หลากหลายคำร้อง ที่เป็นเหมือน พายุ “นิติสงคราม” โถมเข้าใส่ทั้ง “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี และ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯคนที่ 23  จนทำให้พรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล ถูกจับตาว่า “อายุรัฐบาล” จะอยู่จนครบเทอมหรือไม่ 
 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ คำร้องทั้ง จาก “นักร้องนิรนาม” และ นักร้องที่เปิดหน้า หอบเอกสารไปยื่นคำร้องต่อองค์กรอิสระ เพื่อให้ยุบพรรคเพื่อไทย จากกรณีที่ทักษิณ ครอบงำ สั่งการและชี้นำกิจกรรมทางการเมืองในพรรคเพื่อไทย และลามไปถึง “6 พรรคการเมือง” ที่อยู่ร่วมรัฐบาลที่ยอมให้ทักษิณ สั่งการจนเข้าข้ายครอบงำ 

 เพียงแต่เวลานี้ว่ากันว่าทั้งครม. คือพรรคเพื่อไทยและ6พรรคร่วมรัฐบาล ต้องเงี่ยหูรอฟังว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะมีคำวินิจฉัย จะรับหรือไม่รับ คำร้องของ “ธีรยุทธ์ สุวรรณเกสร” ทนายอิสระ ที่ไปยื่นคำร้องว่าทักษิณ และพรรคเพื่อไทย เป็นผู้ถูกร้อง ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยขอให้ศาลฯมีคำวินิจฉัย ให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง “เลิกการกระทำ” 

 แต่ล่าสุด กลับมีหอกดาบที่มีเป้าหมายอยู่ที่ทักษิณ เมื่อ “ชาญชัย อิสระเสนารักษ์” อดีตสส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเปิดเผยว่า เตรียมยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อขอให้ไต่สวน “เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์” นำตัวทักษิณ  ออกจากเรือนจำไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้นที่ 14 โดยมองว่าผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้ ร้องขออนุญาตต่อศาลก่อน ซึ่งการไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ นั้นไม่ถือว่าเป็นการถูกจำคุก จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะ “ขอพักโทษ” หรือทุเลาโทษ


 ต่อมาชาญชัย เปิดเผยเมื่อวันที่ 23 ต.ค.ว่า เตรียมที่จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ เป็นครั้งที่ 3 โดยก่อนหน้านี้ เขากับ “ทนายนกเขา” นิติธร ล้ำเหลือ ได้ร่วมกันยื่นร้องต่อศาลฯในประเด็นว่า ทักษิณได้รับโทษจำคุกและได้ขอพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษเหลือ 1 ปี แต่เหตุใดจึงไม่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาของศาลแม้แต่วันเดียว 

 โดยศาลฯ ได้วินิจฉัยตอบในวันนั้นว่า ศาลฯ ออกหมายจำคุก เมื่อคดีถึงที่สิ้นสุดไปแล้ว การบังคับโทษและอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์


 “ เท่ากับศาลฯได้ชี้ประเด็นกลับมาให้ดูว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทำผิดกฎหมายเรื่องใด มีพฤติกรรมเช่นใด เพราะคำร้องนี้ ร้องเกี่ยวกับพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ถ้าเป็นความผิดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ต้องไปร้องต่อศาลอื่น ศาลฎีกานักการเมืองไม่มีอำนาจวินิจฉัย" ชาญชัย ระบุ (23 ต.ค.67) 

 เวลานี้การจุดประเด็นของชาญชัย กำลังกลายเป็น “แนวรบ” อีกหนึ่งด้าน และยังอาจ “ส่งผล”  กระทบอย่างหนักต่อ กรมราชทัณฑ์ และลามไปถึงตัวทักษิณ เนื่องจากชาญชัย ใช้สิทธิในฐานะพลเมือง ตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ  ชี้เป้าให้ศาลฎีกาฯ รับทราบพฤติการณ์และข้อเท็จจริงของกฎหมาย ว่ากระบวนการยุติธรรม กำลังเซาะกร่อน บ่อนทำลาย  ว่า เหตุใดเมื่อทรงพระราชทานอภัยโทษ โดยลดโทษให้เหลือ 1 ปี แล้วทำไมหน่วยงานราชการของรัฐจึงไม่ปฏิบัติตาม 

 น่าสนใจว่า เงื่อนปมนี้อาจกลายเป็นอีกหนึ่ง “สารตั้งต้น” รอถล่มทักษิณ ไปพร้อมๆกับคำร้องที่ไปตามเส้นทางองค์กรอิสระ ที่มีไว้ก่อนหน้านี้ !