พรรคเพื่อไทย น่าจะประเมินความเสียหาย และจุดคุ้มทุนได้แล้วว่า หากยังดึงดันเดินหน้าผลักดัน รายงานนิรโทษกรรม เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะเท่ากับเป็นความสุ่มเสี่ยงว่าจะพากัน ลุยไฟ


  แทนที่จะทำให้ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีโอกาสนั่งบริหารประเทศ ด้วยความราบรื่น กลับต้องผจญกับมรสุมแทน ! 
 จากท่าทีที่ขึงขัง ของพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล เตรียมนำรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม เข้าสู่วาระการพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 17 ต.ค.นี้ แต่ปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย  ส่งสัญญาณว่า ไม่สนับสนุนการรวมเอาคดีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 เอาไว้ในร่างกฎหมายนิรโทษกรรม 


 และหากย้อนกลับไป ก่อนหน้านี้ ชูศักดิ์ ศิรินิล  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะ กมธ.วิสามัญฯ มีท่าทีชัดเจนว่าจะผลักดันเข้าสภาฯ แต่เมื่อแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ประสานเสียงเหมือนนัดหมายว่า ไม่เห็นด้วย   


 ขณะเดียวกันยังพบว่า ภายในพรรคเพื่อไทยเอง ใช่ว่าจะมองไปในทางเดียวกับชูศักดิ์ ทั้งหมด  เพราะต่างรู้ดีว่า ประเด็นเรื่องความผิด คดีอาญา มาตรา 112 นั้นไม่ต่างจาก การเรียกแขก  เปิดหน้าให้ ฝั่งตรงข้าม โดยเฉพาะ ฝั่งอนุรักษ์นิยม เองที่พร้อมจะ ขวางเต็มพิกัด  


 ดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคเพื่อไทย เปิดเผยกับสื่อว่า พรรคเพื่อไทยเองยังมีความเห็นด้วยกันออกเป็น 3แนวทาง  คือ แนวทางที่ 1 ให้รวมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112


  แนวทางที่ 2 ไม่รวมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และแนวทางที่ 3 รวมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แบบมีเงื่อนไข คือการให้มีคณะกรรมการขึ้นมา และให้มีการยกโทษให้ แต่หากทำผิดซ้ำอีกก็ให้ยกโทษเก่ากลับมาทั้งหมด โดยจะรวมโทษทั้งต้นและดอก 


 ล่าสุด อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย บอกแล้วว่า ทั้งเรื่องความผิดในมาตรา 112 กับคดีที่เกี่ยวกับการทุจริต คอร์รัปชั่น นั้นพรรคภูมิใจไทย จะไม่เอาด้วยเลย ดังนั้นหมายความว่า  งานนี้ พรรคเพื่อไทย คงไม่ต้องรอให้แรงค้าน แรงกดดันจาก พรรคร่วมรัฐบาล โถมเข้าใส่จนทำให้เกิดความขัดแย้งตามมา ดังนั้นการเลือกดึงฟืนออกจากกองไฟ ยื้อเวลาออกไป น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด !