สถาพร ศรีสัจจัง
หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีบอกเราว่า หลังจากสปีชีส์ “เซเปียนส์” เข้ายึดครองและตั้งมั่นกระจัดกระจายอยู่แถบแอฟริกาเหนือและยุโรป(โดยเฉพาะแถบรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลอีเจียน)แล้ว พวกเขาก็มีพัฒนาการเข้าสู่สังคมแบบเกษตรกรรมอย่างชัดเจน พร้อมกับค่อยๆเกิดสิ่งที่เรียกว่า “นครรัฐ” ยุคแรกๆขึ้น ก่อตัวขึ้นตามศักยภาพและข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์ของแต่ละชาติพันธุ์
เรื่องดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นก่อนคริสตกาลอย่างน้อยก็มากกว่า 2-3 พันปี!
เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในซีกโลกตะวันออกแถบอินเดียและจีนปัจจุบัน!
“นครรัฐ” หลายแห่งพัฒนาตัวเองขึ้นในทุกด้าน ทั้งด้านระบบการผลิตและเทคนิคในการผลิต,ระบบการปกครอง และที่สำคัณคือระบบการทหาร!
จนบางแห่งรุ่งเรืองมาก สามารถผนวกรวมเอารัฐอื่นเข้ามาเป็นบริวาร ทั้งโดยทางตรง(บังคับโดยอำนาจทางการทหารที่เหนือกว่าให้มาอยู่ภายใต้อำนาจรัฐของตน)และโดยทางอ้อมโดย(คือโดยพลังระบบการปกครอง-วัฒนธรรม ที่เหนือกว่า)
ที่น่าสนใจก็คือบางช่วงเวลาและบางนครรัฐ มีพัฒนาการทางการเมืองการปกครอง(ซึ่งก็คือ “วัฒนธรรม” ประเภทหนึ่ง) ที่ก้าวหน้าล่วงพ้นเนื้อหาการปกครองแบบ “ศักดินา” ที่มักเกิดควบคู่กับสังคมมนุษย์ในยุค “เกษตรกรรม” โดยทั่วไป
นั่นคือรูปแบบที่ให้ “มหาชน” หรือคนส่วนใหญ่ของสังคมนั้นๆมีสิทธิมีเสียงในกระบวนการสรรหาชนชั้น(กลุ่ม)ปกครอง คล้ายกับที่สังคมชาติตะวันตกในปัจจุบันเรียกว่าระบบ “ประชาธิปไตย”
ในสังคมตะวันตก เรื่องดังกล่าวนี้มีหลักฐานค่อนข้างชัด ดังปรากฏให้เห็นในวัฒนธรรมการปกครองของกรีกและนครรัฐเอเธนส์ในบางช่วงตอน อย่างที่วิชาอารยธรรมตะวันตกในทุกมหาวิทยาลัยเมืองไทยต้องใช้สอนนักศึกษา
ส่วนอินเดียและจีนก็คล้ายมีปรากฏการณ์ในเรื่องที่คล้ายคลึงกันนี้ในบางช่วงตอนของประวัติศาสตร์เช่นกัน
ตัวอย่างเช่น การปกครองของฮ่องเต้จีนที่ศรัทธาเชื่อมั่นในลัทธิเต๋าและพุทธ(ในตำนาน)บางพระองค์ของบางราชวงศ์
และกรณีนครรัฐหรือแคว้นวัชชีที่มีเมืองหลวงชื่อกรุงเวลาลีในอินเดียยุคพุทธกาล ของเหล่ากษัตริย์วัชชี (ดูบางตอนในพระไตรปิฎกและวรรณกรรมเรื่อง “สามัคคีเภทคำฉันท์” ของ ชิต บูรทัต) เป็นต้น
แม้แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางแห่ง ในพื้นที่ซึ่งประวัติศาสตร์ปรากฏหลักฐานเรียกว่า “สุวรรณภูมิ” ก็มีเค้าให้เห็นคล้ายเช่นนั้นอยู่บ้าง ดังเช่น(ถ้าศิลาจารึกหลักที่ 1 ของไทยเป็นเรื่องจริง) ในนครรัฐสุโขทัย(อย่างน้อยก็)ในยุคพ่อขุนรามคำแหง ที่นักประวัติศาสตร์หลายท่านตีความจากหลักฐานศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า เป็นการปกครองแบบ “เสรีนิยม” ที่ “ใครใคร่ค้า-ค้า” และเป็นแบบระบบ “พ่อปกครองลูก” ไม่ใช่ระบอบ “ศักดินา” แบบที่รู้จักกันในหมู่นักวิชาการยุคปัจจุบันโดยทั่วไป เป็นต้น
ที่น่าสนใจเป็นพิเศษในเรื่องนี้ก็คือ รูปแบบการปกครองแบบที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “ระบอบประชาธิปไตย” ของนครรัฐเอเธนส์ ที่กลายมาเป็นรูปแบบการปกครองกระแสหลัก(ประยุกต์ของเดิมที่เป็นแบบ “ประชาธิปไตยทางตรง” มาเป็น “ประชาธิปไตยทางอ้อมแบบตัวแทน”)ของแทบจะทุกประเทศทั่วโลกในยุคปัจจุบัน(ยุคเว้นประเทศที่เลือกปกครองด้วยระบบสังคมนิยม)
แม้อิทธิพลรูปแบบการปกครองแบบ “ประชาธิปไตย” ดังกล่าว น่าจะเกิดจากพลังอำนาจทางการทหาร เศรษฐกิจ และ วัฒนธรรม ของบรรดาชาติ “จักรวรรดินิยมตะวันตก” ตั้งแต่ยุคโบราณมาจนถึงยุคปัจจุบันก็ตาม
เรื่องระบบการปกครองแบบ “ประชาธิปไตยทางตรง” ในยุคสังคมแบบเกษตรกรรมของนครรัฐเอเธนส์ในอดีตจะเป็นอย่างไรนั้น บทสรุปที่อ่านง่ายที่สุดในวงวิชาการเมืองไทยปัจจุบัน น่าจะเป็นข้อเขียนของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร ที่เขียนไว้ใน “ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า” เธอเขียนไว้พอจะประมวลสรุปได้สั้นๆดังนี้
ประชาธิปไตยทางตรง(direct democracy) แบบเอเธนส์ คือรูปแบบการปกครองที่ให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจทางการเมืองโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกกฎหมายหรือกำหนดนโยบายรัฐบาล…ที่สามารถทำเช่นนั้นได้ก็เพราะ นครรัฐเอเธนส์ยุคกรีกโบราณ (500 ปี ก่อนคริสตกาล) มีพื้นที่เพียง 2,500 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรเพียงประมาณ 40,000 คน
ระบบดังกล่าวนี้ระบุว่า ให้ผู้ชายที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ที่มีบิดาเป็นคนเอเธนส์ (ไม่รวมผู้หญิงและทาส)มีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงในการออกกฎหมาย โดยสามารถเข้ารับฟัง อภิปราย และพิจารณาลงมติในที่ประชุมใหญ่ที่เรียกว่า “สภาพลเมือง” (The Assembly of the Demos)
นอกจากนี้พลเมืองผู้ชายดังกล่าวยังมีสิทธิแสดงความคิดเห็นและให้ความเห็นชอบนโยบายที่นำเสนอโดยรัฐบาลที่ทำงานในรูปแบบคณะกรรมการที่เรียกว่า “สภาห้าร้อย” (the Concil of 500) ที่ประกอบด้วยพลเมืองจำนวน 500 คน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาทำหน้าที่แบบเต็มเวลา มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 1 ปี(คัดเลือกมาจากชนเผ่าต่างๆ เผ่าละ 50 คน)
ส่วนในเรื่องการพิจารณาตัดสินคดีความนั้น ประชาธิปไตยแบบเอเธนส์ดำเนินการผ่าน “ศาลประชาชน (the People’s Court)” ในระบบที่เปิดให้พลเมืองเข้ามาทำหน้าที่เป็นคณะลูกขุน (juries of citizens) เพื่อรับฟังการต่อสู้คดีและตัดสินชี้ขาดความผิดของผู้ถูกกล่าวหา ตลอดจนพิจารณาบทลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิด
จะเห็นได้ว่า ประชาธิปไตยทางตรงของนครรัฐเอเธนส์ในสมัยกรีกโบราณมีการจัดโครงสร้างเชิงสถาบันที่เปิดโอกาสให้พลเมืองที่มีคุณสมบัติสามารถเข้าไปใช้อำนาจการปกครองโดยตรงผ่านสถาบันประชาธิปไตย 3 เสาหลัก ประกอบด้วย สภาพลเมืองทำหน้าที่เป็นสถาบันฝ่ายนิติบัญญัติ สภาห้าร้อยเป็นสถาบันฝ่ายบริหาร และศาลประชาชนเป็นสถาบันฝ่ายตุลาการ
ที่ยกข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเรื่อง “ประชาธิปไตย” แบบนครรัฐเอเธนส์ ซึ่งทางชาติตะวันตกมักจะอ้างว่าเป็น “ฐานราก” ระบบการปกครองซึ่งดีที่สุด ที่บรรพชนของพวกตนคิดสร้างสรรค์ไว้ และพวกตนรับสืบมาปฏิบัติ ตามที่อาจารย์ ดร.วิชุดา เรียบเรียงไว้มาบอกเล่าต่อแบบค่อนข้างมากมายนั้น
ก็เพียงเพราะอยากให้เห็นว่า ความเป็น “ประชาธิปไตยทางตรง” แบบนครรัฐเอเธนส์ของกรีกโบราณ (ซึ่งมีพลเมือง หรือ “citizen” เพียงประมาณ 4 หมื่นคน) นั้น มีความแตกต่างกับระบบ “ประชาธิปไตยแบบตัวแทน” (ซึ่งเรียกกันว่าระบบประชาธิปไตยทางอ้อม)แบบค่อนข้าง “สิ้นเชิง” อย่างไร
ที่อยากให้สงสัยกันมากๆเป็นพิเศษก็คือ ทำไม “ระบบประชาธิปไตยทางอ้อม” (ระบบเลือกตัวแทนเข้าไปใช้อำนาจแทนประชาชนในรัฐสภา)ทั้งในประเทศมหาอำนาจตะวันตกปัจจุบัน(สหรัฐอเมริกาและยุโรป) และ ที่ชนชั้นนำไทยรับเข้ามาพยายามใช้กับประเทศไทยมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2475 นั้น มักมีคนเพียงกลุ่มเดียวซ้ำๆที่มี “สิทธิ” (ในความเป็นจริง) แสดงตนอยากเข้าไปเสนอตัวเพื่อให้ได้รับเลือกเป็นตัวแทน
ทั้งสิ่งที่ระบบนี้เรียกว่า “พรรคการเมือง” ก็ยิ่งชัดเจนว่า มักกลายเป็น “สมบัติส่วนตัว” ของกลุ่มคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ-การเมืองสูงๆ ในสังคมเท่านั้น
ยิ่งกล่าวเฉพาะ “ประเทศไทย(Thailand) ก็คงต้องถึงเวลาแล้วกระมัง ที่ทุกฝ่ายจะต้องเข้าร่วมกับปากเสียงชาวบ้านยากจนคนส่วนใหญของประเทศที่เป็น “เจ้าของประเทศ” (ตามคำหวานหลอกลวงของ “นักการเมืองไทย” ตลอดมา) ช่วยกันตะโกนดังๆตั้งคำถามให้ถึงแก้วหู “มนุษย์พันธุ์นักการเมือง” (The Politician)” ยุคปัจจุบันของไทยกันสักหน่อยว่า
นับแต่รับเอาระบบการเมืองที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” แบบฝรั่งอั้งม้อที่ว่าดีนักดีหนานั่น เข้ามาใช้ปกครองประเทศจนถึงบัดนี้ นับเวลาก็มากกว่า 90 ปีเข้าแล้ว สังคมและคนส่วนมากของประเทศไทย มีความสุขหรือมีความทุกข์มากขึ้น?ทรัพยากรของประเทศ ทั้งดิน น้ำ อากาศ ทะเล แร่ธาตุ ป่าไม้ ฯลฯ หายนะไปเท่าไหร่แล้ว? หนี้สินประชาชาติท่วมประเทศเพราะอะไรและอย่างไร?ที่เยาวชนคนในชาติต้องติดการพนันเถื่อนและยาเสพติดกันแบบท่วมชาติเป็นเพราะอะไร และ ใครคือคนที่รวยเพราะการนี้บ้าง? วัฒนธรรมชุมชนที่เคยดีงามโดยเฉพาะด้านจริยธรรมที่กำลังล่มสลายอยู่คาตานั้นมีเหตุที่มาเพราะอะไร?มี “พรรคการเมือง” ของประชามหาชนเกิดขึ้นจริงๆบ้างไหม? มีนักการเมืองที่ทำเพื่อมวลชนอย่างแท้จริงนับหัวได้สักกี่หัว?ฯลฯ
ถามให้ชัดขึ้นอีก พรรคการเมืองสำคัญๆอย่างพรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล(ปัจจุบัน 2567?)
อย่างพรรคเพื่อไทย หรือพรรคภูมิใจไทย ไม่มีเจ้าของจริงหรือ? แถมให้อีกหน่อยก็ได้เอ้าแล้วพรรคเก่าแก่ที่เคยเสนอตัวเสมอมาว่า เป็น “สถาบันทางการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ” อย่างพรรคประชาธิปัตย์ละนายทุนคนที่เข้า “เทกโอเวอร์” พรรคเพื่อเอาไว้ใช้งานวันนี้นับหัวนับหุ้นได้สักกี่คนกัน?!!!!