นโยบายเรือธงของ “พรรคเพื่อไทย” ไม่ได้มีเพียงการผลักดัน “โครงการดิจิทัลวอลเล็ต” แจกเงินให้คนละ 1หมื่นบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น และล่าสุดเมื่อรัฐบาล “แพทองธาร 1” ได้ลดความกดดัน ต่อเสียงของประชาชนไปได้เปลาะหนึ่งแล้ว ด้วยการ “แจกเงินสด” คนละ 1หมื่นบาท ในเฟสที่ 1 ผ่านพ้นไปแล้ว
อย่าลืมว่าในการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย ชูนโยบายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เอาไว้อย่างชัดเจน บวกกับที่ผ่านมาทั้งในช่วงรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” มาถึง “แพทองธาร 1” ก็เป็นแกนนำพรรคเพื่อไทย ทั้งที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารต่าง “ออกแรง” เดินหน้เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันเต็มที่
แต่ดูเหมือนว่าเรื่องนี้ อาจไม่ง่ายดายนัก เพราะพรรคเพื่อไทยเองยังต้องผ่านอีกหลายด่าน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นด่านที่มีความสำคัญทั้งสิ้น โดยเฉพาะการแก้โจทย์ที่ว่า ทำอย่างไร “พรรคภูมิใจไทย” จึงจะ “เอาด้วย” !!
แม้พรรคภูมิใจไทย จะมีสส. 71 คนในสภาฯ และอยู่ในฐานะ “พรรคร่วมรัฐบาล” กับพรรคเพื่อไทย แต่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งที่ประชุมสภาฯ และในการประชุมวุฒิสภา ที่ผ่านมา น่าจะทำให้พรรคเพื่อไทย กังวลใจอย่างมาก
ในการแก้รัฐธรรมนูญ “ทั้งฉบับ” จะต้องจัดทำ “ร่างพ.ร.บ.ประชามติ” เพื่อไปสอบถามประชาชน ว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นขั้นตอน ณ เวลานี้จึงยังอยู่ที่ชั้นการผลักดัน ร่างพ.ร.บ.ประชามติ ที่พรรคเพื่อไทยยังฝ่าด่านแรกไปไม่ได้ เพราะเงื่อนไขหลักๆสำหรับพรรคภูมิใจไทย ไม่ได้น้ำหนักไปที่แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งเป็นแนวที่ “สวนทาง” กับพรรคเพื่อไทน และพรรคประชาชน
นอกจากพรรคภูมิใจไทยจะตั้งแท่นไม่เอาด้วยกับพรรคเพื่อไทยแล้ว ยังส่งผลต่อไปยังการตัดสินใจของ “สว.สายน้ำเงิน” ซึ่งอยู่ในปีกของพรรคภูมิใจไทย เท่ากับว่า หากพรรคเพื่อไทย ไม่สามารถเจรจากับพรรคภูมิใจไทยได้ลงตัวแล้ว โอกาสที่จะหวังว่าจะผ่านด่านวุฒิสภา ในชั้นต่อไป จึงเป็นเรื่องยากเย็นและแทบไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ
ทั้งนั้นทั้งนี้ จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ระหว่าง พรรคเพื่อไทยกับ พรรคภูมิใจไทย ที่ต่างมีผู้มีอิทธิพลนอกพรรค และเพิ่งเข้าพบกันไปหมาดๆ ที่บ้านพักจันทร์ส่องหล้า เท่ากับว่าระหว่าง “เนวิน ชิดชอบ” กับ “ทักษิณ ชินวัตร” ต่างยังคุยกันไม่ลงตัว ผลจึงมาปรากฏอยู่ที่ “ศึกประชามติ” อย่างที่เห็น !!