สถาพร ศรีสัจจัง

เมื่อพูดถึงพัฒนาการของดินแดนซีกโลกตะวันออกในยุคสังคมเกษตรกรรมที่มีระบบการปกครองแบบที่เรียกว่า “ศักดินานิยม” โดยใช้ประเทศจีนโบราณเป็นตัวแทนแล้ว ก็ควรจะได้พูดถึงดินแดนในซีกโลกตะวันตกในยุคเดียวกันด้วย

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์-โบราณคดีพบว่า “นครรัฐ” แรกๆในดินแดนซีกโลกตะวันตก ในยุคที่ “เซเปียนส์” (ก็คือสิ่งมีชีวิตสปีชีส์หนึ่งที่พัฒนามาจนได้รับการเรียกขานว่า “มนุษย์” ในภายหลังนั่นแหละ)เคลื่อนผ่านจากสังคม “ชุมชนบุพกาล” (Primitive commune) เข้าสู่ “สังคมเกษตรกรรม” และ มีการปกครองในระบบที่เรียกกันในภายหลังว่า “ศักดินานิยม” นั้น เกิดขึ้นแถบเขตพื้นที่ที่เรียกกันในภายหลังว่า “กลุ่มอารยธรรมเมโสโปเตเมีย” นั่นเอง

คำ “เมโสโปเตเมีย” (…)นี้ หมายถึงดินแดนที่อยู่ระหว่างแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติสในปัจจุบัน(คืออิหร่าน-อิรัก และตุรเคีย ปัจจุบัน)

นักประวัติศาสตร์ระบุว่า ชนชาติแรกๆที่สถาปนาระบบ “นครรัฐ” ขึ้นในแถบถิ่นนี้เมื่อประมาณ 3-4 พันปีก่อน (ไล่เลี่ยกับกลุ่มชนแถบลุ่มน้ำฮวงเหอ-คือจีน และ แถบลุ่มน้ำสินธุ-คงคา-คืออินเดียปัจจุบันของซีกโลกตะวันออก)คือชาว “สุเมเรียน”

ฟังว่า “ชนชั้นนำ” ที่แกครอง “นครรัฐ” ของชาวสุเมเรียนยุคแรกๆคือกลุ่มนักบวชหรือผู้นำทางคติความเชื่อ ต่อมาเมื่อมีการแข่งขันแย่งชิงอำนาจ(พื้นที่แรงงานคน) ก็เกิดการรบราฆ่าฟันกันระหว่างนครรัฐมากขึ้น อำนาจในการปกครองจึงตกไปอยู่กับ “ชนชั้นนักรบ” ที่เข้มแข็ง และมี “ผลงาน” ในการปกป้องรัฐที่ชัดเจนกว่า

และชนชั้นนักรบที่กลายมาเป็นผู้นำเหล่านี้นี่เองที่ได้สถาปนาระบบ “ศักดินา” ที่มีผู้นำคือ “พระราชา” หรือ “King” ขึ้นมา

นักประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งระบุว่า “นครรัฐ” ของชาวสุเมเรียนนี้เองที่ถือเป็นนครรัฐยุคแรกของสังคมมนุษย์(นักวิชาการจีนและอินเดียอาจจะไม่ยอมรับ?)

นครรัฐต่อๆมาที่เกิดขึ้นในทำนองเดียวกันเรียงลำดับกันมา จนกลายเป็นแหล่งที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นแหล่งเกิดรากฐานทัพสำคัญของแผ่นดินซีกตะวันตกของโลกใบนี้(บางส่วนคือแอฟริกา-ตะวันออกกลาง และยุโรปตะวันออก)

ที่รู้จักกันอย่างสำคัญๆมาจนถึงยุคปัจจุบันก็เช่น อียิปต์ กรีก และโรมันเป็นต้น

ที่เรียกว่าสำคัญก็เพราะ ใครที่ผ่านระบบการศึกษาไทยย่อมต้องถูกบังคับให้เรียนในรายวิชา ที่เกี่ยวกับ “อารธรรมตะวันตก” ทั้งสิ้น เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญ และ “ความยิ่งใหญ่” ของ “ตะวันตก” ที่เป็นต้นตอของ “วัฒนธรรมทุนนิยม” อันกลายเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักของโลกในปัจจุบัน

ที่จริงการผ่านสังคมเกษตรกรรมของบรรดาลูกหลานเซเปียนส์ที่ถูกเรีนกว่า มนุษย์ในปัจจุบันทางฝั่งซีกโลกตะวันตกที่หลักฐานทางโบราณคดีบอกว่า เริ่มจาก “สุเมเรียน” มีรายละเอียดที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก

ในห้วงเวลา 3-4 พันปี แห่งพัฒนาการของสังคม “ศักดินาแบบตะวันตก” (Western Feudalism) ที่มีรายละเอียดของ “ความขัดแย้งภายใน” ที่มีรายละเอียดแตกต่างกับระบบดังกล่าวในซีกโลกตะวันออก(โดยเฉพาะสังคมไทย)นั้น ได้ส่งผลเชิง “คุณภาพของการเคลื่อนเปลี่ยนทางสังคม” ในระยะต่อมาในรายละเอียดที่แตกต่างหลายประการด้วยกัน

โดยเฉพาะในเรื่อง “วัฒนธรรมทางการเมือง”

ลืมบอกเรื่องสำคัญไปเรื่องหนึ่ง คือเรื่องเผ่าพันธุ์พื้นฐานหลักๆของคนในพื้นที่ “เมโสโปเตเมีย” โบราณ ที่กลายมาเป็น “ราก” ทางสังคมที่สำคัญของโลกตะวันตกนั้นว่าประกอบด้วยวกไหนบ้าง

เท่าที่มีหลักฐานะไว้ที่สำคัญๆมี 3 กลุ่ม ได้แก่ ชาว “สุเมเรียน” เอเซียติค และ  อินเดียยูโรเปียน

แต่อย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว คือชาวสุเมเรียนเป็นเผ่าแรกๆที่ได้สถาปนาอำนาจทางการเมืองขึ้นเป็น “นครรัฐ” หลักฐานบอกเราว่า พวกเขาได้บุกเบิกสร้างวัฒนธรรมที่ทำให้ “เซเปียนส์” ข้ามพ้นและแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นหลายประการด้วยกัน เช่นการสร้าง “อักขรวิธี” ซึ่งก็คือตัวหนังสือที่เรียกว่า “อักษรลิ่ม” หรือ “อักษรคูนิฟอร์ม” นั่นเอง

ฟังว่านี่คือ “ตัวหนังสือ” ชนิดแรกของโลก(จีนยอมรับหรือเปล่า?)

นอกจากนั้นพวกเขายังสร้างระบบการคิดที่ใช้คณิตศาสตร์เป็นฐานหลายเรื่องด้วยกัน เช่น เรื่องการ บวก ลบ และ คูณ  การคิดเรื่องระบบมาตราการชั่ง ตวง วัด เป็นต้น

ทั้งฟังได้อีกว่า มีความเจริญก้าวหน้าด้านสถาปัตยกรรมการก่อสร้างไม่น้อย เป็นพวกแรกๆที่คิดการทำอิฐจนสามารถสร้าง “หอคอยระฟ้า” ขึ้นได้ นับว่าเจ๋งไม่น้อยทีเดียว

และที่เมโสโปเตเมียนี้เองที่ต่อมาได้เกิดระบบที่เรียกว่า “จักรวรรดิ” ขึ้น!!!