนูญ จึงต้องให้อัยการสูงสุด ทำหนังสือตอบกลับมาภายใน 15 วัน กรณีที่ทนายธีรยุทธ เคยไปยื่นคำร้องเรื่องนี้ว่า 


 “ ทำไมศาลต้องให้อัยการสูงสุดชี้แจงคำร้องขอเกี่ยวกับการล้มล้างการปกครอง 1.คดีล้มล้างการปกครองนั้น ได้ถูกยื่นต่ออัยการสูงสุดก่อน เมื่ออัยการสูงสุดไม่ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้


 2.ในชั้นพิจารณารับคำร้อง ศาลได้มีคำสั่งให้อัยการสูงสุดแถลงเกี่ยวกับการร้องของผู้ร้อง เพื่อจะได้ทราบว่า เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องต่ออัยการแล้ว อัยการตรวจสอบไต่สวนว่าอย่างไร หรือว่ามิได้ดำเนินการอย่างใด ถ้าหากว่าอัยการตรวจสอบไต่สวนมาแล้ว ศาลก็ได้ทราบว่า มีเหตุผลอะไรที่อัยการไม่ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะได้ใช้พิจารณาประกอบการมีคำสั่ง หรือถ้าอัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการใด ๆ ศาลก็จะใช้ดุลยพินิจโดยอำนาจของศาลเอง


 3.เมื่อครบกำหนดแล้ว ถ้าอัยการสูงสุดชี้แจง ศาลก็จะใช้ประกอบการพิจารณาในการสั่งว่าจะรับคำร้องหรือไม่ ถ้าอัยการสูงสุดไม่ชี้แจง หรือชี้แจงว่าไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ศาลก็จะฟังเหตุผลของฝ่ายผู้ร้องว่าฟังได้หรือไม่ ถ้าฟังได้ศาลก็จะมีคำสั่งรับผู้ร้อง และนัดไต่สวนพยานหลักฐานต่อไป” 


 อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าวหมายความว่า ทั้งทักษิณ พรรคเพื่อไทยและนายกฯแพทองธาร เองต้องจับตาการขยับในคำร้องจากทนายธีรยุทธ ว่าอัยการสูงสุดจะมีหนังสือตอบกลับมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไร และประเด็นไหน และจะมีน้ำหนักต่อการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ จะรับหรือไม่รับ คำร้องหรือไม่ และที่หนักหนาไปกว่านั้น หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องแล้ว จะมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาหรือไม่ จนกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล และตัวนายกฯแพทองธาร ตามมา