เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phogphit

กรณี “ดิไอคอน” เป็นเพียงภูเขาน้ำแข็งของการฉ้อฉลในสังคมไทยยุคโซเชียลมีเดีย ที่ผู้คนถูกกระหน่ำด้วยข้อมูลข่าวสารจริงและเท็จ ล่อลวงด้วยวิธีการที่แยบยล เมื่อแยกไม่ออกก็ตกเป็นเหยื่อ หลงเชื่อ และเกิดปัญหาเป็น “ลูกโซ่”

เห็นว่าจะมีตามมาอีกมากมาย “หลายโซ่” “ดิไอคอน” เป็นเพียง “หนังตัวอย่าง” เท่านั้น ยังมีอีกมากมายที่รอวันเปิดตัว หรือรอถูกตบทรัพย์รีดไถเพื่อให้อยู่ไปนานๆ ในบ้านเมืองที่ระบบยุติธรรมสั่นคลอน

ถ้าต้องการให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงในรุ่นต่อไป เราคงต้องร่วมกันวางรากฐานให้ลูกหลานของเราด้วยการศึกษาที่พัฒนาจิตสำนึก พัฒนาวินัยชีวิตบนฐานคิดวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งไม่เห็นต้องไปเอาอย่างปรัชญาการศึกษาตะวันตกก็ได้ ของไทยก็มีมากว่าพันปี แต่เราไม่นำมาใช้อย่างจริงจัง เพราะมักดูถูกตัวเอง มองข้ามของดีที่มีอยู่

พระพุทธเจ้าทรงสอนกาลามสูตรเพื่อให้รู้จักคิด แยกแยะและหาข้อสรุปที่เป็นเหตุเป็นผล ไม่ได้ต่างจากหลักตรรกวิทยาของอริสโตเติล รากฐานปรัชญาตะวันตก ปรัชญาการศึกษา ที่ประมวลมาจากเพลโตอาจารย์ของเขา ซึ่งรับมาจากโสคราติส อาจารย์ใหญ่อีกต่อหนึ่ง

หลักคิดของโสคราติสที่ถือว่าเป็นรากฐานการคิดแบบตะวันตก คือ การ “เสวนา” ถามตอบ โต้แย้ง จนได้ข้อสรุป ที่เรียกว่ากระบวนการวิภาษวิธีแบบดั้งเดิม

พระพุทธเจ้าก็ทรงมีวิธีการสอนหลายแบบไม่ได้แตกต่างกัน เช่น แบบสนทนา หรือสากัจฉา ที่ไม่ได้ต่างจากที่อ่านได้ในหนังสือของเพลโต ที่ส่วนใหญ่เป็นการสนทนาระหว่างโสคราติสกับศิษย์หรือชาวเอเธนส์อื่นๆ  

พระพุทธเจ้าทรงสอนแบบบรรยาย แบบตอบคำถาม และแบบวางกฎข้อบังคับ เมื่อพระภิกษุกระทำผิด ซึ่งมีรายะเอียดมากมาย โดยเฉพาะในสังคีติสูตร หากนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษาก็ไม่เป็นการล้าสมัย

ลองพิจารณากาลามสูตร 10 ข้อดู

1. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา 2. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมา 3. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ 4. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์  5. อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ

6. อย่าปลงใจเชื่อเพราะอนุมาน 7. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล 8. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว 9. อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ 10. อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา

แล้วจะเชื่ออย่างไร กระบวนการคิดแบบวิพากษ์เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปนั้นควรมี 3 ขั้นดังนี้

1. เริ่มจากการรับข้อมูลข่าวสาร หากไม่มี “กรอบคิด” หรือคอนเซปต์ที่เป็นนามธรรม ก็จะเห็นข้อมูลข่าวสารเป็นชิ้นๆ คอนเซปต์จะเป็นกรอบให้เรานำข้อมูลข่าวสารนั้นเข้าไปในกรอบคิด เพื่อให้แยกแยะและสรุป หรือที่เรียกว่า วิเคราะห์และสังเคราะห์อย่างมีเป้าหมาย ไม่ใช่อะไรมาก็รับหมด แต่รู้จักเลือกรับข้อมูล

หากไม่มีกรอบคิดนามธรรมเหล่านี้ เราก็จะถูกท่วมด้วยข้อมูลจน “หายใจไม่ออก” แยกแยะไม่ได้ อะไรที่มากระทบอารมณ์ความรู้สึกก็จะเชื่อไปหมด เชื่อเพราะชอบ จริงไม่จริงไม่รู้ ไม่ได้ใช้เหตุผลที่ต้องเกิดมาจาก “กรอบคิด” ที่ช่วยสร้าง ไม่เช่นนั้น คนก็จะมึนงงหรือชา  เหมือนถูกชอร์ตด้วยไฟฟ้า ทำอะไรไม่ถูก

การตัดสินใจจึงมาจากความอยาก ไม่ได้มาจากความจำเป็น ตรรกะจึงเพี้ยนหรือวิบัติแบบ “ดีชั่วรู้หมดแต่อดไม่ได้” หรือ “เป็นหนี้ไม่ว่า ขอให้ได้หน้าเป็นพอ” “ยังไงก็ได้ขอให้รวย” “โกงก็ได้ขอให้พัฒนาประเทศก็พอ”

2. เมื่อเชื่อมโยงข้อมูลก็จะเกิดความรู้ เหมือนกับภาพที่เกิดจากจิ๊กซอว์ที่นำมาต่อกัน ขั้นตอนนี้ก็ต้องการ “กรอบคิด” และ “คอนเซปต์” เช่นกัน ขึ้นอยู่กับแนวคิดทฤษฎีที่ใช้ ซึ่งเราเรียกว่า “ปรัชญา” แต่ละสำนักแตกต่างกัน มีแนวคิดแบบจิตนิยม วัตถุนิยม เหตุผลนิยม สุญนิยม และอื่นๆ มากมาย

พุทธปรัชญาก็เป็นแนวคิดสำคัญหนึ่งของโลก มีกรอบคิด มีมโนภาพ ดัง “กาลามสูตร” ที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างข้างต้น

3. การมีความรู้อย่างเดียวไม่พอ เพราะ “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” โดยเฉพาะถ้าเป็นความรู้ “ของคนอื่น” ไม่ใช่ “ความรู้มือหนึ่ง” ความรู้ที่มาจากลงมือทำ กลายเป็นประสบการณ์ เกิดการตกผลึก กลายเป็น “ปัญญา” เป็นหลักการ หลักคิดเพื่อการดำเนินชีวิต เพื่อสังคม เป็นนวัตกรรม เป็นพลังสร้างสรรค์

ปัญหาการศึกษาบ้านเราคือมีแต่การท่องจำ ครูให้ข้อมูลและความรู้เป็น “ก้อนๆ แท่งๆ” ที่จำได้ไม่นานก็ลืม คืนครูไปหมด ไม่ได้เกิด “ปัญญา” ไม่ได้มาจากการปฏิบัติ เป็นปัญหาของการจัดกระบวนการที่ไม่สอนให้ “คิดเป็น” ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของทั้ง 3 ขั้นตอนที่ทำให้เกิด “ปัญญา” นำไปสู่ “ความคิดสร้างสรรค์”

ถ้าคิดเป็น ก็จะตัดสินใจเป็นและเลือกเป็น คือ พึ่งตนเองได้ ไม่ไหลไปตามกระแส

อีกด้านหนึ่ง ปัญหามาจากระบบโครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรม ไม่ให้โอกาสเท่าเทียมแก่ทุกคนเพื่อให้ได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง เป็นสังคมที่ถูกครอบงำด้วยอำนาจ จึงไม่ควรไปโทษประชาชนว่าโง่ เพราะโครงสร้างสังคมแบบนี้ ทำให้คนเป็นคนโง่ ทำให้จน ทำให้เจ็บ ไม่ใช่เพราะ “โง่ จน เจ็บ” มาแต่กำเนิด

จะไปโทษประชาชนว่าไม่รู้จักอยู่แบบพอเพียงก็ไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้ว ส่วนใหญ่ไม่พอกินไม่พอใช้ ติดลบ เป็นหนี้เป็นสิน ทุกคนจึงฝันอยากรวย เพื่อจะได้รอดจากความยากจน เหมือนคนตกน้ำที่ไม่อยากจมน้ำตาย

การที่คนเจ็บ คนป่วย คนพิการ ผู้สูงอายุ นำเงินก้อนสุดท้ายไป “ลงทุน” ตามที่เขาชวน สุดท้ายหมดเนื้อหมดตัวเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ นอกจากนี้ยังมีคนจน คนมีหนี้สินอีกหลายแสนคนที่ตกเป็นเหยื่อ

นี่คือสภาพที่น่าเวทนาของสังคมไทยที่ป่วยไข้ทางจิตวิญญาณ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงถึงรากถึงโคน ก็คงยากจะรักษาโรคร้ายนี้ได้ 

เรามีพ.ร.บ.การศึกษาปี 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม 2545 เนื้อหาดี แต่มีผลอย่างไรก็ดูได้จากสังคมไทยวันนี้ และยังกำลังร่างพ.ร.บ.การศึกษาใหม่อีก ถ้ายังคิดกันแบบเดิม ทำแบบเดิม จะต่างอะไรจากเหล้าเก่าในขวดใหม่