ทวี สุรฤทธิกุล
“ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎร ได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ” “อุดมการณ์” คือหลักในการปกครองประเทศ ดั่งที่คณะราษฎรได้ตั้งอุดมการณ์ไว้ว่าจะ “สร้างชาติ สร้างประชาธิปไตย” แต่แรกนั้นในอุดมการณ์ดังกล่าวไม่ได้เน้นการเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์เท่าใดนัก ถึงขั้นที่มีการ “ข่มขู่” ว่า “อาจจะไม่มีกษัตริย์” แต่เมื่อคณะราษฎรได้พิเคราะห์ใคร่ครวญถึง “หายนะ” อันจะเกิดขึ้นที่รวมถึงหายนะของคณะราษฎรนั้นเองด้วย ก็เลยต้องคงไว้แล้วเรียกว่า “กษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ”
เช้าตรู่ประมาณ 5 นาฬิกาเศษ วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ตรงกับวันศุกร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก รัตนโกสินทร์ศก 151 ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า รถถังขนาดเล็กที่เรียกว่า “ไอ้แอ้ด” หลายคันเรียงรายเข้ามาจอด พร้อมด้วยทหารราบจำนวนหนึ่งเข้ามาตั้งกระสอบทรายและวางปืนกลหนักไว้เป็นจุดๆ รายรอบบริเวณ พร้อมกันกับเหล่าทหารบก ทหารเรือ และนักเรียนนายร้อยทหารบก ราว 2,000 คน มาเข้าแถวอย่างเป็นระเบียบ ภายใต้ภารกิจ “ลวง” ให้มาชมการฝึกซ้อมทางทหาร
ครั้นได้ฤกษ์ราว 6 นาฬิกา ดังข้อความที่จารึกไว้บนหมุดทองเหลืองทรงกลมขนาดฝ่ามือกว่าๆ ฝังอยู่บนพื้นซีเมนต์ด้านซ้ายมือของหัวม้า ณ ที่ประดิษฐานพระบรมรูป ว่า “ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎร ได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ” พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) รองจเรทหารบกในฐานะหัวหน้าคณะราษฎร ได้อ่านแถลงการณ์ขึ้น มีข้อความที่น่าสนใจว่า
“...เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชสืบจากพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรบางคนได้หวังกันว่า กษัตริย์องค์ใหม่นี้คงจะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น แต่การก็หาได้เป็นตามที่คิดหวังไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจเหนือกฎหมายอยู่ตามเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจในทางที่ทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้าง ซื้อของใช้ในทางราชการ หากำไรในการเปลี่ยนราคาเงิน ผลาญเงินทองของประเทศ ยกพวกเจ้าให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กดขี่ข่มเหงราษฎร...” ช่างรุนแรงก้าวร้าว! และยังมี “คำแรงๆ” อีกยืดยาว
“...รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่า ไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์เหตุฉะนั้นแทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่าภาษีอากรที่บีบคั้นเอามาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ส่วนตัวปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้าน ส่วนราษฎรสิกว่าจะหาได้แม้แต่เล็กน้อยเลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียเงินราชการหรือภาษีใด ถ้าไม่มีเงินรัฐบาลก็ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา ส่วนพวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข ไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากขนาดนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์ เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั่นได้โค่นราชบัลลังก์เสียแล้ว...”
สุดท้ายก็เป็นสาระสำคัญของคำประกาศดังกล่าว
“...เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหารและพลเรือน ที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมตัวกันเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของรัฐบาลของกษัตริย์ไว้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ ก็จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือ หลายๆความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้นจึงได้ขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร
คณะราษฎรได้แจ้งความประสงค์ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนด โดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมา ก็จะได้ชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา...” ครับไม่มีกษัตริย์ หากกษัตริย์ทรงขัดขืน!
ในการยึดอำนาจ นอกจากจะใช้ถ้อยคำก้าวร้าวและหยาบคายอย่างยิ่งดังกล่าวแล้ว คณะราษฎรได้จับและคุมตัวเจ้านายหลายพระองค์มา “ขัง” ไว้ที่พระที่นั่งอานันตสมาคมอันเป็นที่ทำการของคณะราษฎร ที่มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม(ปรีดี พนมยงค์) ในฐานะเลขาธิการของคณะราษฎรนั่งบัญชาการอยู่ที่นั่น ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน โดยคณะราษฎรได้ให้หลวงศุภชลาศัยนำเรือรบหลวงสุโขทัยไปนำเสด็จกลับเข้ากรุงเทพฯ
ภายหลังที่รัชกาลที่ 7 ทรงรับทราบหนังสือเชิญเสด็จกลับของคณะราษฎร ก็ทรงเรียกประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งที่อยู่ที่หัวหินด้วยกัน เสียงส่วนใหญ่ถวายความเห็นว่าน่าจะสู้และน่าจะเอาชนะผู้ที่ยึดอำนาจได้ เพราะทหารหัวเมืองที่ยังจงรักภักดียังมีอีกมาก ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเห็นว่าควรจะเสด็จลงไปหาดใหญ่แล้วต่อไปยังหัวเมืองมลายูเสียก่อน แล้วค่อยเจรจาต่อรองกับคณะราษฎรในภายหลัง แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไม่เห็นด้วย ดังพระราชบันทึกของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ที่ทรงกล่าวไว้ว่า
“ท่านรับสั่งว่าไม่ได้ ไม่อยากให้มีการรบพุ่งกัน เพราะจะเสียเลือดเนื้อประชาชนเปล่าๆ” นี่คือพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทย !