เป็นที่จับตาสำหรับการผลักดันการนิรโทษกรรม ที่จะนำไปสู่ความปรองดองทางการเมือง โดยจากรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ได้ลงมติและมีความเห็นแย้งของพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112

ทั้งนี้ จะขอหยิบยกเอาบางช่วงบางตอนที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) อภิปรายไว้เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2567 มานำเสนอดังนี้ รายงานฉบับนี้เป็นเพียงแค่การเสนอแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมไม่ใช่ การเสนอพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม แต่แนวทางดังกล่าวที่เป็นข้อเสนอนั้นจะเป็นหัวเชื้อ ในการที่จะนำไปสู่การตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมต่อไป ตนได้งานรายงานโดยละเอียดหลายรอบ และมีความเห็นเช่นเดียวกับที่สส.ที่มีมติไม่เห็นชอบและไม่เห็นชอบให้ส่งรายงานฉบับนี้ไปยังรัฐบาล

การนิรโทษกรรมทำได้ ในอดีตก็เคยทำแต่สิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนและไม่เคยมี คือนิรโทษกรรมการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และ 112 ซึ่งมาตรา 112 มีไว้คุ้มครองประมุข เช่นกับอารยะทั่วโลกที่มีกัน ที่มีบทคุ้มครององค์ประมุข ของประเทศด้วยกันทั้งสิ้น โดยเฉพาะประเทศไทยสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเสาหลักสำคัญในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ที่เขียนไว้ชัดเจนว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ตรงนี้จึงเป็นที่มาว่าทำไมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันประเทศไทยจึงไม่เคยมีการนิรโทษกรรมความผิดในมาตรา 110 และ 112  

“การนิรโทษกรรมถ้าจะมีในอนาคตควรจะได้ยืนอยู่บนหลักการ 5 ข้อ 1. ต้องเป็นการนิรโทษกรรมที่นำไปสู่การสร้างความปรองดอง แต่ไม่ใช่สร้างความขัดแย้งแตกแยก และ การนิรโทษกรรมต้องเป็นความเห็นพ้องกันของสังคมเพื่อไม่ให้แตกแยกขัดแย้งครั้งใหญ่ในอนาคต 2. ต้องไม่เป็นการนิรโทษกรรมเพื่อตัวเอง สุดท้ายจะไปไม่รอดจะเกิดแรงต้านครั้งใหญ่และนำไปสู่การแตกแยกครั้งใหม่เกิดขึ้นอีก ดังเช่นที่เคยได้รับบทเรียนมาแล้วในอดีตที่พยายามผลักดันนิรโทษกรรมสุดซอย 3. ต้องไม่สร้างแรงจูงใจหรือหัวเชื้อให้เกิดการกระทำซ้ำอีกในอนาคตเพราะคนจะไม่เกรงกลัวต่อการกระทำความผิด ทำผิดแล้วก็จะได้รับการล้างผิดในที่สุด 4.ต้องไม่สูญเสียต่อการกระทำผิดต่อกฎหมายหรือเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญกฎหมาย หรือแม้แต่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่มีผลผูกพันทุกองค์กร ซึ่งรวมตั้งแต่รัฐสภา รัฐบาล และ องค์กรอื่นๆ และ5. ต้องไม่รวมความผิด 3 ฐานสำคัญ คือ ความผิดฐานทุจริตคอรัปชั่น ความผิดคดีอาญาร้ายแรง และความผิดตามมาตรา 110 และ 112 ภายใต้หลักการ 5 ข้อถ้าจะมีการนิรโทษกรรมควรนิรโทษกรรมเฉพาะ ความผิดอันเกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองทั่วไป และพ่วงหลักหลักการคือต้องเป็นความเห็นพ้องต้องกันของสังคมเพื่อไม่ให้เกิดแรงเสียดทาน ที่จะนำไปสู่ความแตกแยกขัดแย้งในอนาคต ”

ทั้งหมดทั้งมวล เราเห็นสอดคล้องกับความเห็นของนายจุรินทร์ ดังกล่าวข้างต้น