17 ตุลาคม 67 “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ปรากฏตัวเดินทางไปรายงานที่ศาลอาญา ในคดี มาตรา 112 ในฐานะผู้ต้องหา นับเป็นการมาปรากฏตัวอีกครั้งภายหลังจากที่เจ้าตัวเงียบหาย เก็บตัวอยู่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า นานเท่ากับห้วงระยะเวลาที่ “แพทองธาร ชินวัตร” บุตรสาว เข้ารับตำแหน่งนายกฯคนที่ 31 บริหารงานนานเกือบสองเดือน
สำหรับความผิดในคดี ม.112 ที่ทักษิณตกเป็นผู้ต้องหานั้นสืบเนื่องมาจากที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญายื่นฟ้อง ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร จากกรณีให้สัมภาษณ์มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน กับสำนักข่าวแห่งหนึ่ง ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ เมื่อปี 2558
การเดินทางมารายงานตัวของทักษิณ ครั้งนี้ เป็นไปตามกำหนดเงื่อนไขที่จะต้องมารายงานตัวต่อศาลเดือนละ1 ครั้ง โดยศาลกำหนดนัดสืบพยานโจทก์ครั้งเเรกของคดี เป็นวันที่ 1 ก.ค. ปีหน้า 2568
และก่อนหน้านี้ ก่อนหน้านี้นายทักษิณได้รับการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยตีราคาประกัน 5 เเสนบาท กำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล ซึ่งในครั้งนี้ ไม่ปรากฏว่า ทนายความของทักษิณ ได้ยื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกประเทศ แม้ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าเตรียมจะยื่นคำร้องขอออกนอกประเทศอีกครั้ง หลังศาลอาญาเคยยกคำร้องไปเมื่อวันที่ 30 ก.ค.67 ที่ผ่านมา เท่ากับว่า ทักษิณ ยังคงต้องอยู่เป็น “เสือเฝ้าถ้ำ” ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ต่อไป
ความผิดในคดี มาตรา 112 สำหรับอดีตนายกฯทักษิณ ถือเป็นอีกหนึ่งจุดตายที่ถูกจับตามองมาโดยตลอดว่าแม้จะได้กลับประเทศไทยตามข้อตกลงใน “ดีลลับ” เมื่อปี 2566 แต่ไม่ได้หมายความว่าตัวเขาเองจะ “ติดปีก” ในทางกลับกันคดีนี้ยังเป็นเหมือน “ชนักติดหลัง” ที่ทำให้ “พรรคเพื่อไทย” และทุกองคาพยพแวดล้อมของทักษิณ ต้องหาทางออก
ทั้งนี้จากข้อมูลที่ “วิญญัติ ชาติมนตรี” ทนายความส่วนตัวทักษิณ เคยระบุกับไว้ถึงการทั้งหมด 7 นัด โดยฝ่ายโจทก์นัดในวันที่ 1, 2 และ 3 ก.ค.2568 และนัดสืบพยานฝ่ายจำเลยจะเริ่มในวันที่ 15, 16, 22 และ 23 ก.ค.2568 หลังจากนั้นจะจัดทำคำพิพากษาของศาล ซึ่งการนัดสืบพยานในปีหน้านั้นเนื่องจากศาลอาญาเป็นศาลใหญ่ มีคดีจำนวนมาก ต้องนัดสืบพยานไปตามลำดับของคดี
เท่ากับว่า คดีมาตรา 112 คือซีรีย์เรื่องยาวที่กินเวลาข้ามไปถึงปีหน้า 2567 ขณะที่ปฏิบัติการผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรม โดย “พรรคเพื่อไทย” นั้นยังเดินหน้าไปไม่ถึงไหน เพราะแค่เฉพาะวันนี้การพิจารณา “รายงานศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร” ยังไม่ผ่านด่าน “พรรคร่วมรัฐบาล” ด้วยซ้ำ
โดยเฉพาะหากประเมินท่าทีจาก พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคภูมิใจไทย ที่แม้จะมีอยู่ 71 เสียงในสภาฯ แต่อย่าลืมว่า ยังมีอิทธิพลต่อ “สว.สีน้ำเงิน” ในสภาสูงอีกด้วยต่างหาก ที่ล้วนแล้วแต่ค้านกันสุดตัว ดังนั้นในระหว่างทางที่คดีม.112 ของทักษิณ ดำเนินต่อไป ภารกิจของพรรคเพื่อไทยต่อการผลักดันการนิรโทษกรรม ยังไม่ลุล่วง !!