ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
อาจารย์ประจำคณะการทูตและการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิต
สัปดาห์นี้พิเศษหน่อยครับ เพราะผู้เขียนมีโอกาสได้เดินทางไปไต้หวันในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เลยได้มีโอกาส “มองโลก” แล้วมา “เหลียวไทย” ให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกันจากสิ่งที่ได้เห็นมา
“ไต้หวัน” เป็นสถานที่หนึ่งที่เชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยมีโอกาสได้มาเยือน ใช่ไหมครับ? ด้วยความที่อยู่ใกล้ ราคาย่อมเยา แถมอาหารการกินก็ถูกปากคนไทยเป็นอย่างมาก จึงไม่แปลกที่ไต้หวันจะกลายเป็นเป้าหมายสำหรับการมาพักผ่อน กินเที่ยว และช้อปปิงของคนไทย
สิ่งหนึ่งที่คนไทยจำนวนไม่น้อยมักพูดถึงไต้หวันกัน คือ “นี่มันญี่ปุ่นน้อยชัดๆ” จริงไหมครับ
ปัจจัยที่น่าสนใจและเป็นจุดร่วมกันระหว่าง ไต้หวัน และ ญี่ปุ่น ผมสรุปได้ว่าคือ “ดีไซน์” ครับ
หากสังเกตดีๆ จะพบว่า ทั้งสองประเทศนี้ (จริงๆทางการทูตเราไม่นับไต้หวันเป็นประเทศนะครับ แต่เพื่อความง่ายในการเข้าใจ ในที่นี้ขอใช้คำว่าประเทศครับ) มีการใส่ดีไซน์ลงไปในดีเทลของแทบทุกอย่างครับ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ต่างๆ ตึกรามบ้านช่อง ขนส่งสาธารณะ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆของชาติ จนกลายเป็นภาพจำของคนไทยและคนทั่วโลกที่มักจะเห็นความน่ารัก เก๋ เท่ สวย เป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นของคู่กับประเทศญี่ปุ่นอยู่เสมอ
เมื่อไต้หวันเองก็ทำเช่นกัน จึงไม่แปลกที่คนจะชอบมองว่า ไต้หวัน คือ ญี่ปุ่นน้อยๆ
ผมมีโอกาสได้ไปดูงานนิทรรศการงานหนึ่งครับ ซึ่งจัดขึ้นในพื้นที่ที่เรียกว่า creative park ซึ่งสิ่งที่ผมไปดูคือผลิตภัณฑ์จาก “ข้าว” ครับ ข้าวเมล็ดขาวๆเหมือนบ้านเรานี่แหละครับ แต่เขาขายว่าเป็นข้าวของไต้หวัน ที่เอาจริงๆผมว่าก็ไม่น่าจะมีใครรู้จักมากกว่าข้าวไทยเรา แต่เขาออกแบบทั้งเรื่องราว ออกแบบทั้งผลิตภัณฑ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง packaging ได้ชนิดที่เรียกว่า ต้องอุทานออกมาว่า ต้องเบอร์นี้เลยหรือ?
นอกจากนี้ยังเอาข้าวมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เพิ่มมูลค่าได้อย่างมหาศาล เช่น ข้าวเกรียบ ข้าวพอง ข้าวแต๋น มาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านอาจจะเถียงผมว่า “เมืองไทยก็มี” ใช่ไหมล่ะครับ ใช่ครับเมืองไทยก็มี และนักท่องเที่ยวที่เคยมาไทยก็จะคิดเช่นนี้ครับ
แต่สิ่งน่าสนใจจนต้องเหลียวกลับมามองไทย คือ สิ่งที่เขาเพิ่มมูลค่าลงไปในข้าวของเขา มันไม่ใช่แค่การแปรรูปเป็นข้าวเกรียบหรือข้าวแต๋นที่ใครๆก็ทำได้ครับ แต่มันคือ คือ “ดีไซน์” ที่เขาใส่ลงไปผ่านการออกแบบเรื่องราว ออกแบบ packaging ให้ดูแพง และน่าสนใจ น่าหยิบจับ ทั้งๆที่ข้างในนั้นคือข้าวพองที่แสนจะธรรมดา
นี่คือสิ่งที่ไทยยังสู้ไม่ได้ครับ...แต่ก็เช่นกันครับ นี่คือเทคนิคที่น่าสนใจและน่าลงมือทำอย่างยิ่ง
การใช้ดีไซน์เข้ามาช่วย เป็นสิ่งที่เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ได้อย่างมหาศาล ทั้งๆที่สินค้านั้นอาจจะไม่ได้ดีเด่น หรืออาจจะมีสิ่งที่ทดแทนได้ง่าย แต่ภาพลักษณ์คือสิ่งที่ทำให้คนหลงใหลและให้ความสนใจครับ เพราะมนุษย์ตัดสินใจด้วยอารมณ์ก่อนเหตุผลเสมอ
ใช่ครับ มนุษย์ตัดสินใจด้วยอารมณ์ก่อนเหตุผลเสมอ นี่คือกลไกการทำงานของสมอง เรามีสมองส่วนคิดและวิเคราะห์ที่ทำงานช้ากว่าสมองส่วนที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆทั้งดีและร้าย นี่จึงเป็นเหตุผลที่นักขายเก่งๆ มักใช้เทคนิคหว่านล้อมเรา โดยเฉพาะทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าไม่ซื้อเราจะเสียหายต่างๆนานา รวมถึงทำให้รู้สึกว่า เราจำเป็นต้องซื้อตอนนี้มิเช่นนั้นจะไม่มีโอกาสอีกแล้ว ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้ได้ผลมาโดยตลอด
ผมจ่ายเงินซื้อขนมที่ทำจากข้าว แกะห่อ และบรรจงรับประทาน ด้วยความเคารพต่อชาวไต้หวันนะครับ....ไม่ได้ต่างอะไรจากของไทยเลยครับ ไม่ได้อร่อยกว่า ไม่ได้เลิศเลอกว่า เหมือนกันเป๊ะ เพราะมันก็ทำจากข้าวเหมือนกัน
สิ่งที่ผมอยากจะสื่อกับทุกท่านคือ ภาพลักษณ์ภายนอก สำคัญไม่แพ้คุณภาพครับ แม้เราอาจจะมีของดีกว่า แต่ภาพลักษณ์ไม่น่าสนใจ คนเห็นแล้วมองข้าม เราก็อาจเสียโอกาสในการนำเสนอของดี มิหนำซ้ำ หลายต่อหลายครั้ง คนหันไปหาของที่ภาพลักษณ์ดีก่อน จนของที่ดีกว่าของเราพ่ายแพ้ไปซะอย่างนั้น
ประเทศไทย จำเป็นต้องนำเรื่องของการดีไซน์มาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่งครับ โดยเฉพาะโลกยุคปัจจุบันที่ผู้คนให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์เสียมาก จนบางครั้งอาจมากกว่าคุณภาพเสียด้วยซ้ำ
เราต้องรีบปรับตัว นำเทคนิคเหล่านี้มาใช้ทั้งกับผลิตภัณฑ์ เมือง หรือแม้แต่สาธารณูปโภคของชาติ จะเป็นสิ่งที่ส่งเสริมการพัฒนาของชาติได้อย่ามีนัยสำคัญครับ ซึ่งต้องช่วยกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน จึงจะสำเร็จได้ โดยเฉพาะฝั่งภาครัฐที่ต้องบอกว่า “งบประมาณต้องเข้าแล้วล่ะครับ” เพื่อให้ของดีของชาติโลดแล่นในสายตา ภาพจำ และตลาดโลก นั่นเอง
เป็นกำลังใจให้ทุกภาคส่วนนะครับ...เอวัง