รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

เมื่อเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้จัดอบรมหัวข้อ “LawBOT พลิกโฉมกระบวนการยุติธรรมด้วย AI” โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.พีรพล เวทีกุล 1 ในวิทยากรจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บรรยายเกี่ยวกับการพัฒนาโปรแกรมสนทนาอัตโนมัติด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI สำหรับงานกฎหมาย: โอกาสและความท้าทาย ได้อย่างน่าสนใจยิ่ง ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้  

ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) เป็นเทคโนโลยีที่สามารถจำลองการคิด วิเคราะห์ และการตัดสินใจของมนุษย์ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ AI สามารถนำมาใช้ในหลากหลายสาขา รวมถึงการศึกษา การแพทย์ การค้าปลีก การตลาด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการยุติธรรม ปัจจุบัน AI ได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาข้อมูลทางกฎหมาย การคาดการณ์ผลของคดี หรือการช่วยเหลือในการจัดการเอกสารและขั้นตอนต่าง ๆ

การนำ AI มาใช้ในกระบวนการยุติธรรมมีประโยชน์หลายด้าน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ด้านหลัก คือ

1. การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน AI สามารถจัดการข้อมูลจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว ทำให้นักกฎหมายสามารถประมวลผลข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดีต่าง ๆ ได้ในเวลาอันสั้น เช่น Lex Machina ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลด้านกฎหมาย (Legal Analytics) จากคดีเก่า ๆ เพื่อทำนายผลลัพธ์ของคดีใหม่ ๆ ช่วยให้ทนายความสามารถเตรียมตัวและวางแผน
กลยุทธ์ได้ดีขึ้น

2. ความแม่นยำในการวิเคราะห์ AI มีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อนและคาดการณ์แนวโน้มของคดีที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้สามารถระบุแนวทางการดำเนินคดีที่เหมาะสม และลดความผิดพลาดในการทำงาน นอกจากนี้ AI ยังสามารถใช้ในการตรวจจับการทุจริตและความผิดปกติในระบบทางการเงินและกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้ AI ของ LexisNexis ในการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินที่มีความเสี่ยงเพื่อป้องกันปัญหาทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้น

3. การเข้าถึงข้อมูลกฎหมายอย่างรวดเร็ว AI ช่วยให้การค้นหาข้อมูลทางกฎหมายเป็นไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น ผู้ใช้งานสามารถตั้งคำถามและได้รับคำตอบจากข้อมูลที่ถูกต้องภายในเวลาอันสั้น ช่วยลดขั้นตอนและเวลาในการทำงานได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังทำให้การให้คำปรึกษาทางกฎหมายสะดวกและเข้าถึงได้มากขึ้น

การประยุกต์ใช้ AI ในระบบกฎหมายไทยยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น แต่ก็มีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาไปได้ไกล เนื่องจาก AI สามารถช่วยให้นักกฎหมายและผู้ใช้บริการทั่วไปสามารถค้นหาข้อมูลทางกฎหมายเบื้องต้นได้ง่ายขึ้น เช่น การให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย และสามารถช่วยลดปริมาณงานในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการให้คำปรึกษาเบื้องต้นหรือการทำงานในส่วนที่ซับซ้อนน้อยกว่า ซึ่งนักกฎหมายสามารถใช้เวลาไปกับงานที่มีความซับซ้อนมากกว่าได้

นอกจากนี้ AI ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้กระบวนการทางกฎหมายเป็นไปอย่างโปร่งใสและยุติธรรมมากขึ้น ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลจากคดีเก่าเพื่อคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต AI ที่นำมาใช้ในงานด้านกฎหมาย โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องใช้ข้อมูลจำนวนมาก AI จะช่วยให้นักกฎหมายสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจที่มากขึ้น

ตัวอย่าง AI เฉพาะทางด้านฎหมายที่น่าสนใจของไทย เช่น “ทนอย” ของต่างประเทศนอกจาก Lex Machina LexisNexis  เช่น LawDroid Copilot, Harvey AI, CoCounsel, LegalSifter 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า AI จะมีประโยชน์มากมายในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม แต่ก็ยังมีความท้าทายที่ต้องพิจารณา โดยเฉพาะประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ เรื่องของ ‘ความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูล’ ที่ AI ประมวลผลได้ ปัญหาภาพหลอน Hallucination) ของ AI คือเมื่อ AI ตอบคำถามด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนจากความจริง ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายในการพิจารณาคดีได้

เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว นักพัฒนาจึงได้นำเทคโนโลยี Retrieval Augmented Generation (RAG) มาประยุกต์ใช้เพื่อดึงข้อมูลที่ถูกต้องจากแหล่งข้อมูลที่กำหนดมาช่วยในการตอบคำถามของ AI ทำให้การตอบคำถามมีความแม่นยำและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนา AI ให้สามารถเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมทางกฎหมายของแต่ละประเทศได้อย่างลึกซึ้ง เป็นอีกหนึ่งความท้าทายในการนำ AI มาใช้ในกฎหมายไทย

ในอนาคต การใช้ AI ในกระบวนการยุติธรรมจะยังคงเติบโตและมีบทบาทมากขึ้น นักกฎหมายจะต้องมีทักษะในการใช้ AI เพื่อช่วยในการทำงาน เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลหรือการใช้เครื่องมือที่มี AI เข้ามาช่วยลดภาระงานต่าง ๆ ที่ซับซ้อนน้อยกว่า
นักกฎหมายในอนาคตจะมีแต่ความรู้ทางกฎหมายอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ต้องมีความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยี AI ที่จะเพิ่มศักยภาพในการทำงาน ทั้งนี้นักกฎหมายต้องตระหนักด้วยว่าการใช้ AI ในงานกฎหมายไม่สามารถแทนที่บทบาทของนักกฎหมายได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากการตัดสินใจในคดีความหรือการให้คำปรึกษายังต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของนักกฎหมาย และหากมีข้อผิดพลาดใด ๆ เกิดขึ้น “คน” จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดจะกล่าวโทษ “AI” มิได้เลยครับ!!!