ทวี สุรฤทธิกุล

อภินิหารคือการกระทำที่ “เหลือเชื่อ” เช่น หลายคนไม่เชื่อว่า “รัฐบาลอิ๊ง 1” จะอยู่ครบเทอม

ในตำรารัฐศาสตร์ไทยกล่าวถึงปัญหาที่สำคัญที่สุดของการเมืองไทยว่าคือ “ความไร้เสถียรภาพ” หมายถึง ความไม่มั่นคง ไม่ต่อเนื่อง มีวิกฤติวุ่นวาย ล้มลุกคลุกคลาน และ(ที่ผู้เขียนขอเพิ่มเติม) “ถูลู่ถูกัง” ที่หมายถึงความพยายามที่จะอยู่ให้รอดอย่างยากลำบาก เหมือนคนที่รู้ทั้งรู้ว่าไปอีกไม่ได้ แต่ก็พยายามเอาหัวชนฝา ลากพากันไปอย่างทุลักทุเล เพียงเพื่อจะไปต่อให้ได้ แม้ว่าจะสร้างความเสียหายมากมายอย่างไรก็ตาม

ในอดีตครั้งที่ยังปกครองโดยพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยา ปัญหาการสืบทอดราชบัลลังก์เป็นปัญหาที่โดดเด่นที่สุด มีทั้งการฆ่าฟันชิงราชบัลลังก์ การทำรัฐประหาร และการใช้เล่ห์เพทุบาย เพื่อขึ้นครองราชย์บัลลังก์ จนกระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ยังมีปัญหานี้มาจนถึงรัชกาลที่ 5 ที่ทรงเพิ่มบทบาทของพระบรมวงศานุวงศ์(ซึ่งมีจำนวนมากตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 4)ขึ้นมามีบทบาทในทางการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดินมากขึ้น ก็ช่วยให้สถาบันพระมหากษัตริย์แข็งแกร่งมากขึ้นด้วย ในขณะเดียวกันก็นำไปสู่ความขัดแย้งกับกลุ่มข้าราชการ “หัวใหม่” ที่ก่อให้เกิดการกบฏขึ้นครั้งหนึ่งตอนต้นรัชกาลที่ 6 ที่สุดก็คือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่ยังคงสืบทอด “ความกลัวในเรื่องความไร้เสถียรภาพ” อยู่ดังเดิม

การปกครองโดยคณะราษฎรเต็มไปด้วยความไร้เสถียรภาพมาตั้งแต่เริ่มต้น การที่ตั้งพระยามโนปกรณ์นิติธาดาให้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นแค่การอำพรางความขัดแย้งในคณะราษฎร เพราะต่อมาเมื่อให้พระยาพหลพลพยุหเสนาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปีต่อมาก็อยู่ได้ไม่นาน มีการยุบสภาและเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลายครั้ง จนกระทั่งในปี 2480 หลวงพิบูลสงคราม(ต่อมาคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม)ก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็หมดอำนาจไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความร้าวฉานในคณะรุนแรงขึ้น เมื่อคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนที่นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ฉวยโอกาสอ้างฝ่ายสัมพันธมิตรตั้งขอหาอาชญากรสงครามแก่จอมพล ป. แม้ว่าคดีจะจบลงด้วยการเอาผิดจอมพล ป.ไม่ได้ แต่ก็คงฝังใจแค้นให้แก่จอมพล ป.อยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อนายทหารในกลุ่มจอมพล ป.ยึดอำนาจได้ใน พ.ศ. 2490 ก็ตามล้างแค้นกลุ่มของนายปรีดี กระทั่งต้องหนีไปลี้ภัยที่ต่างประเทศกระทั่งเสียชีวิต กระนั้นรัฐบาลที่ปกครองโดยทหารก็ไปไม่รอด เพราะในต้นปี 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ทำรัฐประหารยึดอำนาจจอมพล ป. ซึ่งก็ต้องหลบหนีและไปตายยังต่างประเทศเช่นกัน

เล่าประวัติศาสตร์มาแบบนี้ก็เพื่อยืนยันในทฤษฎีที่ว่า ผู้ปกครองของไทยนั้นกลัว “ความไร้เสถียรภาพ” มากที่สุด เช่นเดียวกันปัญหาการไร้เสถียรภาพนี้ก็เกิดจากผู้นำหรือผู้ปกครองนั้นเอง กรณี 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, 23 กุมภาพันธ์ 2534 จนถึง 19 กันยายน 2549 และ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ว่าประชาชนออกมาเรียกร้องและนำไปสู่การรัฐประหารในทุกครั้งนั้น ผู้ที่ทำรัฐประหารสำเร็จก็ไม่ใช่ประชาชน แต่ว่าเป็น “ทหาร” ทั้งสิ้น (14 ตุลา 16 ก็ไม่ใช่นักศึกษาที่ชนะ เพราะพระเจ้าอยู่หัวทรงมายุติศึกเสียก่อน เช่นเดียวกันกับพฤษภาคม 2535) ด้วยสภาพเช่นนี้จึงเกิดคำว่า “วงจรอุบาทว์” ขึ้นในตำรารัฐศาสตร์ไทย ก็เพราะนักวิชาการมองว่า “ความไร้เสถียรภาพ” นี้คือ “สิ่งที่ชั่วร้ายที่สุด” ของการเมืองการปกครองไทย

ตัดฉากมาที่รัฐบาล “อิ๊ง 1” ด้วยการผสม “หลาย ๆ ยำ” (คือหลาย ๆ พรรค) เข้าด้วยกัน แต่เป็นพรรคที่ต่างอุดมการณ์ในตอนเริ่มต้น คือพรรคเพื่อไทยอ้างว่าพวกตนเป็นประชาธิปไตย ส่วนพรรคอื่น ๆ นั้นเป็นอนุรักษ์นิยม แต่ก็ต้องมาเป็นรัฐบาลร่วมกันแบบ “แม่น้ำแยกสาย” คือต่างก็ไหลลงมาคนละทิศคนละทาง เพียงแต่มีปลายทางเป็นปากอ่าว คือ “แอ่งอำนาจและผลประโยชน์” ร่วมกัน

รัฐบาลของประเทศไทยส่วนใหญ่ก็เป็นรัฐบาลแบบนี้ คือเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค แต่ของ “อิ๊ง 1” เป็นแบบ “หลายพรรคคนละขั้ว” ที่ส่วนมากในประวัติศาสตร์ก็มักจะไปรอด เช่น รัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ใน พ.ศ. 2519 ที่สื่อมวลชนเรียกว่า “รัฐบาลร้อยพ่อพันแม่” เนื่องจากต้องเอาพรรคเล็กพรรคน้อยมาผสมกันกว่า 10 พรรค หรือรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในปีต่อมา ก็ถูกเรียกว่า “รัฐบาลจับปูใส่กระด้ง” เพราะ ส.ส.ไม่ยอมอยู่ในระเบียบและชอบก่อความวุ่นวาย มองดูแล้วแม้ว่า ส.ส.ในพรรคร่วมรัฐบาลยุคนี้จะค่อนข้างจะเรียบร้อย ไม่ค่อยทำอะไรวุ่นวายเช่นในยุคก่อน แต่ด้วยความที่มาจากคนละแนวคิด ก็เหมือนมี “ระเบิด” ฝังอยู่ภายใน รอแต่วันจะแผลงฤทธิ์ออกมา เช่น เมื่อเปลี่ยนเจ้านาย หรือนายที่มีอิทธิพลอยู่หมดอำนาจ อย่างกรณีของพรรคเพื่อไทยก็เช่น “นายหน้าเหลี่ยม” มีอันเป็นไป (ตามธรรมชาติ กฎแห่งกรรม หรือกฎหมาย และอื่น ๆ)

“นายหน้าเหลี่ยม” ที่เชื่อว่าเป็นผู้ให้กำเนิดของนายกรัฐมนตรีคนนี้ คือผู้ที่กำหนดชะตากรรมของลูกสาวตัวเอง ท่ามกลางความไม่มั่นใจว่าลูกสาวตัวเองจะรอดพ้นข้อร้องเรียนต่าง ๆ และอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้หรือไม่ ก็เป็น “จุดอ่อน” ของคนในตระกูลนี้ เพราะมีข้อมูลว่านายหน้าเหลี่ยมคนนี้อารมณ์ค่อนข้าง “วูบวาบ” คือไม่ค่อยคงที่ ยิ่งอยู่ในท่ามกลางปัญหาต่าง ๆ ที่รายรอบ โดยเฉพาะปัญหาที่รายรอบครอบครัวและลูกสาวตัวเอง ก็ยิ่งทำให้นายหน้าเหลี่ยมชอบแสดงอาการคลุ้มคลั่งออกมาเป็นระยะ อาการนี้อาจจะสังเกตได้จากตัวลูกสาวในการแสดงตัวต่อสาธารณะเช่นกัน คืออาการ “ข่มอารมณ์” ที่อาจจะระเบิดออกมาเมื่อใดก็ได้ และเมื่อถึงเวลานั้นก็คือจุดจบสิ้นของนายกรัฐมนตรีคนนี้และรัฐบาลชุดนี้เช่นกัน

อีกจุดหนึ่งที่แสดงถึงวาระ “ใกล้สิ้นใจ” ของรัฐบาลชุดนี้ก็คือ นโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ “ไม่ได้ดังใจ” เริ่มจากการแจกเงินดิจิตอล 10,000 บาท ก็ต้องแปลงเป็นมาแจกเงินสดแก่กลุ่มเปราะบางเป็นประเดิม  แต่ก็มีข่าวว่าในล็อตต่อไปก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอีก จนถึงที่มีข่าวว่าอาจจะแจกได้ไม่หมด ซึ่งก็แน่นอนว่าจะสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนที่เหลือได้อย่างน่ากลัว อีกนโยบายหนึ่งก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ก็ดูเหมือนว่าส่งไปทำแท้งแล้วที่วุฒิสภา ไม่รวมถึง “หายนะ” จาก “ภัยพิบัติ” และ “โศกนาฏกรรม” ต่าง ๆ ที่ประเดประดังเข้ามา ประจานให้เห็น “อาเพศ” ที่มีคนเชื่อมโยงว่าเพราะบ้านเมืองเกิด “จัญไร” หรือ “กลีบุคคล” ขึ้นมามีอำนาจ

“อภินิหาร” ว่ากันว่าจะเกิดขึ้นก็แก่ “ผู้มีบุญ” เท่านั้น ส่วนคนที่มีบาปที่ทำสิ่งเหลือเชื่อได้ น่าจะเรียกว่า “วิตถาร” จะคู่ควรมากกว่า