ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
อาจารย์ประจำคณะการทูตและการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิต
หนึ่งในเรื่องที่ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดให้หลายๆท่านได้ฟัง รวมถึงนักศึกษาในสายการทูตด้วย ก็คือเรื่อง “บทบาทของผู้นำ” ทั้งในมิติของการออกแบบนโยบายการต่างประเทศ และบทบาทของชาติในเวทีระหว่างประเทศ ประจวบเหมาะกับวันก่อนมีคนถามไถ่เรื่องนี้มา ก็เลยจะถือโอกาสนี้เล่าให้อ่านกันในสัปดาห์นี้ครับ
“ผู้นำ” กับ การออกแบบนโยบายการต่างประเทศ เกี่ยวข้องกันหรือไม่? อย่างไร?
ก็คงต้องตอบว่า เกี่ยวข้องแน่นอน อย่างไม่ต้องสงสัยครับ เพราะผู้นำคือตัวละครหลักที่จะกำหนดทิศทาง ออกแบบ และเป็นผู้สื่อสารนโยบายการต่างประเทศ รวมถึงดำเนินการให้นโยบายบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ เรียกได้ว่า “เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว” รวมไปจนถึงเป็นหน้าเป็นตาของนโยบายด้วยเช่นกัน
นโยบายการต่างประเทศของประเทศต่างๆ จึงเป็นเสมือนภาพสะท้อนตัวตนของผู้นำ เรียกว่า ถ้าผู้นำเป็นสายดุดัน ก็อาจได้เห็นนโยบายการต่างประเทศที่รุนแรงและไม่แคร์ผู้อื่น เรียกได้ว่า แนวคิด บุคลิก และคาแรกเตอร์ของผู้นำ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างหนึ่งในการวิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศ
แต่ถ้าถามว่า ผู้นำเพียงอย่างเดียว เพียงพอไหมที่จะคลอดนโยบายการต่างประเทศ?
ก็ต้องบอกว่า แล้วแต่รูปแบบของแต่ละประเทศ บางประเทศผู้นำมีอำนาจมาก สามารถคิด และตัดสินใจได้ด้วยตนเองล้วนๆ ก็สามารถกำหนดนโยบายต่างประเทศได้เอง ซึ่งก็มักส่งผลให้เห็นเป็นภาพที่สุดโต่ง ดังตัวอย่างของประเทศเกาหลีเหนือเป็นต้น
แต่หากประเทศนั้นๆมีระบบในการถ่วงดุลอำนาจของผู้นำ บทบาทของสถาบันนิติบัญญัติ หรือสถาบันศาล ก็อาจส่งผลต่อการกำหนดนโยบายการต่างประเทศได้ ทำให้ผู้นำไม่สามารถตัดสินใจทำอะไรได้โดยลำพัง นอกจากนี้ ความต้องการของประชาชนก็เป็นสิ่งสำคัญ และเช่นกัน ผู้นำจะแคร์มากแคร์น้อย ก็ขึ้นอยู่กับทั้งตัวตนของผู้นำและระบบระบอบการปกครองภายในประเทศด้วย
ในส่วนของ “บทบาทของประเทศในเวทีโลก” ก็ต้องบอกว่าผู้นำมีความสำคัญไม่แพ้ประเด็นแรก เพราะผู้นำเป็นเหมือน “ประตู” ที่เชื่อมระหว่างประเทศกับเวทีโลก
ไม่ว่าจะเป็น สาร ท่าที โครงการ หรือกิจกรรมใดๆ ที่ต้องการส่งออกจากประเทศไปสู่โลก หรือในทางกลับกัน สิ่งใดที่ถูกส่งจากประเทศอื่นๆหรือเวทีโลกมาสู่ประเทศเรา ล้วนจะมีพลังเมื่อผ่านผู้นำประเทศทั้งสิ้น ดังนั้น ประตูบานนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก
บทบาทของประเทศในเวทีโลก จะโดดเด่น จะน่าสนใจ จะได้รับการยอมรับ มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับบทบาทที่ผู้นำจะทำ รวมถึงสิ่งที่ผู้นำจะสื่อออกไปสู่โลก
ดังนั้น การเลือกผู้นำ จึงไม่ใช่แค่เลือกคนที่ชอบหรือคนที่ใช่เพียงอย่างเดียว แต่ควรคำนึงถึงแนวคิด แนวนโยบาย รวมถึงบุคลิกภาพและตัวตนของผู้นำด้วยเช่นกัน เพราะผู้นำจะกลายเป็นหน้าเป็นตาของประเทศในเวทีโลก ซึ่งแน่นอน จะเป็นภาพจำของคนทั้งโลกต่อประเทศและประชาชนในประเทศ นี่เลยกลายเป็นความน่าสนใจเมื่อเวลามีการเลือกตั้งของประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ว่าสี่ปีข้างหน้า “หน้าตา” ของอเมริกันชนจะเป็นเช่นไร
ในส่วนของไทย วันนี้บทบาทในการระหว่างประเทศเริ่มมีแสงมากขึ้นจากที่มืดทึมมานาน โอกาสต่างๆในเวทีระหว่างประเทศเริ่มมีมามากขึ้น โจทย์ต่อไปของไทย คือทำอย่างไร ให้แสงสว่างนี้ส่องสว่างมากขึ้น นานขึ้น และนำประโยชน์มาสู่ประเทศไทย
ซึ่งแน่นอนว่า จะเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของ “ผู้นำ” ประเทศ
แต่ต้องบอกท่านผู้อ่านไว้ตรงนี้ครับ ว่า “ผู้นำ” เพียงคนเดียวไม่เพียงพอ ที่จะทำให้แสงสว่างส่องมาที่ชาติได้ ในทางกลับกัน เมื่อผู้นำมีโจทย์ที่ต้องพิสูจน์ตนเองแล้ว พวกเราทุกคนในฐานะประชาชน ก็มีโจทย์ที่ต้องพิสูจน์ตนเองไปพร้อมๆกัน และร่วมมือกันในการเดินหน้าไปคว้าเอาโอกาสในเวทีต่างประเทศ นำเอาประโยชน์กลับมาสู่ชาติให้ได้
“Good leader creates good team, and VICE VERSA”
“ผู้นำที่ดี สร้างทีมที่ดีได้ และในทางกลับกันก็เช่นกัน”
เอวัง