สังคมตื่นตัวกับคดีดิไอคอนกรุ๊ป เนื่องจากมีบรรดาคนดัง หรืออิฟลูเอ็นเซอร์ในแวดวงต่างๆ โดยเฉพาะวงการบันเทิงเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องและตกเป็นผู้ต้องหา ที่สำคัญวงเงินความเสียหายมีมูลค่าสูง และมีผู้เสียหายจำนวนมาก
ที่ล่าสุด ข้อมูลจากตำรวจสอบสวนกลาง หรือ CIB โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ณ วันที่ 19 ต.ค.2567 ระบุยอดผู้เสียหาย หลอกลวงลงทุน ของ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป ที่มาให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
โดยมีผู้เสียหายที่สอบปากคำแล้ว จำนวน 345 ราย มูลค่าความเสียหาย 99.7 ล้านบาทเศษ ยอดรวมสะสม ระหว่างวันที่ 10 – 19 ต.ค. 2567 มีจำนวนผู้เสียหายที่สอบปากคำแล้ว 2,702 ราย มูลค่าความเสียหายเฉพาะที่สอบปากคำแล้วรวมกว่า 933 ล้านบาท
ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) สรุปข้อมูลการรับแจ้งความร้องทุกข์ในคดีดิ ไอคอน กรุ๊ป จากศูนย์รับแจ้งความร้องทุกข์ตำรวจภูธรจังหวัดและกองบังคับการตำรวจนครบาล ประจำวันที่ 18 ต.ค. 2567 รวมผู้เสียหาย 1,881 ราย มูลค่าความเสียหาย กว่า424 ล้านบาท โดยรวมมีผู้เสียหายร้องทุกข์ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 10-19 ต.ค. รวม 4583 คน ยอดความเสียหาย 1,357 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อไปดูผลสำรวจความคิดเห็นจาก “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็น เรื่อง “ใครจะคุ้มครองผู้บริโภค” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15-16 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีคดีดิไอคอนกรุ๊ปเกิดขึ้นแล้ว
พบว่าการร้องเรียนที่ได้รับความเป็นธรรมเร็วที่สุดจากการถูกเอาเปรียบหรือหลอกลวงให้ซื้อสินค้าหรือลงทุน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 24.81 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับสื่อ รองลงมา ร้อยละ 23.05 ระบุว่า ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ ร้อยละ 15.88 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับศิลปิน ดารา หรือจิตอาสาคนดัง เช่น หนุ่ม กรรชัย กัน จอมพลัง บุ๋ม ปนัดดา เป็นต้น ร้อยละ 15.80 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และไม่ร้องเรียนใด ๆ ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 1.91 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับทนายคนดัง ร้อยละ 1.45 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง (ไม่รวม สคบ.) ร้อยละ 0.92 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่เกี่ยวข้อง เช่น มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ร้อยละ 0.07 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับนักการเมือง และร้อยละ 0.31 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจดังกล่าว แมสื่อจะเป็นที่พึ่งของประชาชนที่ถูกหลอกลวงซื้อสินค้าและหลอกลงทุน แต่องค์กรที่เกี่ยวข้องก็เป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาและขยายผลในการสกัดกั้นปัญหาไปยังผู้มีพฤติการณ์เดียวกันนี้ และหวังว่า กรณีที่เกิดขึ้นเมื่อประชาชนเกิดความตื่นตัวและไม่ตกเป็นเหยื่อกลโกงในลักษณะเดียวกันนี้อีก