ทวี สุรฤทธิกุล
“เสนียดประเทศ” ไม่ได้มีแต่ในทางการเมือง แต่ยังปรากฏให้เห็นในแวดวงอื่น ๆ เช่น แชร์ลูกโซ่ นั้นด้วย
“เสนียดประเทศ” นี้ก็คือคนที่ชอบใช้ตำแหน่งหน้าที่หรือ “ความใหญ่” ของตัวเอง แสวงหาประโยชน์เอาจากคนอื่น ๆ โดยเป็นตำแหน่งหน้าที่ทั้งในทางราชการและการบริหารประเทศระดับต่าง ๆ ที่ร้าย ๆ ก็คือผู้นำทางการเมือง และข้าราชการที่มีตำแหน่งสูง ๆ ที่คนทั้งหลายเรียกแบบเกรงใจว่า “ผู้ใหญ่” แต่ถ้าจะให้ถูกต้องควรจะเรียกว่า “ผู้ร้าย” มากกว่า
ผู้เขียนแม้จะมีอาชีพเป็นนักวิชาการ แต่ก็เคยทำงานการเมืองมาก่อน ตั้งแต่เป็นเลขานุการส่วนตัวหัวหน้าพรรคกิจสังคม ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า “เด็กสวนพลู” อยู่ 9 ปี เคยไปช่วยราชการทำงานกับรัฐมนตรีที่กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศ และเมื่อมาทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้วก็ยังสนใจทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองและร่วมกิจกรรมทางการเมืองอย่างเข้มข้น รวมทั้งที่เคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติใน พ.ศ. 2549 แม้แต่ร่วมเดินขบวนและขึ้นเวทีไล่นักการเมืองชั่ว ๆ ก็ทำมาแล้ว ทั้งในปี 2549 และ 2556 จึงกล้าที่จะฟันธงว่า ประเทศไทยที่ยังไปไม่ถึงไหนก็เพราะมีนักการเมืองชั่ว ๆ และข้าราชการเลว ๆ ที่รวมเรียกว่า “ผู้ใหญ่ - ผู้ร้าย” นี้แล
ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เคยเล่าให้ใคร ๆ ต่อใครฟังเสมอ ๆ ว่า ตอนที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2518 พี่สาวของท่าน คือ ม.ร.ว.บุญรับ พินิจชนคดี (ภริยาพระพินิจชนคดี อธิบดีกรมตำรวจสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง) ได้เดินเข้าประตูด้านข้างบ้านเพราะอาศัยอยู่ติดกันมาหาน้องชาย พร้อมกับคนรับใช้ถือกระเป๋าเดินทางใบย่อม ๆ ติดตามมาด้วย ตอนนั้นปลอดคน พอพูดคุยทักทายกันนิดหน่อยแล้ว พี่สาวของท่านก็พูดขึ้นว่า “เอ้อ เอ็งเอานี่ไปใช้ แล้วอย่าไปคดโกงใครหละ” พอท่านเปิดกระเป๋าเดินทางใบนั้นก็เห็นเงินใบละร้อยเป็นฟ่อนอัดแน่นเต็มกระเป๋า ซึ่งท่านก็ไม่ได้ใช้เงินในกระเป๋านี้ทั้งหมด แต่ก็มีจ่ายไปบ้างเพื่อทำหน้าที่ “ผู้ใหญ่” คือมีคนมาขอพึ่งบารมีท่านมาก ทั้ง ส.ส.และชาวบ้าน โดยที่คนเหล่านั้นรู้อยู่อย่างเดียวว่า คนที่เป็นใหญ่เป็นโตถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว จะต้องไม่อดอยากขัดสนเป็นขาด เช่นเดียวกันกับที่ท่านต้องทำใจกว้าง อวยทานแจกจ่ายเงินนั้นออกไป เพราะราษฎรไทยเข้าใจแต่เพียงว่า ถ้าใครเป็น “ผู้ใหญ่” หรือเจ้าคนนายคนแล้ว ก็จะต้องอุปถัมภ์ค้ำจุน “ผู้น้อย” เพราะนี่คือ “ระบบศักดินา” ที่ปกครองประเทศไทยมาหลายร้อยปี
พูดถึงเรื่องแชร์ดิไอคอนที่กำลังดัง แล้วก็ปรากฏมีเรื่องที่มี “ผู้ใหญ่” เข้ามาเกี่ยวข้อง ที่สื่อต่าง ๆ เรียกว่า “เทวดา” ในสมัยที่ผู้เขียนทำงานอยู่กับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็เคยเกิดกรณีแชร์ลูกโซ่ขึ้นเหมือนกัน นั่นก็คือ “แชร์แม่ชม้อย” ที่แม่ชม้อยก็เคยวิ่งมาหาหาท่านที่บ้านสวนพลู แม้ว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จะไม่ได้ช่วยอะไร แต่ก็มีประเด็นที่น่าสนใจ เพราะแม่ชม้อยอ้างว่าที่มาหาท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็เพราะท่านเป็น “ผู้ใหญ่” ที่แม่ชม้อยเคารพนับถือ ที่มาก็เพื่อขอบารมีเป็นที่พึ่ง ให้เป็นศิริมงคล ให้มีความสบายใจและเข้มแข็งมากขึ้นเท่านั้น
ช่วงนั้นน่าจะเป็นประมาณ พ.ศ. 2528 ที่แม่ชม้อยกำลังจะถูกจับดำเนินคดี คดีนี้เกิดตั้งแต่ พ.ศ. 2520 โดยแม่ชม้อย ทิพยโส ร่วมกับนายประสิทธิ์ จิตที่พึ่ง ได้ชักชวนคนมาลงทุนซื้อน้ำมันคันรถละ 160,500 บาท แล้วจะมีรายได้ตอบแทนเดือนละ 12,000 บาท หรือ 144,000 บาทต่อปี คิดเป็นกำไรร้อยละ 78 ต่อปี คนก็ฮือฮาไปร่วมลงทุนด้วยจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นบรรดา “คนมีกะตัง” แต่ต่อมาก็มีคนหาเช้ากินค่ำรวมถึงข้าราชการมาขอลงทุนด้วย ถึงขั้นที่ซื้อเป็น “ล้อ” คือไม่ต้องจ่ายเต็มคัน แรก ๆ แม่ชม้อยก็จ่ายผลตอบแทนได้เรื่อยมา กระทั่ง “ลูกข่าย” หรือผู้ร่วมลงทุนเริ่มน้อยลง เงินที่จะมาเชื่อมต่อก็ขาดตอน เกิดการทวงถาม กระทั่งมีการดำเนินคดี ตอนนั้นก็ใช้ฟ้องเอาเงินคืนด้วยกฎหมายแพ่งที่มีอยู่ จนถึงปี 2527 จึงได้มีการออกกฎหมายการกู้ยืมเงินเพื่อเอาผิดในเรื่องแชร์นี้ แม่ชม้อยจึงต้องวิ่งมาที่บ้านสวนพลูดังกล่าว แต่ก็ถูกจับกุมและเอาตัวขึ้นศาลอยู่ดี
คดีนี้ศาลมีคำพิพากษาในเดือนกรกฎาคม 2532 เป็นคดีที่มีผู้เสียหายถึง 16,231 คน (เฉพาะที่มาแจ้งความดำเนินคดี) จำนวนเงินที่เสียหาย 4,500 กว่าล้านบาท มีจำเลยที่ถูกฟ้อง 8 คน (รวมแม่ชม้อย) ถ้าจะจำคุกรวมทุกกระทงจะติดคุกคนละกว่า 10,000 ปี แต่โทษตามกฎหมายสูงสุดจำกัดไว้แค่ 20 ปี ซึ่งทุกคนก็ถูกตัดสินตามนั้น และยังจะต้องจ่ายเงินที่ไปหลอกลวงผู้คนมานั้นคืนตามที่มีหลักฐานการกู้ยืมไว้ด้วย ซึ่งก็เป็นเงินนับพันล้านบาท เอาเข้าจริง ๆ แม่ชม้อยติดคุกแค่ 7 ปี เพราะได้รับอภัยโทษ 2 ครั้ง ทราบตามข่าวหนังสือพิมพ์ว่าแกทำตัวเป็นคนอยู่ในศีลในธรรม และเป็นที่เคารพนับถือของบรรดาผู้ต้องขังด้วยกันเสมอมา (ปัจจุบันไม่ได้ข่าวอีกเลยว่าแกมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร ทราบแต่ว่ายังมีชีวิตอยู่ โดยมีอายุ 84 ปีในปีนี้)
หลังจากที่แม่ชม้อยมาพบแล้วกลับไปแล้ว ต่อมาท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จึงพูดกับลูกศิษย์ลูกหาที่มาทานอาหารใต้ถุนบ้านสวนพลูในวันหนึ่งว่า แม่ชม้อยก็เหมือนคนไทยทั้งหลายที่เวลาตกทุกข์ได้ยากลำบากก็ต้องวิ่งหาที่พึ่ง ที่พึ่งที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือผีสางเทวดาหรือสิ่งศักดิ์ที่เคารพนับถือ คนไทยจึงชอบบนบานศาลกล่าวหรือเคารพสักการะผีสางเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น “ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง” ก็เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งที่คนไทยรู้จัก และคนไทยก็รู้ว่าแม้สิ่งศักดิ์เหล่านี้จะช่วยอะไรไม่ได้มาก แต่การได้แสดงความเคารพบูชาก็อาจจะเกิดความสุขทางใจ หายทุกข์ไปได้ตามสมควร ซึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดีก็ต้องทำตัวตามที่ชาวบ้านเขาเข้าใจและเคารพนับถือนั้น เพราะถ้าทำตัว “เว่อร์” หรือเผลอไปอวดอ้างหรือแสดงอภินิหาร อวดวิเศษอะไรเข้า นอกจากจะช่วยไม่ได้แล้ว ยังจะยิ่งไปก่อความเดือดร้อนให้แก่คนที่มาบนบานศาลกล่าวนั้นมากขึ้น อย่างน้อยก็ได้กิน “ของเซ่น” จากชาวบ้านฟรี ซึ่งเขาอาจจะด่าลับหลัง จนถึงขั้นหมดความเคารพนับถือไปนั้นเลยในที่สุด
เรื่องเล่าจากใต้ถุนบ้านซอยสวนพลูเรื่องนี้สอนว่า ถ้าอยากจะเป็นเทวดาก็อย่าไปอวดวิเศษ หากินของเซ่นจากชาวบ้าน เพราะนั่นน่าจะเรียกว่า “เปรต” ที่ชอบกินเศษกินเลยเป็นสันดาน
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้แล “บอส ๆ” เอ๊ย !