สถาพร ศรีสัจจัง

กล่าวเฉพาะ “พื้นที่ที่เรียกว่าสาธารณรัฐประชาชนจีน” ปัจจุบัน ซึ่งต่อไปจะเรียกเพียงสั้นๆว่า “ประเทศจีน” (จะนับรวมเกาะ “ฟอร์โมซา” หรือ “ไต้หวัน” ด้วยหรือไม่ก็แล้วแต่) ซึ่งการศึกษาทางประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยาก้าวหน้าไปมากแล้วนั้น พบว่า “สังคมมนุษย์” (ที่สืบเชื้อสายมาจากเซเปียนส์) มี “ระบบศักดินา” เกิดขึ้นและพัฒนาเคียงคู่มากับระบบสังคมแบบเกษตรกรรมมาอย่างยาวนานยิ่ง                  

อย่างน้อยก็รวมอายุที่ประเทศจีนตกอยู่ในระบบนี้ไม่น้อยกว่า 4,000 ปีขึ้นไป!(ประเมินอย่างสั้นที่สุดแล้ว)                

แม้จะดูยาวนาน แต่เมื่อเทียบกับยุคที่ฝูง “เซเปียนส์” ยัง “พึ่งพิงธรรมชาติล้วนๆ” หรือที่นักมานุษยวิทยาบางสายสกุล เรียกว่ายุค “ชุมชนบุพกาล” (Primitive Commune) ก็ต้องถือว่าสั่นกว่ากันมากนัก                                                                                                   

ใครที่เคยอ่านตำราว่าด้วยประวัติศาสตร์จีนย่อมพอจะทราบว่า ราชวงศ์สำคัญของกษัตริย์ยุคแรกๆคือ “ราชวงศ์เซี่ย”นั้น เกิดขึ้นและมีอำนาจอยู่แถบมนฑลส่านซีในปัจจุบัน มีหลักฐานว่าผู้ถูกยอมรับให้ขึ้นเถลิงราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์แรกมีนามว่า “พระเจ้าอวี่”

ฟังว่ากษัตริย์พระองค์นี้ทรงมีชื่อเสียงจากความสามารถในการแก้ปัญหาอุทกภัยที่เกิดจากแม่น้ำ “ฮวงโห” (หวงเหอ) พระองค์ทรงใช้เวลาถึง 13 ปีในการแก้ปัญหาความทุกข์ยากของราษฎรดังกล่าวจนประสบความสำเร็จ จนชาวบ้านได้ขนานนามว่า “ต้าหยู” (ต้า-ยวี่)                    

พระองค์ทรงปกครองแผ่นดินจีนยุคแรกๆอยู่ในช่วงประมาณ 2100-1600 ปีก่อนคริสตกาล และฟังว่า พระเจ้าอวี่นี่เองที่ได้เริ่มสถาปนาระบบการสืบทอดพระราชอำนาจทางสายโลหิตขึ้น แรกๆก็จากพี่สู่น้อง ภายหลังจึงสู่บุตร ทั้งยังพบพบหลักฐานด้วยว่า กษัตริย์ในยุคนี้มักจะเป็นผู้นำทางคติความเชื่อ(หรือศาสนา)ของสังคมด้วย                  

ประวัติศาสตร์จีนระบุไว้ว่า ราชวงศ์เซี่ยนี้มีอายุยืนยาวประมาณ 500 ปี มีกษัตริย์ต่อเนื่องกันถึง 17 พระองค์ ก่อนที่จะล่มสลายลงในยุคสมัยของกษัตริย์ทรราชย์นาม "พระเจ้าเจี๋ย" ที่ถูกหัวหน้า "เผ่าซาง" ร่วมมือกับชนเผ่าต่างๆในอาณาจักรผนึกกำลังกันเข้าโค่นล้มลงสำเร็จ จากนั้นจึงได้สถาปนาราชวงศ์ “ซาง” ขึ้นสืบต่อ                    

ที่จริงฟังว่า แผ่นดินจีนมีกษัตริย์ปกครองมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่มีพื้นที่ปกครองไม่กว้างขวางนัก อย่างที่มักจะรู้จักกันในนามของ “พระเจ้าเหยา” กับ “พระเจ้าซุ่น” เป็นต้น                 

กล่าวโดยสรุป แผ่นดินจีนยุคสังคมเกษตรกรรม หลังจากได้สถาปนา “ระบบศักดินา” ขึ้นเป็นระบบการปกครองที่เข้มแข็งเคียงคู่แล้ว ก็มี “ความขัดแย้งภายใน” เกิดขึ้นมาโดยตลอด มีการแย่งชิงอำนาจการปกครองชุมชน หรือ “อาณาจักร”(แล้วแต่จะเรียก) หรือ “อำนาจทางการเมือง” กันมาโดยตลอด

ภาพปรากฏดังกล่าวนี้เห็นได้ชัดจากประโยคต้นเรื่องของวรรณกรรมจีนโบราณชิ้นยิ่งใหญ่เรื่อง “ซานกว๋อเหยี่ยนยี่” ของ “หลอกว้านจง”            

ที่รู้จักกันในชื่อพากย์ไทยว่า “สามก๊ก” นั่นไง!

 

ใครที่สนใจเรื่องราวที่เกี่ยวกับวรรณกรรมเรื่อง “สามก๊ก” เป็นพิเศษ จะพบว่า วรรณกรรมจีนสมัยราชวงศหมิงที่เขียนโดย “หลอกว้านจง” (พ.ศ.1873-1943) เรื่องนี้นับเป็น “เรื่องเล่า” (Telling Story) ที่ยิ่งใหญ่มาก มีการแปลเป็นภาษาต่างๆในโลกนี้มากมาย เฉพาะของไทยเรา ก็มีหลายสำนวน เริ่มแปลกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์                   

ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสั่งให้เจ้าพระยาพระคลัง(หน)จัดตั้ง “ทีมแปล” ขึ้นถ่ายทอดจากพากย์จีนมาเป็นพากย์ไทย เป็นฉบับที่ “คลาสสิก” และ ยิ่งใหญ่มาก ยังมีการจัดพิมพ์เผยแพร่มาจนถึงทุกวันนี้                                                                       

จะลองยกตัวอย่างสำนวนแปลเฉพาะที่เป็น “ประโยคต้นเรื่อง” ของวรรณกรรมเรื่องนี้(ซึ่งสะท้อนความขัดแย้งภายในเรื่องอำนาจทางการเมืองของสังคมจีนหลังได้สถาปนาระบอบ “ศักดินานิยม” ขึ้นแล้ว) มาให้ดูกันสัก 2-3 สำนวนก็แล้วกัน                                                                           

ฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย “C.H. Brewitt Taylor” (ที่ “ยาขอบ” ใช้เป็น “เอกสารอ้างอิง” เมื่อครั้งเขียนเรื่อง “สามก๊ก ฉบับ วนิพก” อันโด่งดังลือลั่น) ได้แปลตอนนี้ไว้ว่า “Domain under heaven,after a long period of division,tend to unite;after a long period of union,tend to devide”                     

ขณะที่ฉบับของเจ้าพระยาพระคลัง(หน)แปลว่า “เดิมแผ่นดินเมืองจีนนั้นเป็นสุขมาช้านาน แล้วก็เป็นศึก ครั้งศึกสงบแล้วก็เป็นสุข”                                                                                

ขอแถมให้อีกสำนวน คือสำนวนแปลของ “โชติช่วง  นาดอน” หรือ คุณทองแถม นาถจำนง ผู้ชำนาญด้าน “จีนศึกษา” ที่เพิ่งวายชนม์ไปเมื่อไม่นานมานี้ ท่านผู้นี้เขียนและแปลเรื่องที่เป็น “ภูมิปัญญาจีน” ไว้เป็นจำนวนมาก เป็นศิษย์เก่าสำนักเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดูเหมือนจะเรียน และ “เข้าป่า” ร่วมรุ่นกับคุณจาตุรนต์ ฉายแสง (อดีตนักเรียนแพทย์และมีตำแหน่งเป็นนายกองค์การนักศึกษา)นักการเมืองลือนามคนนั้น                                                                              

โชติช่วง นาดอน (แปลจากบทพากย์หนังซีรีส์จีนเรื่องสามก๊กเวอร์ชั่นปี 1994) แปลไว้ว่า “คำโบราณว่า สถานการณ์ในแผ่นดินจีนนี้ เมื่อแตกแยกมานาน ก็จักรวมสมาน รวมสมานมานานก็จักแตกแยก”                                                                          

เปรียบเทียบกันเอาเองก็แล้วกันว่า อันไหนสื่อความและสื่อ “ความรู้สึก” ได้ดีกว่ากัน แต่ที่อยากกล่าวโดยสรุปก็คือ จากประโยคต้นเรื่องของวรรณกรรมจีนเรื่องสามก๊กสำนวนแปลต่างๆที่ยกมา บอกเราชัดว่า ในช่วงยามที่บ้านเมืองจีน(ซึ่งเป็นสังคมที่มีขนาดใหญ่มากของทวีปเอเซีย)ยุคสังคมเกษตรกรรมซึ่งใช้ระบบการปกครองที่เรียกกันในภายหลังว่า “ระบบศักดินานิยม” (Feudalism)นั้น มี “ความขัดแย้งและความเคลื่อนเปลี่ยน” ทางสังคมอยู่ตลอดเวลา                                          

ภายหลัง “นักปฏิวัติสังคม” ชาวลัทธิมาร์กซ์คนสำคัญที่สุดของจีน อย่างท่านประธานเหมา เจ๋อ ตุง ได้ชี้แสดงให้เห็นว่า สิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ทั่วไปทางประวัติศาสตร์สังคมของมนุษยชาติ 

ความขัดแย้งดังกล่าวนั้น เกิดจากการขยายตัวและการเคลื่อนเปลี่ยนของ “พลังทางการผลิต” หรือ “กำลังในการผลิต” (Production Capacity)ซึ่งเป็น “เงื่อนไขภายใน” ของสังคม ที่เรียกหารูปแบบ “ความสัมพันธ์ทางการผลิต” และรูปแบบ “ระบบการปกครอง” ชนิดใหม่ ที่รองรับและสอดคล้องเหมาะสมกับ “เงื่อนไขทางอัตวิสัย” ของมัน  จึงผลักดันให้สังคมจีนเกิด “การเปลี่ยนแปลงไปสู่คุณภาพใหม่” ตามเงื่อนเหตุที่ต้องเป็น                                              

ตรงตามหลักการของทฤษฎี “วัตถุนิยมวิภาษวิธี” (Dialectical Materialism) แห่งสำนักคิด “Theory of Conflict” ของชาวลัทธิมาร์กซ์แบบ “เป๊ะๆ” ทุกประการ!!