เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phogphit

พาดหัวข่าวครั้งที่เท่าไรไม่รู้ กระทรวงอว. ว่า เด็กจบใหม่หางานทำไม่ได้ อีกด้านหนึ่งก็ข่าว “ปฏิวัติการศึกษา” ของรัฐมนตรีศธ. ที่พูดไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะ “วิสัยทัศน์ที่ไม่มีปฏิบัติการ เป็นกลางวัน”

โลกเปลี่ยนเร็วมาก ระบบเศรษฐกิจยุคเอไอตามให้ได้ ไล่ให้ทัน ไม่เช่นนั้นจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างแน่นอน เหมือนที่การศึกษาไทยกำลังประสบ ระบบการศึกษาที่ล้าหลัง แค่คำพูด “เรียนดีมีความสุข” ไม่ได้ช่วยอะไรถ้าไม่มี “ยุทธศาสตร์” ที่มาจาก “วิสัยทัศน์” และ “กระบวนทัศน์” ใหม่

ถ้าไม่เปลี่ยน “วิธีคิด วิธีปฏิบัติ วิธีให้คุณค่า และการมองโลกแบบใหม่” การปฏวัติไม่เกิด เหมือนที่โทมัส คูห์น ว่าไว้นานแล้ว “เมื่อใดมีการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เมือนั้นเกิดปฏิวัติวิทยาศาสตร์”

การปฏิวัติการศึกษาไม่มีวันเกิดในกระบวนทัศน์เก่าของการศึกษาไทย นักการเมืองไทยที่ทำได้แต่เพียงเอาเหล้าเก่าไปใส่ขวดใหม่ พูดไปให้ดูดีเท่านั้น

ถ้าต้องการปฏิวัติการศึกษาต้องเปลี่ยน 3 อย่าง คือ ระบบโครงสร้างการศึกษา ระบบคิดของครู และระบบคิดของนักการเมือง

ปฏิวัติระบบโครงสร้าง คือ การกระจายอำนาจ ไม่ใช่แค่อ้างว่าได้ให้จัดการเรื่องการเรียนการสอนเองอยู่แล้ว  แต่คือการกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณที่ลงไปมากกว่าที่ให้ไปวันนี้ที่จำกัดมาก ให้มีครูมีบุคลากรมากกว่า ถ้าลดเจ้าหน้าที่ที่กระทรวงในกรุงเทพฯ 5,000 ให้เหลือสัก 500 คือการกระจายอำนาจ

ระบบคิดของครู หรือที่เรียกว่า mindset นั้นเปลี่ยนยาก แต่หากนักการเมืองเปลี่ยนก่อน มีความกล้าหาญทางจริยธรรม และเจตจำนงทางการเมือง ก็จะเปลี่ยนทัศนคติของครูได้ พัฒนาจิตวิทยาการศึกษาใหม่ได้

ครูวันนี้ไม่ใช่ผู้ประสาทวิชาความรู้แล้ว แต่เป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ ผู้สร้างแรงบันดาลใจ เป็น life coach ผู้ช่วยให้นักเรียนมีความคิดวิจารณญาณ (critical thinking) มีความคิดเชิงวิเคราะห์ (analytical thinking) นักเรียนนักศึกษาหาข้อมูลความรู้ในไอทีได้ดีกว่าเก่งกว่าครูด้วยซ้ำ

สิ่งที่ครูเองต้องเรียนรู้ใหม่ ต้องมีความรู้พื้นฐานด้านไอที (IT literacy) และปัญญาประดิษฐ์ (AI literacy) ไม่เช่นนั้น ครูจะตามนักเรียนนักศึกษาไม่ทัน ตามโลกไม่ทัน ยังสอนหนังสือแบบเดิมๆ แล้วจะแปลกอะไรที่เด็กจบใหม่หางานทำไม่ได้

นักธุรกิจและนักการศึกษายุคใหม่เสนอว่า ถ้านักศึกษาจะมีงานทำวันนี้ต้องมีอย่างน้อย 5 อย่าง ความคิดและทักษะเชิงวิเคราะห์  ความคิดและทักษะเชิงสร้างสรรค์ ทักษะภาษาอังกฤษ ทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และทักษะทำงานกับคนอื่นเป็น

หลายปีก่อน ผมได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ไปบรรยายให้คณาจารย์ที่นั่น อธิการบดีบอกว่า เป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่คนเรียนเกษตรน้อย อยากให้แนะนำว่าควรจัดการศึกษาอย่างไร

ผมก็ไปเสนอให้จัดการเรียนไม่ว่าเกษตรหรือวิชาอะไรให้สัมพันธ์กับชีวิตจริง เรียนจากห้องเรียนและจากชีวิตจริงไปพร้อมกัน ได้เล่าให้ที่ประชุมฟังว่า ผมจัดการศึกษาใน “โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต” อย่างไร

เรามีวิสัยทัศน์ว่า “เรียนรู้เพื่ออยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีกินในท้องถิ่นตน” “เรียนแล้วช่วยตัวเองได้ ช่วยคนอื่นได้”  นักศึกษาใน “ม.ชีวิต” เกือบทั้งหมดเป็นผู้ใหญ่ การเรียนทำให้พวกเขาวางแผนชีวิต แผนอาชีพ แผนการเงิน แผนสุขภาพ ทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ไม่มีงานก็คิดงานใหม่ได้ เพราะอยู่อย่างมีเป้าหมายและมีแบบมีแผน

ปัญหาของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน คือ กว่าจะได้รับอนุมัติจากกระทรวงให้เปิดได้ก็ใช้เวลากว่า 3 ปี เปิดแล้วก็ถูกประเมินด้วยเกณฑ์ ตัวชี้วัดเดียวกันกับมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนอื่นๆ เหมือนมีรองเท้าเบอร์เดียวให้ใส่กันทั้งประเทศ แล้วบอกให้ผม “ตัดเท้าให้เข้ากับเกือก” แทนที่จะตัดรองเท้าให้เข้ากับเท้า

วันนี้สิ่งที่ผมทำมา 20 กว่าปี กระทรวงอว. และศธ. ก็มาคิดได้ เรียกร้องให้ลดคณะ ภาควิชาที่เรียนแล้วหางานทำไม่ได้อย่างสังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ซึ่งความจริง ถ้ายังคิดแบบแยกส่วน เรียนเป็นคณะ เป็นวิชา เรียนอะไรก็แก้ปัญหาไม่ได้อยู่ดี ต้องเรียนแบบ “บูรณาการ” การเรียนกับการงาน กับชีวิตจริง

ภาคธุรกิจเขารอไม่ได้ ตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรของเขาที่เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย อย่าง สถาบันปัญญาภิวัฒน์ของซีพี ซึ่งธุรกิจใหญ่ๆ ในหลายประเทศทำกันมานานแล้ว

เมื่อจัดการเรียนแบบบูรณาการ นักศึกษาอยากเรียนวิชาอะไร คณะไหนก็เรียนได้ เพื่อช่วยให้ “งาน” หรือ “โครงงาน” ที่ตนเองทำสำเร็จ เรียนจบก็ทำงานต่อ ไม่ว่างานที่คิดเอง หรืองานในสถานประกอบการที่ฝึกงาน

สิงคโปร์ปฏิวัติการศึกษามานานแล้ว ปรับตัวมาเรื่อยๆ วันนี้ก็ยังให้ทุนนักศึกษา คนทำงานมี “คูปอง” ไปรับการฝึกอบรม ไปเรียนรู้ใหม่ (relearn) เพื่อจะได้ทันโลก และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

คิดถึงเดวิด บลังเค็ต อดีตรัฐมนตรีศึกษาตาบอดของสหราชอาณาจักรในรัฐบาลโทนี แบลร์ เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ที่มีวิสัยทัศน์คมกว่าคนตาดี เสนอแผนปฏิรูปการศึกษาที่รัฐบาลรับทันที ทำให้คนที่ทำงานได้กลับมาเรียนรู้ใหม่ให้ทันโลก และทำงานมีประสิทธิภาพมากกว่า

สหราชอาณาจักรยุคนั้นพบว่า ที่เศรษฐกิจของตนล้าหลังประเทศ G7 เพราะการศึกษาภาคประชาชนไม่ดีพอ แม้มีมหาวิทยาลัยแนวหน้าของโลกมากมาย

นายกฯ โทนี แบลร์ รับแผนปฏิรูปการศึกษาเพราะเขามีเจตจำนงทางการเมือง “ถามผมสิว่า 3 อย่างที่สำคัญที่สุดในรัฐบาลผมคืออะไร ผมจะตอบคุณว่า การศึกษา การศึกษา และการศึกษา”

เนลสัน แมนเดลา นักต่อสู้ทุกรูปแบบเพื่อเปลี่ยนสังคมแอฟริกาใต้บอกว่า “การศึกษาคือเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดเพื่อการเปลี่ยนโลก”

ถ้านักการเมืองไทยต้องการปฏิวัติการศึกษาจริง ต้องมีเจตจำนงทางการเมืองแบบโทนี่ แบลร์ และเนลสัน แมนเดลา จึงจะพัฒนาบ้านเมืองได้